กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมออกมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในช่วงเดือนพ.ย.-ม.ค. โดยกำหนดเขตห้ามรถบรรทุกเข้ากรณีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน แต่ยังเป็นเรื่องท้าทายในเรื่องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำและรุนแรงขึ้นทุกปีว่ามาตรการจะแก้ได้แค่ไหน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหา PM2.5 ในกทม. มาจากหลายแห่ง
อ่านเพิ่มเติม:
ต้นตอฝุ่นพิษในกรุงที่ถูกลืม : โรงกลั่น-โรงไฟฟ้าก๊าซ-โรงงาน
ภาคอุตสาหกรรม อีกต้นต่อสำคัญสร้างฝุ่น PM2.5
ตามประกาศแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นฤดูฝุ่น ซึ่งในพื้นที่กทม.มักจะประสบปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค.ของทุกปี โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสังกัดและหน่วยงานภายนอก
ในปีนี้ กทม.กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้แก่ มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) และแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้
ประกาศนี้จะบังคับใช้เมื่อมีการพยากรณ์คาดการณ์ว่า จะเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มากกว่า 35 ไม่โครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม) นานติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งเกินค่ามาตรฐานในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ไม่น้อยกว่า 5 เขต หรือในระดับสีส้มไม่น้อยกว่า 15 เขตของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะทำการประกาศเขตมลพิษต่ำล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ห้ามรถบรรทุกเฉพาะดีเซล ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในจำนวน 22 เขต เป็นเวลานาน 3 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศออกไป เช่น ออกประกาศในวันจันทร์ เวลา 06.00 น. รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ตั้งแต่วันอังคาร เวลา 06.00 น. จนถึงวันพฤหัสบดี เวลา 06.00 น.
มาตรการดังกล่าวจะยกเว้นให้กับรถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน หรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หรือใช้เครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6
สำหรับพื้นที่บังคับใช้ใน กทม. มีจำนวน 22 เขต ประกอบด้วย 1.เขตดุสิต 2.เขตพญาไท 3.เขตพระนคร 4.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 5.เขตสัมพันธวงศ์ 6.เขตคลองสาน 7.เขตสาทร 8.เขตปทุมวัน 9.เขตบางรัก และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ได้แก่ 10.เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง) 11.เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล) 12.เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ) 13.เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก) 14.เขตราชเทวี (มักกะสัน) 15.เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) 16.เขตคลองเตย (คลองเตย) 17.เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง) 18.เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่) 19.เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู) 20.เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ) 21.เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) 22.เขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ / บางยี่ขัน) เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้รถบรรทุกดีเซล 6 ล้อขึ้นไป หากจะเข้าพื้นที่เขตมลพิษต่ำในช่วงประกาศดังกล่าว จะต้องลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไข คือ รถบรรทุกจะต้องเข้ากระบวนการบำรุงรักษารถ ได้แก่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ และการติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล
ขั้นตอนการลงทะเบียนบัญชีสีเขียว สำหรับรถบรรทุก
1.กรอกแบบฟอร์มบัญชีสีเขียว โดยให้ความยินยอมใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
2.กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ทะเบียนรภ จังหวัดของทะเบียนรถ ประเภทรถบรรทุก ประเภทเจ้าของ และระบุชื่อบริษัทหรือบุคคลที่เป็นเจ้าของ
3.กรอกข้อมูลการเข้าบำรุงรักษารถบรรทุก ได้แก่ ชื่อของศูนย์บริการ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อศูนย์บริการ ที่อยู่ของศูนย์บริการ กระบวนการบำรุงรักษารถที่เข้ารับบริการ วันที่เข้ารับบริการ และรูปภาพหลักฐานใบเสร็จการเข้ารับบริการ
อย่างไรก็ตาม จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีสีเขียวกับข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน โดยหากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว เข้าพื้นที่ในการช่วงที่มีการประกาศพื้นที่เขตมลพิษต่ำในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับรถบรรทุกส่วนใหญ่ให้ปรับปรุงตนเอง เพื่อลดมลพิษให้กับกรุงเทพมหานครทั้งในเวลาปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นหนาแน่น และ กทม.มั่นใจในเทคโนโลยีว่าจะช่วยตรวจจับผู้ฝ่าฝืนนำมาดำเนินคดีได้ ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะเป็นมาตรการเชิงบวกเพื่อให้คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครดีขึ้น
นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการรถคันนี้ลดฝุ่น ปี 2568 ซึ่งต่อยอดดำเนินโครงการเป็นปีที่ 2 ในช่วงเดือน พ.ย.67-ม.ค.68 โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารถเข้าร่วมโครงการไว้ 500,000 คัน ทั้งนี้ เมื่อปี 2567 มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการโดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง จำนวน 265,130 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคการจราจร 13.26%
มาตรการ Work From Home เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน โดยขอความร่วมมือภาคีเครือข่าย WFH ให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานในที่พัก เพื่อลดปริมาณการจราจรและผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อปีที่แล้วมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ลงทะเบียนร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home กับกรุงเทพมหานครกว่า 151 หน่วยงาน บุคลากรรวมมากกว่า 60,000 คน สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2203 2951
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืม และการยกเว้นค้ำประกัน รวมถึงโครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
ส่วนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จะมีการจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และป้องกันสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากร รวมถึการเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง