ภาคใต้ยังต้องตื่นตัว รับความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม หลังมีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือน พ.ย. 67 ถึง ม.ค. 68 ฝนจะตกหนักและนานกว่าปีที่ผ่านมา
Policy Watch, The Active, Thai PBS และองคกรเครือข่าย จึงเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน อาสาสมัคร สื่อ นักวิชาการ หน่วยงานรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจความพร้อม สร้างความตื่นตัวและขยายความร่วมมือระหว่างกัน นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการจัดการภัยพิบัติได้อย่างเป็นระบบใน “Policy Forum ครั้งที่ 23 : เตรียมพร้อมภาคใต้รับมือภัยพิบัติ”
โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เช่น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, มูลนิธิชุมชนไท, เครือข่ายจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยทักษิณ, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และ เขต 12 สงขลา, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน), ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มจากการเปิดข้อมูลสถานการณ์ความเสี่ยง นำมาสู่การเช็กความพร้อม – รับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอจากชุมชนพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ แปลงเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการรับมือภัยพิบัติครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ และมี ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ดำเนินการสนทนา
อ่าน : ประเมินปีนี้ ‘ภัยพิบัติ’ ภาคใต้ ของจริง! เผชิญภาวะ ‘สังคมเสี่ยงภัย’ ตลอดฤดูฝน 3 เดือน
“ภาคใต้” เตรียมรับมือน้ำท่วม–น้ำป่าไหลหลาก–ดินถล่ม
“ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะลานีญา และเข้าสู่ลานีญาสูงสุดใน พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมภาคใต้ฝั่งตะวันออก แต่นี่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ชี้ว่าฝนจะตกหนัก ยังเจออีก 4 ปัจจัย จากปกติจะเจอแค่ 1-2 ปัจจัย นับจากนี้อีก 3 เดือน จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ”
วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ที่ต้องจับตา และเฝ้าระวัง คือ “4 พฤติกรรมของฝน” ที่ภาคใต้จะต้องเผชิญในช่วงฤดูฝนปีนี้ ทั้ง
- ร่องมรสุมแช่ตัวที่ภาคใต้ ทำให้มีโอกาสเกิดฝนตกหนักและนาน
- ปัจจัยทางทะเลจาก“ลมหนาวกำลังแรง” ลมตะวันออกเฉียงเหนือ จะพัดผ่านทะเลและหอบความชื้นเข้ามาด้วย เมื่อลมหนาวแรง ฝนที่ภาคใต้ก็จะยิ่งแรงและมาบ่อย เป็นสาเหตุของฝนตกหนักและต่อเนื่อง
- หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียว ทุกครั้งที่มีลมมรสุมเคลื่อนตัวเข้ามา จะมีกระแสลม พัดไปปะทะเกาะบอร์เนียว พัฒนาเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งอาจกลายเป็นพายุ
- การก่อตัวของพายุในทะเลแปซิฟิกที่เกิดขึ้นถี่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพายุ 2-3 ลูกเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยตอนบน เช่น พายุซูลิก และพายุจ่ามี จึงต้องเฝ้าระวังในช่วงหลังจากนี้ ถ้ามีการก่อตัวของพายุลูกใหม่ในช่วง พ.ย. 2567 – ม.ค. 2568
“ปัจจุบันภาวะโลกรวนส่งผลให้พฤติกรรมของฝนเปลี่ยน สิ่งที่เกิดขึ้นและจับสังเกตได้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คือค่าความตกหนักรายชั่วโมงที่แปรผันสูงขึ้นเรียกว่า ‘ฝนซู่’ ทำให้ดูปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเป็นรายชั่วโมง”
วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
