ล่าสุด เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่ บันทึกการประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ในระเบียบวาระที่ 3 มีรายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณากรอบแนวคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารจัดการ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอความคืบหน้า ของคณะอนุกรรมาธิการฯ จากการประชุมร่วมกันทั้งหมด 27 ครั้ง นำเสนอกรอบแนวคิด หลักการสำคัญและโครงสร้างของกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการพิจารณาปรับปรุงเนื้อหา จาก 7 ฉบับ โดยสรุปเป็นประเด็นดัง ต่อไปนี้
บทเรียน-แนวคิด สำคัญ สู่การออกแบบโครงสร้างการบริหาร
บทเรียนและแนวคิดการจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. จะครอบคลุมมลพิษทางอากาศทุกประเภท ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ PM2.5 แต่ PM2.5 เป็นเพียง Key Drivers ของการทำให้เกิด พ.ร.บ.ฉบับนี้
- การไล่ตรวจจับ Hot Spot ในช่วงฤดูฝุ่น 3 เดือน ไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
- การแก้ปัญหาในช่วง 8 เดือนก่อนเผชิญสถานการณ์ฝุ่น ในช่วง 8 เดือน โดยใช้สูตร 8+3+1 คือ 8 เดือนของการทำงานต่อเนื่อง เพื่อลดการเผชิญเหตุในช่วง 3 เดือน ซึ่งหากสามารถจัดการในช่วง 8 เดือนได้ดี จะช่วยแก้ปัญหา ลดความรุนแรง ลดความเสียหาย รวมทั้งลดต้นทุนที่ต้องเสียทุกปี และ 1 เดือนในการฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลในบางปีที่พบว่าใช้งบประมาณในส่วนนี้สูง 5-9 % ของ GDP
- การแก้ปัญหาฝุ่น มีความซับซ้อน บางเรื่องเกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องใช้ชุดเครื่องมือในการแก้ปัญหา อย่างน้อย 10 เครื่องมือ เพราะเครื่องมือทางกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหา PM2.5 ได้
- ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีขนาดและขอบเขตของปัญหาเกินกำลังของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแหล่งกำเนิดมาจากหลากหลายที่มา ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้แบ่งแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศออกเป็น 6 Sector (ภาค) ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.นี้ ต้องออกแบบให้เกิดการทำงานร่วมกันหลายกระทรวง รวมทั้งนอกราชอาณาจักร
- การกระจายอำนาจ คือ ปัจจัยความสำเร็จของเรื่องนี้ เพื่อสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ตั้งเป้า แก้ปัญหา “ระบบ-โครงสร้าง”
คณะอนุกรรมาธิการฯ ชี้ว่า สาเหตุรากฐานของปัญหาฝุ่น PM2.5 คือ ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง โดยหากเปรียบเทียบปัญหาฝุ่นกับภูเขาน้ำแข็ง ฝุ่น คือ ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ซึ่งการจัดการอย่างการฉีดน้ำดับฝุ่นเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นรากฐานมีอยู่ 3 เรื่องสำคัญ ที่ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ คือ
- ระบบการทำงาน การบริหารภาครัฐ กล่าวคือ ระบบแผน ระบบงบประมาณ กลไกการทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวง ปัญหาข้อจำกัดด้านระเบียบกฎหมายของรัฐ โครงสร้างรัฐที่มีการรวมศูนย์ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ สะท้อนผ่านการประชุมของ กมธ. หลายครั้ง ที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม และสะท้อนปัญหา เช่น มีแผนระดับชาติ แผนบูรณาการ แต่ระบบงบประมาณไม่มีการบูรณาการ เป็นงบ Function (งบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน)
- ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ทรัพยากรในป่า ความมั่นคงด้านสิทธิในที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่สูง หรือพื้นที่ชุมชนที่อยู่มาก่อน ซึ่งมีการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ข้าวโพด ดังนั้น พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ จึงต้องแก้ไขเรื่องสิทธิความมั่นคงในที่ดิน เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตให้ปลูกพืชยืนต้นและปลูกพืชที่ไม่เผา
- ขาดกติกาที่เข้มแข็งในการกำกับระบบตลาดเสรี โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ทำให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตรขึ้นไปบนพื้นที่เขาและป่าต้นน้ำ พื้นที่สูงในพื้นที่ป่าประเทศเพื่อนบ้าน