เฝ้าระวัง “นครศรีธรรมราช–ชายแดนใต้” เสี่ยงสูงสุด
สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ต้องจับตาดู 2 ส่วนสำคัญคือ ปัจจัยภูมิอากาศและปัจจัยเรื่องปฐพีฐานราก เมื่อฝนตกหนักจะเสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม สำหรับพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดมีพื้นที่เสี่ยงอยู่ 30% โดยมีลักษณะเป็น
- พื้นที่ซ้ำ ที่เคยเกิดภัยพิบัติขึ้นมาแล้ว เช่น ภูเก็ต ยะลา
- พื้นที่ที่มีสภาพหินฐานรากเป็นตัวเร่งให้เกิดดินถล่ม โดยเฉพาะหินแกรนิต เวลาฝนตกจะอุ้มน้ำทำให้เกิดดินสไลด์ได้ง่าย
“สำหรับพื้นที่เสี่ยงแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงที่สุดคือภาคใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราช และสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเป็นพื้นที่ซ้ำ เคยเกิดภัยพิบัติมาแล้ว และมีสภาพหินรากฐานเป็นแกรนิตที่ผุพัง ถ้าโดนปริมาณน้ำฝนเกินกว่าปกติ ถล่มแน่นอน ฝนมาเมื่อไร คือพินาศ”
สุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยาธรณี
อย่างไรก็ตาม พื้นที่อื่น อย่างจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะแค่เจอหย่อมความกดอากาศต่ำสถานการณ์ก็อาจรุนแรงได้ รวมถึงภาคใต้ฝั่งตะวันตกบริเวณจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา ที่ปกติช่วงนี้จะไม่ค่อยมีฝนแล้ว แต่หากเจอมรสุมกำลังแรง ฝนก็อาจจะพัดผ่านจากภาคใต้ฝั่งตะวันออกข้ามไปยังฝั่งตะวันตกได้
ปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้ปลายปีนี้ภาคใต้มีโอกาสเผชิญสภาพอากาศสุดขั้ว และในอนาคตอาจเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นอีกได้แน่ ๆ สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมพร้อมขั้นสูง (Worst Case Scenario) เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด
“ภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง (Worst Case) เกิดขึ้นอีกได้แน่ ๆ ที่ฝนจะตกลงมาแบบที่เรากำหนดและคาดการณ์ไม่ได้ แต่ความสูญเสียจะน้อยที่สุด ถ้าเรามีการเตรียมความพร้อมที่ดี”
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส
3 คำถาม เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ
หลักการในการจัดการภัยพิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงตอน คือก่อนเกิดเหตุ การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟู แต่สำคัญสุด คือช่วง “การเผชิญเหตุ” ซึ่งจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม และตอบ 3 คำถามสำคัญให้ได้ก่อนภัยพิบัติมาถึงตัว คือ
- จะหนีเมื่อไหร่ ? – อะไรเป็นเงื่อนไขของการหนี ประเมินความเสี่ยงอย่างไร และใครต้องเป่านกหวีด ตัดสินใจว่าต้องหนีแล้ว
- จะหนีอย่างไร ? – จัดการ อพยพคนอย่างไร และจะมีแผนการย้ายผู้เปราะบางกลุ่มต่าง ๆ อย่างผู้ป่วย คนแก่ เด็กเล็ก ก่อนหลังอย่างไร
- จะหนีไปไหน ? – พื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนในชุมชนต้องรู้ว่าอยู่ที่ตรงไหน เป็นที่ที่ชุมชนและท้องถิ่นกำหนดร่วมกันและมีระบบจัดการรองรับ เพื่อประสานความช่วยเหลือ และดูแลผู้ประสบภัย
“การศึกษาการจัดการภัยพิบัติที่ใต้ ร่วม 20 ปี สิ่งสำคัญที่สุดคือคนที่ประสบภัยต้องมีโอกาสในการจัดการตัวเอง และตอบ 3 คำถามนี้ให้ได้”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินโคลนถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แต่ทำไมชุมชนถึงสำคัญ “รศ.สุทธิศักดิ์” อธิบายว่า ต่อให้เรามีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) และนักวิชาการที่เก่งมาก แต่ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น เฉพาะของปีนี้พบว่าคาดการณ์พายุฝนผิดไปประมาณครึ่งหนึ่ง ทั้งที่เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