รวม 7 ร่าง เสมือนออกแบบบ้านหลังใหม่เป็น ‘ร่างฉบับที่ 8’
อนุกรรมาธิการได้นำร่าง พ.ร.บ. 7 ฉบับ มารวมไว้ด้วยกัน เป็นฉบับที่ 8 ซึ่งเปรียบว่าเป็นการออกแบบบ้านหลังใหม่ ที่ประกอบด้วย หลังคาบ้าน เสาบ้าน ห้องของบ้าน กล่าวคือ
- หลังคาบ้าน เป็น เป้าหมาย คือ Clean Air Based ไม่ใช่ Pollution Based เพราะหากอยู่บนฐานดังกล่าว การจัดการมลพิษ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หาก Clean Air Based จะมีขั้นตอนที่ดำเนินงานมากกว่าการจัดการ เฉพาะปลายเหตุ (PM2.5 และมลพิษอื่น ๆ)
- เสาบ้าน 4 เสา ประกอบด้วย การกระจายอำนาจ สิทธิและหน้าที่ของรัฐ แรงจูงใจและบทลงโทษ และการจัดการร่วม (Co-management)
- ห้องของบ้าน 4 ห้อง โดยมีแกนกลาง คือ คณะกรรมการและองค์กรขับเคลื่อนการใช้กฎหมาย โดยระบบคณะกรรมการต้องไม่ล้มเหลวเหมือนคณะกรรมการชุดอื่นที่ผ่านมา และปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ (กรมควบคุมมลพิษ) เพื่อรองรับการทำงานในร่าง พ.ร.บ. โดยภายในห้องของบ้านดังกล่าว มีองค์ประกอบ คือ 1. เครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการ 2. การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดตามเป้าหมาย Clean Air Based ทั้ง 6 Sector 3. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และ 4. เครื่องมือทางกฎหมาย
สรุป 6 แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ-เครื่องมือจัดการที่ควรอยู่ใน พ.ร.บ.
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้แบ่ง การศึกษาแหล่งกำเนิดของฝุ่น โดยแบ่งออกเป็น 6 Sector คือ ภาคเกษตรกรรม ภาคป่าไม้ ภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม ภาคฝุ่นควันข้ามแดน และภาคเมือง (โดยในภาคเมืองนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับ ไม่ได้ระบุถึง แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ เล็งเห็นว่า ควรเพิ่มเติมภาคเมือง เพื่อวางระบบบริหารจัดการ)
พร้อมนำเสนอ ข้อมูลในช่วงฤดูฝุ่น ปี 2567 ณ วันที่ 27 พ.ค. โดยมีการเผาในที่โล่งของไทย เป็นพื้นที่หลัก ๆ อยู่ในภาคป่าไม้ (ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์) 64% ซึ่งไม่ต่างจากปี 2566 และจากรายงาน 10 ปีย้อนหลัง ภาคเหนือมีการเผาในป่าไม้ 79% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเผาในป่าไม้ 36% และเผาในภาคเกษตร (นาข้าว) 40% แต่ในภาพรวมของภาคเกษตรกรรมมีการเผาในที่โล่ง (Hot Spot) 26.8% แบ่งเป็นข้าว 13% ข้าวโพด 13% และภาคเกษตรอื่น ๆ 8.8% (อ้อย 2%)
ขณะที่ข้อมูลฝุ่นควันข้ามแดน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 พ.ค. 67 ไทยตรวจพบ Hot Spot 1.32 แสนจุด กัมพูชา 1.49 แสนจุด สปป.ลาว 1.73 แสนจุด และเมียนมา 3.32 แสนจุด
โดยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดทั้ง 6 Sector จะถูกบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. ซึ่งเนื้อหากฎหมายจะกำหนดให้ลักษณะการลดและป้องกันโดยมีเครื่องมือ 4 เครื่องมือ (ห้องของบ้าน 4 ห้อง) โดยแต่ละ Sector อาจใช้เครื่องมือแตกต่างกัน หรือ บางเครื่องมือสามารถใช้ได้ในทุก Sector โดยมีรายละเอียดของแต่ละเครื่องมือ ดังนี้
- เครื่องมือบริหาร โดยคณะกรรมการส่วนกลาง พื้นที่ และองค์กรด้านอากาศสะอาด
- เครื่องมือและกลไกบริหารจัดการอากาศสะอาด เช่น มาตรฐานอากาศสะอาด ดัชนีอากาศสะอาด เขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ เขตประสบมลพิษทางอากาศ และแผนปฏิบัติการทั้งระดับพื้นที่และแผนปฏิบัติการหลักในแต่ละ Sector ที่คณะกรรมการในแต่ละ Sector เป็นผู้กำหนด เป็นต้น
- เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษี ค่าทำเนียม เงินอุดหนุนกองทุน เป็นต้น
- เครื่องมือทางกฎหมาย ซึ่งเป็นบทลงโทษทางแพ่ง อาญา และการปรับเป็นพินัย
10 เครื่องมือ-กลไก บริหารจัดการอากาศสะอาด
สำหรับเครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ประกอบด้วย 10 เครื่องมือ ดังนี้
- มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัย (Primary Standards)
- มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของสาธารณะ (Secondary Standard)
- ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI)
- ดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัย (AQHI)
- ระบบเฝ้าระวังคาดการณ์ แจ้งเตือนคุณภาพอากาศสะอาด
- ระบบ Big Data
- เขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ (หมวด 5 ในร่าง พ.ร.บ.)