“เวลาพูดถึงน้ำป่าดินถล่ม สุดท้ายภัยพิบัติเป็นเรื่องของ “การสุ่มเกิด” เป็นไปไม่ได้ที่ส่วนกลางจะเดาว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้นชุมชนอยู่ใกล้ชิดสถานการณ์มากที่สุด จึงต้องเฝ้าระวังและตัดสินใจอพยพได้ดีที่สุด”
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินโคลนถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ่าน :3 คำถาม สำคัญ ที่ต้องตอบให้ได้ ก่อนภัยพิบัติมา
หนีเมื่อไหร่ ? ประเมินสถานการณ์อย่างไร ใครเป่านกหวีด
ชุมชนจะต้องหาคำตอบร่วมกันว่า “จะตัดสินใจหนี” เมื่อไหร่ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ “ความรู้” ทั้งเรื่องระดับน้ำฝน หากมากเกิน 100 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ให้รีบอพยพ, พื้นที่เสี่ยง ให้สังเกตว่าอยู่ในจุดที่เคยเกิดภัยพิบัติหรือมีฐานรากเป็นหินแกรนิตหรือไม่ และสัญญาณบอกเหตุในพื้นที่ ถ้าเริ่มเห็นน้ำมีสีขุ่น มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขา ระดับน้ำลำธารที่ลดลงอย่างรวดเร็ว หรือการเกิดหลุมดินยุบตัว นั่นแปลว่าต้องย้ายออกไปที่ปลอดภัย
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดูได้ผ่าน “เครื่องมือประเมินสถานการณ์” จากอุปกรณ์ของชุมชนและหน่วยงานราชการ
- กระบอกวัดปริมาณน้ำฝนที่ระบุระดับการเฝ้าระวังและอพยพ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านสามารถจัดหาได้ง่ายและใช้ไม่ยาก
- แหล่งเช็กความเสี่ยงของพื้นที่
- เว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) (คลิก)
- หรือขอข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ของแต่ละจังหวัดโดยตรง
- แพลตฟอร์มดูสภาพภูมิอากาศ น้ำ และปริมาณฝน
รวมถึงจะต้องมี “ระบบการสื่อสารแจ้งเตือน” ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง กับสื่อที่เป็นศูนย์กลางการสื่อสาร และชุมชน เพื่อทำให้ข้อมูลเชิงลึกกลายเป็นข้อมูลเชิงรุกที่ส่งตรงลงไปถึงชุมชน ให้ตัดสินใจอพยพได้เร็วและมีประสิทธิภาพ
หนีอย่างไร ? ให้ เร็ว รอด ปลอดภัย
อีกส่วนสำคัญ คือ “แผนอพยพ” และซักซ้อมเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1-3 ครั้ง เพื่อทบทวนความจำและปฏิบัติให้คุ้นชิน โดยชุมชนต้องมี
- จุดรวมพล ที่นัดหมายที่ปลอดภัยที่ทุกคนในชุมชนรับรู้
- อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น เรือ รถ เสื้อชูชีพ เชือก และเลื่อยยนต์
- แผนที่ชุมชน ที่มีข้อมูล พื้นที่เสี่ยง, เส้นทางหนี ทั้งเส้นทางหลัก รอง และรองที่สอง และบ้านของกลุ่มเปราะบาง
- ทักษะการอพยพและการเอาตัวรอด
ที่สำคัญต้อง “แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในชุมชน” ให้ชัดเพื่อป้องกันความสับสนและการทำงานซ้ำซ้อน จนการเคลื่อนย้ายล่าช้า ชุมชนจึงต้องหาข้อตกลงร่วมกันว่า ใครจะทำอะไรบ้างเมื่อภัยพิบัติมา เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และการประสานงาน ทั้งที่เชื่อมต่อกันเองภายในชุมชน และประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้แผนนี้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนีไปไหน ? สถานที่ปลอดภัยที่สำรวจและเตรียมไว้
“เวลาเกิดภัยพิบัติหน่วยงานกลางส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึง เพราะต้องรอคำสั่ง ดังนั้นช่วงเผชิญเหตุมูลนิธิต่าง ๆ จะเข้าช่วยก่อนเท่าที่ทำได้ และเมื่อเบื้องบนสั่งการ ปภ.ถึงลงมา ซึ่งอาจใช้เวลา และนั่นคือข้อจำกัด”
ศุภมงคล รัตนจิตร ผู้จัดการแผนกปฏิบัติการภัยพิบัติ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
ชุมชนจึงต้องเตรียมพร้อมสถานที่ปลอดภัยสำหรับใช้เป็น “ศูนย์อพยพ” เพื่อเป็นศูนย์รวมที่พักพิงรอหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ จัดตั้งครัวกลาง และโรงพยาบาลสนาม
การจัดหาสถานที่ปลอดภัย ส่วนหนึ่งอาจใช้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงของกรมทรัพยากรธรณีได้ แต่ก็อาจมีสถานที่ปลอดภัยที่ทุกคนในชุมชนรับรู้ว่าอยู่ที่ตรงไหน แต่ส่วนกลางยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นชุมชนต้องกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยจะต้องมี จัดระบบการรองรับ ซึ่งควรวางแผนเรื่องการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพทุกมิติ และเชื่อมต่อ (Matching) ความช่วยเหลือระหว่างอาสาสมัครและผู้ประสบภัย เพื่อจะได้เห็นว่าจุดไหน หรือใครได้รับความช่วยเหลือแล้ว และยังมีจุดไหนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกบ้าง
ชุมชนขาดกลไกสนับสนุนให้เข้มแข็ง กระทบระบบจัดการภัยพิบัติ
“ที่บอกว่าให้ชุมชนจัดการ แต่ชุมชนมีศักยภาพขนาดไหน ใครคือชุมชน แล้วใครเป็นผู้ให้ศักยภาพ เรื่องนี้ต้องพลิกใหม่ ทุกอย่างจะให้ชุมชนจัดการไม่ได้ เราจะต้องหาคำตอบร่วมกันว่าใครคือผู้ทำให้ชุมชนเติบโตและเข้มแข็ง”
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
ไมตรี ชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่ที่เป็นกับดัก ทำให้การจัดการภัยพิบัติยังไม่เป็นระบบ คือ “การขาดผู้นำการจัดการภัยพิบัติ” เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้ใครหรือหน่วยงานใดทำหน้าที่นี้อย่างชัดเจน และแม้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จะระบุหน้าที่ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นรองผู้อำนวยการจังหวัด นายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้อำนวยการท้องถิ่นในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่แข็งแรง
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ เพื่อจะได้เขียนเอกสารของบประมาณ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรใหญ่ในการรับมือภัยพิบัติได้เอง เพราะ อบต. หรือ อบจ. ต้องเป็นคนประสานงานกับชุมชนในระดับแรก “ไมตรี” ย้ำว่าต้องให้องค์กรในท้องถิ่นสื่อสารกัน แล้วเขียนแผนอพยพส่งต่อมายังอำเภอ ประกอบมาเป็นแผนระดับจังหวัด และระดับชาติต่อไป
“ถ้าเราจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ข้อมูลยังให้ท้องถิ่นไม่ได้ เพราะติดระเบียบราชการที่มีอยู่ ดังนั้นจะต้องเปิดเพดานนโยบาย เพื่อให้ทุกชุมชนจัดระบบรับมือภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึง”
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
“ข้อจำกัดทางนโยบาย” ที่ “ไมตรี” พูดถึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงการแจ้งเตือนที่ลงไปไม่ถึงชุมชน แต่ยังรวมถึงเรื่อง “งบประมาณ” ที่ทุกวันนี้ได้รับการจัดสรรน้อยลงเรื่อย ๆ
แม้ที่ผ่านมากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดย เชาวลิต นิฒรรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า ได้นำงบประมาณซื้อเครื่องสูบน้ำมาลงที่ศูนย์เขตพัทลุงและสุราษฎร์ธานีที่น้ำท่วมประจำรวมแล้ว 6 เครื่อง และจัดอบรมให้กับชุมชนหลายรุ่น นับหมื่นคน แต่ตอนนี้เงินสนับสนุนน้อยลง พยายามจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในทุกหมู่บ้าน แต่ก็ยังไปไม่ถึง