- เขตประสบมลพิษทางอากาศ ที่กำหนดอยู่ในหมวด 5 จะนำมากำหนดอยู่ในหมวด 3 เครื่องมือและกลไกบริหารจัดการอากาศสะอาด
- แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศในพื้นที่ โดยให้ในแต่ละจังหวัดจัดทำแผนครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้ง 6 Sectors หรือ เฉพาะ Sector ที่จังหวัดนั้น ๆ มีปัญหา ซึ่งแผนปฏิบัติการของแต่ละจังหวัดจะมีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่
- แผนบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดในแต่ละ Sector มีกฎหมาย องค์กร และคณะกรรมการตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม จึงกำหนดแผนบริหารจัดการในแต่ละ Sector ยึดโยงและบูรณาการแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด
โดยเครื่องมือบริหารจัดการสำหรับ 6 Sector 10 เครื่องมือ อนุกรรมาธิการฯ จะออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้ในแต่ละ Sector ซึ่งจะปรากฏเนื้อหาในหมวด 4
กรอบแนวคิด สู่ โครงร่างกฎหมาย
จากกรอบแนวคิดข้างต้น นำมาสู่โครงร่างของกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย
- บทนิยาม
- หมวด 2 กรรมการและกลไกขับเคลื่อน เพื่อการจัดการอากาศสะอาด ซึ่งกำหนดโครงสร้างบริหาร โดยคณะกรรมกรส่วนกลาง คณะกรรมการระดับพื้นที่ และองค์กรด้านอากาศสะอาด โดยมีองค์กรใหม่ เพื่อรองรับภารกิจที่จะเกิดขึ้นตามร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะโครงสร้างเดิมของกรมควบคุมมลพิษ รวมถึงจำนวนบุคลากร ไม่สามารถรองรับภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้
- หมวด 3 เครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด มีทั้งหมด 10 เครื่องมือ รวมทั้งนำหมวด 7 และหมวด 5 เดิม มากำหนดไว้ในหมวด 3
- หมวด 4 การลด ป้องกัน และบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 6 ภาค/สาขา ซึ่งต้องพิจารณาหมวดอีกครั้ง โดยแต่ละภาค จะกำหนดรายละเอียดและรูปแบบคล้ายกันในเรื่องเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหา เครื่องมือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงกำหนดรายละเอียดและรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละภาค ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะอนุกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณา อยู่ระหว่างการพิจารณายังคงเนื้อหาของเค้าโครงเดิมบางส่วนของร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพิ่มเติมจากเนื้อหาร่างเดิม เพื่อครอบคลุมระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
- หมวด 6 เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด
- หมวด 7 เจ้าพนักงานอากาศสะอาด หมวด 8 ความรับผิดทางแพ่ง หมวด 9 โทษทางอาญา และหมวด 10 มาตรการปรับเป็นพินัย ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาอีก 1 คณะ เพื่อพิจารณาเนื้อหาส่วนนี้ให้สอดคล้องกับกลไกและมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายในหมวดอื่น ๆ ตามที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบคิดหลักการสำคัญฯ ปรับปรุงแก้ไข
“บ้านม้งดอยปุย” จ.เชียงใหม่ ตัวอย่างแก้ฝุ่นภาคเกษตร ดัน กองทุนหนุนการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างการแก้ปัญหาของพื้นที่ในภาคเกษตรกรรม (หมวด 4) ซึ่งเนื้อหาของร่างประกอบด้วย
- แนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาการเผาในภาคเกษตร โดย
- ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นเกษตรไม่เผา จากเดิมปลูกข้าวโพดที่เหลือเศษวัสดุที่สุ่มเสี่ยงต่อการเผาหากขาดการบริหารจัดการที่ดี เปลี่ยนมาเป็นปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น กาแฟ เป็นต้น เนื่องจากพืชเหล่านี้ ไม่มีการเผา เช่น เครือข่ายม้งดอยปุย รวมตัวกันทำแนวกันไฟ 22 กิโลเมตร เปลี่ยนมาปลูกลิ้นจี่ สาลี่ โดยปราศจากไฟที่ลามเข้าพื้นที่
- หากยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นการผลิตเกษตรที่ไม่เผาไหม้ได้ จะต้องเปลี่ยนการจัดการวัสดุทางการเกษตรเป็นแบบไม่เผา ทำได้ทั้งในแปลง โดยใช้จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลาย ทำปุ๋ยหมัก และในส่วนนอกแปลง สามารถทำได้โดยนำไปทำเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก เป็นต้น
- กรณีไม่สามารถทำได้ ก็จะต้องใช้ไฟเท่าที่จำเป็นและมีกติกา (Fire D/Burn Check) รวมถึงมีเป้าหมายว่าต่อไปต้องลดการใช้ไฟที่จำเป็นลง
- ระบบหรือกลไกในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการเผาในภาคเกษตร คือ ในแปลง ระบบสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ระบบหรือกลไกการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง จะอยู่ในหมวดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในหมวด 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น กองทุนใหม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ระบบน้ำ เงินทุน เครื่องจักร เครื่องเก็บเกี่ยว
กำหนดยุทธศาสตร์แก้ฝุ่นภาคเกษตร ด้วย สูตร 8+3+1 จัดโซนนิ่งเกษตรไม่เผา
แนวคิด สูตร 8+3+1 จากตัวอย่างข้างต้น การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นเกษตรไม่เผา การจัดการวัสดุจะอยู่ในช่วงป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง 8 เดือน ซึ่งฝุ่นแต่ละภาคจะมีการกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยภาคเกษตร มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ การจัดโซนนิ่ง การทำระบบเกษตรแบบไม่เผา การทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ การกำหนดมาตรฐานสินค้า PM2.5 Free ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดปัญหาในช่วงเผชิญเหตุฤดูฝุ่น 3 เดือน และช่วงฟื้นฟูเยียวยา 1 เดือน หลังฤดูฝุ่นผ่านพ้นไป
อย่างไรก็ตาม ทุก Sector จะมีเนื้อหาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่หากเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ได้กับทุก Sector จะปรากฏอยู่ในหมวดที่ 6 เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ส่วนรายละเอียดที่เป็นวิธีปฏิบัติจะอยู่ในกฎหมายลำดับรอง
ดึงคอนเซ็ปต์ “ผู้ว่าฯ CEO” ยกระดับโครงสร้างบริหารระดับพื้นที่
โครงสร้างการบริหารในระดับพื้นที่ นับเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่หน้างาน ซึ่งรัฐบาล มีคอนเซ็ปต์เรื่อง “ผู้ว่าฯ CEO” โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ กำลังออกแบบผู้ว่าฯ CEO ว่าจะสามารถแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างไรบ้าง อีกทั้งในแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์ปฏิบัติการด้าน PM2.5 / มลพิษทางอากาศ ซึ่งพบว่าหลายจังหวัดมีศูนย์นี้ และสามารถบริหารจัดการได้ดี ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ จะเสริมความเข้มแข็งและออกแบบให้ศูนย์ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีกลไกระดับอำเภอ ตำบล พื้นที่เฉพาะ หมายถึง ระดับต่ำกว่าจังหวัดและเป็นการข้ามเขตปกครอง
ส่วนพื้นที่ที่มีโครงสร้างการบริหารระดับพื้นที่อยู่แล้ว เช่น สภาลมหายใจ เครือข่ายอากาศสะอาด องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรชุมชน เครือข่ายภาคธุรกิจ คณะอนุกรรมาธิการฯ จะนำเครือข่ายองค์กรเหล่านี้มาช่วยออกแบบในระดับพื้นที่ โดยชุดเครื่องมือ เพื่อการบริหารระดับพื้นที่ จะปรากฏใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในหมวดต่าง ๆ เช่น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ Big Data ระบบเฝ้าระวัง
ขณะที่การกระจายอำนาจ ในการออกแบบโครงสร้างการบริหารระดับพื้นที่ ประกอบด้วย
- โครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการในแต่ละจังหวัด กำหนดตามความต้องการเหมาะสมของพื้นที่ โดย ร่าง พ.ร.บ. กำหนดองค์ประกอบสำคัญเป็นหลักไว้ แต่รายละเอียดที่คณะกรรมการจังหวัดจะแต่งตั้งเพิ่มเติมว่ามีองค์ประกอบอะไรอีกบ้าง ให้เป็นอำนาจคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งบางจังหวัดอาจมีเครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายม้ง ก็สามารถแต่งตั้งเพิ่มให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้
- กรรมการระดับจังหวัด เป็นผู้จัดทำ “แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” ในเขตที่รับผิดชอบ โดยมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชนในพื้นที่ (Bottom-up)
- มีมาตรฐานส่วนกลาง ควบคุมการระบาย โดยแต่ละจังหวัดสามารถกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายหรือปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในเขตพื้นที่รับผิดชอบได้เอง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบท และความต้องการในแต่ละจังหวัด
- กรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้ประกาศ “เขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศและเขตประสบมลพิษทางอากาศ”
อ่านรายละเอียดบึนทึกการประชุมกมธ.อากาศสะอาดฯ ครั้งที่ 19