ด้านผู้นำชุมชน อย่าง ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู จากเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ซักซ้อมแผนอพยพให้กับสมาชิกเครือข่าย 60 ชุมชนแล้ว แต่คนที่ได้รับความรู้ ฝึกทักษะการเอาตัวรอดเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับพื้นที่เสี่ยงทั่วทั้งภาคใต้
“มากกว่า 600 หมู่บ้านในภาคใต้ตกอยู่ในความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ แต่ปัญหาใหญ่คือชุมชนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ แม้มีการดำเนินงานของ ปภ.ที่ดี แต่ปีหนึ่งกรมอนุมัติมาแค่ 20 ชุมชน แล้วประเทศไทยมีอยู่ 20,000 ชุมชน ก็ประมาณสัก 1,000 ปี ถึงจะเสร็จ นโยบายรัฐจึงต้องให้ความสำคัญด้วย”
ผญ.โกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช
อ่าน : เช็ก 603 จุดเสี่ยง ‘ภัยพิบัติ’ ภาคใต้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย เตรียมพร้อมใต้เผชิญภาวะ “สังคมเสี่ยงภัย”
เมื่อชุมชนยังขาดโอกาสและศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง แล้วจะรับมือได้อย่างไรในวันที่บ้านเรากำลังเข้าสู่ภาวะ “สังคมเสี่ยงภัย” หรือต้องเจอภัยพิบัติเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกพื้นที่ คำถามคือจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
ซึ่ง รศ.ณัฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เสนอ 6 ประเด็นหลัก คือ
- ผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหา 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และ ประเทศ ต้องมีการขยับฐานเพดานนโยบาย เพื่อให้เกิดระบบการจัดการและรับมือภัยพิบัติ
- มีช่องทางส่งต่อข้อมูล จากหน่วยงานภายนอกถึงชุมชน โดยไม่ต้องร้องขอหรือทำหนังสือ
- สร้างองค์ความรู้และทักษะการรับมือภัยพิบัติ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับปัจเจกบุคคล ให้รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ และระดับกลุ่ม ให้ชุมชน หรือครอบครัวได้รับบทเรียน ประสบการณ์ จากชุมชนที่มีรูปแบบชัดเจน มีความเข้มแข็ง เรียกว่า ‘ปัญญารวมหมู่’
- มีหน่วยเคลื่อนเร็วหรือสายด่วน (Hotline) ระดมความช่วยเหลือ ผ่านเครือข่ายและอาสาสมัคร
- มีพื้นที่พูดคุยในระดับชุมชนหรือจังหวัด เพื่อทบทวนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
- มีระบบปฏิบัติการเพื่อรับมือภัยพิบัติ ที่ต้องคิด 3 เรื่องคือ
- ชุมชนจะใช้กลไกอะไรจัดการ เช่น กลไกท้องที่ หรือวิสาหกิจชุมชน
- เครื่องมือ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) อุปกรณ์พื้นฐาน มีอะไรจำเป็นบ้าง เช่น เสื้อชูชีพ รถ เรือ เชือก เลื่อยยนต์ และซอฟต์แวร์ (Software) ข้อมูลเพื่อการจัดการภัยพิบัติ เช่น ระดับน้ำฝน พื้นที่เสี่ยง ต้องมีใช้ในชุมชน โดยควรจะรวมไว้ในที่เดียวและผ่านการแปลงข้อมูลให้เข้าใจได้ง่าย เพื่อให้คนในชุมชนใช้ได้อย่างสะดวก
- ทรัพยากรอื่น ๆ เช่น อาหาร น้ำดื่ม จะเอามาจากที่ไหน และต้องใช้กลไกอะไรประสานความช่วยเหลือจากรัฐ
“ส่วนใครจะเป็นหัวหอกในการจัดการภัยพิบัติ ยอมรับว่ายังมองไม่ออก แต่มหาวิทยาลัยและองค์กรพันธมิตร เราสามารถสร้างพื้นที่พูดคุย เชื่อมโยงภาควิชาการ รัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เอกชน และสื่อได้”
รศ.ณัฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
ทั้งนี้ หนึ่งในเครื่องมือซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจคือ “C-site” แพลตฟอร์มรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ที่จะแสดงผลว่าน้ำท่วมอยู่จุดไหนและกระทบการเดินทางที่ไหนบ้าง โดยมีไฮไลท์ คือ “ฟังก์ชันจับคู่ความช่วยเหลือชุมชนกับอาสาสมัคร” ที่จะทำหน้าที่รับข้อมูลจากคนในพื้นที่ประสบภัย ว่าอยู่ตรงไหน ต้องการอะไร แล้วจับคู่อาสาสมัครใกล้ชุมชน เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ พร้อมรายงานผลเป็นระยะ ทำให้รู้ว่าจุดไหนใครได้รับความช่วยเหลือแล้ว จุดไหนเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินงาน และชุมชนไหนต้องการความช่วยเหลืออะไร
“ระบบนี้เคยนำไปใช้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ภาคเหนือมาแล้ว เป็นเครื่องมือพร้อมใช้ แต่ตอนนี้ยังขาดการประสานเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเราต้องมีข้อมูลก่อน ว่าจะมีอาสาสมัครทีมไหนพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือบ้าง และเขาจะประจำอยู่ที่จุดไหน เมื่อภัยพิบัติมาจะได้จับคู่ความช่วยเหลือได้ทันที”
มานิตย์ หวันชิตนาย Locals Project Leader สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส
แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์ภัยพิบัติคลี่คลาย กลไกเหล่านี้ก็จะหายไป กลายเป็นเรื่องวนลูปที่ได้รับแค่การแก้ไขเฉพาะหน้า ดังนั้นหากจะจัดการภัยพิบัติอย่างจริงจังต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นงาน “รูทีน” (Routine) โดย เพ็ญ สุขมาก สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องทำ คือ
- สังเคราะห์บทเรียนสู่กรอบการจัดการภัยพิบัติ การถอดบทเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องสังเคราะห์เชิงระบบ เพื่อทำให้นโยบายใช้ได้จริง
- การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม
- ทำให้มีความรอบรู้ แปลงความรู้สู่การปฏิบัติ ที่เข้าใจได้ง่าย ทำตามได้จริง
- ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อชุมชน มีฐานข้อมูลเดียวที่เชื่อมโยงทุกข้อมูลสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ ให้ชุมชนสะดวกต่อการติดตามข้อมูลข่าวสาร
“การจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ จะทำให้เกิดขึ้นได้ โดยใช้หลัก 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือการสร้างความรู้ นำความรู้ไปเคลื่อนไหวสังคม และเชื่อมโยงทุกส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ร่วมกันสื่อสารและขับเคลื่อนต่อไป”
เพ็ญ สุขมาก สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ทิศทางการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ชุมชนต้องเข้มแข็ง
การผลักดันเชิงนโยบายให้สำเร็จต้องใช้เวลา แต่อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญ คือการสร้างการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกัน ซึ่งสามารถทำได้ทันที
ประเด็นที่วงเสวนาเห็นตรงกันคือ “ต้องสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งในการจัดการภัยพิบัติครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” ซึ่งเริ่มได้ที่การวางแผนการขับเคลื่อนการจัดการภัยพิบัติให้ชัดเจน พร้อมนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายถึงคณะรัฐมนตรี ในช่วงครบรอบ 20 ปีสึนามิในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ
ขณะเดียวกันจะต้อง “ใช้กลไกสมัชชาสุขภาพ” ปรับปรุงข้อจำกัดทางกฎหมายและนโยบายไปพร้อมกัน เพราะลำพังการใช้กำลังของชุมชนในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและงบประมาณสนับสนุน ทั้งการพัฒนาความรู้และเติมอุปกรณ์ในการรับมือภัยพิบัติ ชุมถึงถึงจะจัดการภัยพิบัติได้เอง
“สช.เป็นหน่วยงานผลักดันนโยบาย เราจะช่วยทำเรื่องนี้ให้ชัดแล้วผลักดันเป็นนโยบายต่อไป พร้อมยกระดับความรู้ของประชาชน ผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็ง และสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม จากกลไกระดับเขตที่มีและเครือข่ายที่ทำร่วมกับ พอช.”
จารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่
วิรัช โอมณี เครือข่ายภัยพิบัติจังหวัดสตูล เห็นพ้องกันว่าท้องถิ่นควรรับผิดชอบเรื่องการจัดการภัยพิบัติในชุมชนโดยตรง โดยควรจัดตั้ง “ศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ในทุกท้องถิ่น ที่รวบรวมภาคีทั้งหมด รวมทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังเสนอให้มี “กองทุนระดับตำบล หรือระดับหมู่บ้าน” เอามาบริหารจัดการการรับมือภัยพิบัติกันเองในชุมชนได้ อย่างเช่น การตั้งครัวกลางช่วยผู้ประสบภัยได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถุงยังชีพ
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการภัยพิบัติแล้ว ณัชนนท์ สนประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 จังหวัดสงขลา ให้ความเห็นว่าการซักซ้อมแผนอพยพที่ทำอยู่แล้ว ยังต้องทำต่อ แม้งบประมาณจากส่วนกลางจะมาที่ ปภ.ลดลง ทำให้การอบรมทำได้น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ ใน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550 ให้อำนาจองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถขอเบิกงบประมาณสนับสนุนได้ ดังนั้นจะต้องร่วมกันหนุนสร้างกลไกองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน บอกว่า พร้อมสนับสนุน สังเคราะห์บทเรียนและประสบการณ์จากเครือข่ายที่เข้มแข็งมาจัดทำให้เป็นระบบและเป็นศูนย์ต้นแบบ ทั้งในการวางแผน ทำกองทุน และการสร้างทีมส่วนหน้า ซึ่งปัจจุบันทำไปแล้ว 12 แห่ง และจะขยายผลเรื่องการจัดการภัยพิบัติจากภาคใต้ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคอื่น ๆ ต่อไป
ด้านสื่อมวลชนอย่าง บัญชร วิเชียรศรี จากสถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และ สนธยา แก้วขำ จากศูนย์ข่าวภาคใต้ ไทยพีบีเอส ได้สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของสื่อต่อจากนี้ว่าควรกระตุ้นเตือนให้สังคมรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงแค่ไหนและควรจะทำอย่างไร ซึ่งสื่อมีความหมายมาก ดังนั้นจะต้องเตรียมตัวรายงานความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ทุกช่วงเวลา
“สื่อต้องพร้อม มีทีมรับมือภัยพิบัติ เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ได้ทุกช่วงเวลา ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เผชิญเหตุ และฟื้นฟู”
สนธยา แก้วขำ ผู้สื่อข่าว จากศูนย์ข่าวภาคใต้ ไทยพีบีเอส
ในฐานะตัวแทนของภาควิชาการ “รศ.ณัฐพงศ์” และ “เพ็ญ” ทิ้งท้ายว่า หากชุมชนหรือหน่วยงานใดอยากเปิดพื้นที่ระดมความคิด หรืออยากผลักดันข้อเสนอของตัวเอง มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และองค์กรพันธมิตร พร้อมที่จะรับบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วม และให้คำปรึกษาเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอของชุมชนให้ไปถึงนโยบาย
นอกจากนี้ สมคิด ทองสง สภาน้ำพัทลุง เสนอว่า ความรู้และทักษะการเอาตัวรอดทั้งหมด จะนำมาเป็นบทเรียน “วิชาตั้งถิ่นฐานและการดูแลชุมชน” ที่เปิดสอนทั้งนักเรียนและชาวบ้านทั่วไปได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องรอรัฐบาลเข้ามาอบรม
ปรากฏการณ์ในช่วงปีนี้ ส่งผลให้เห็นชัดว่าภัยพิบัติยุคโลกรวน มีความแปรปรวน ผันผวน และรุนแรงมากขึ้น การสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการรับมือ รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย ให้เข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือน รวมถึงการเติมความรู้ทักษะการเอาตัวรอด เครื่องมืออุปกรณ์พื้นฐาน และเงินสนับสนุน มีความสำคัญจำเป็นและต้องเร่งทำ เพื่อให้ชุมชนซึ่งอยู่ใกล้ชิดสานการณ์มากที่สุดได้มีโอกาสและศักยภาพในการจัดการตัวเองในการป้องกัน รับมือ และบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติได้อย่างเป็นระบบ