Policy Watch สรุปบทความจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตอนที่ 1 จากทั้งหมด 5 ตอน เรื่อง PM 2.5 กับอุตสาหกรรม ตอนที่ 1: ในม่านมัวของปัญหาฝุ่น PM2.5 มี “อุตสาหกรรม” ซ่อนเร้นอยู่ เขียนโดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ ที่สะท้อนให้เห็นการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ รวมถึงมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ ที่เป็นต้นตอนสำคัญของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เพื่อสะท้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญในการจัดการที่ต้นเหตุนี้ด้วย
“อุตสาหกรรม” ต้นเหตุก่อฝุ่น ที่ยังไม่ถูกแก้
ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ในกรุงเทพมหานครมาตลอดหลายปี หรืออาจกล่าวได้ว่า ฤดูฝุ่นเป็นอีกหนึ่งฤดูของประเทศไปแล้ว โดยเมื่อปี 2561 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำ โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระบุว่า ในช่วงหลายปีหลังระดับฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค. โดยผลการตรวจวัดของสถานีตรวจวัด 7 สถานีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบค่าเฉลี่ยรายปีเกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐานคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ใน 2 สถานี และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินค่ามาตรฐาน (มาตรฐานคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 40-50 วันต่อปี โดยกรมความคุมมลพิษ แสดงความกังวลว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่า ในประเด็นเรื่องแหล่งกำเนิดจากรายงานฉบับข้างต้น มีแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 3 ประเภท คือ 1.ไอเสียรถยนต์ดีเซล 2. การเผาชีวมวล และ 3. ฝุ่นทุติยภูมิอันเกิดจากปฏิกิริยารวมตัวกันของไอเสียรถยนต์และแอมโมเนียจากปุ๋ยที่ใช้ในเกษตรกรรม อีกทั้งรายงานการศึกษา ยังถูกใช้อ้างอิงแพร่หลาย จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าแหล่งกำเนิดที่เป็นปัญหาหลักคือ 3 แหล่งนี้ และท่ามกลางสถานการณ์ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย ข้อมูลและการรับรู้จากภาครัฐเท่าที่มีอยู่ อาจไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อหาข้อเท็จจริงของการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากภาคอุตสาหกรรม และยังไม่ได้พุ่งเป้าหมายการแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากแหล่งกำเนิดประเภทนี้ จึงได้รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศกับอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรม “เป็นตัวการหนึ่ง” ของปัญหาฝุ่น PM2.5
แหล่งกำเนิดฝุ่นเพิ่มตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้รวบรวมข้อมูล การก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ โรงผลิตพลังงาน การทำเหมืองแร่ รวมถึงกิจกรรมการกำจัดขยะหรือของเสียขนาดใหญ่ ที่ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของมลพิษทางอากาศ จากการใช้เชื้อเพลิงการใช้สารอันตรายในกระบวนการผลิต รวมถึงเกิดจากจากการกำจัดสารอันตราย
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่าจำนวนโรงงานและกิจการอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผลพเป็นวงมาจาก “นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศไทย” ที่มีทิศทางในการพัฒนาเรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม
การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของภาคอุตสาหกรรม เริ่มจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)ที่เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออก และการกระจายของโรงงานอุตสาหกรรมออกไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีการเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเมืองหลัก เช่น หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน เป็นต้น
ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเพื่อจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และที่ ต.หนองแฟบ-มาบตาพุด จ.ระยอง
ทำให้ช่วงระหว่างปี 2525 – 2535 เกิดโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ได้แก่ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.สระบุรี จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม และยังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามเมืองหลัก เช่น นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ. ลำพูน นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา มีความพยายามก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โคกหินขาว จ. ขอนแก่น (แต่ถูกคัดค้านจนโครงการล้มเลิกไป) กระทั่งต่อมาเกิดโรงงานอุตสาหกรรม กระจายไปทั่วประเทศ
ข้อมูลสถิติโรงงานอุตสาหกรรม ที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ (ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535) พบว่าปี 2561 มีโรงงานทั้งที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 140,535 แห่ง กระจายตัวอยู่ในภาคกลางมากที่สุด จำนวน 50,408 แห่ง โดยจำนวนนี้เป็นช่วงก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่มีการปรับเปลี่ยนนิยามให้โรงงานที่มีเครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่จัดเป็นโรงงาน เป็นเหตุให้นับตั้งแต่นั้นมา จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมตามความหมายของกฎหมายมีจำนวนน้อยลง
(หมายเหตุ: ปรับแก้ไขข้อมูลจากบทความ ตามสถิติโรงงานอุตสาหกรรม)
เมื่อพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ มีกิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับประกาศมี 20 ประเภท จากทั้งหมด 107 ประเภท ได้แก่ กิจการเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตผลทางเกษตรกรรม การสีข้าว การผลิตน้ำตาล การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตเกี่ยวกับสิ่งทอและการฟอกย้อม การผลิตเกี่ยวกับไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งภายใน การผลิตเยื่อและกระดาษ เคมีภัณฑ์และกิจการเกี่ยวกับสารเคมีต่าง ๆ การผลิตปุ๋ยหรือสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ การกลั่นน้ำมัน การผลิตเกี่ยวกับยาง การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ กิจการเกี่ยวกับปูนประเภทต่าง ๆ เหล็กหรือเหล็กกล้า โลหะต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เหล็ก กิจการเกี่ยวกับเครื่องยนต์ต่าง ๆ และกิจการการปรับคุณภาพของเสีย รวมทั้งหมดมีจำนวนรวม 63,350 แห่ง โดยกระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ ภาคที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 28,670 แห่ง และน้อยที่สุดคือภาคตะวันตก จำนวน 1,716 แห่ง (ข้อมูล ปี 2560)
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเชิงปริมาณของโรงงาน ยังไม่รวมถึงปัญหาที่ว่าหน่วยงานกำกับดูแลสามารถควบคุมความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้ตามกฎหมายหรือไม่?
ความรุนแรง ของมลพิษจากอุตสาหกรรม
มลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ 1. การเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม และ 2. การใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม
โดยทั่วไปเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตพลังงานเพื่อการอุตสาหกรรมคือเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่
- เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง เช่น ถ่านหินและถ่านโค้ก
- เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว เช่น น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล
- เชื้อเพลิงที่อยู่ในรูปก๊าซ เช่น ก๊าซธรรมชาติและก๊าซแอลพีจี (LPG)
เชื้อเพลิงเหล่านี้มี “สารไฮโดรคาร์บอน” เป็นองค์ประกอบหลักและมีธาตุชนิดอื่นรวมอยู่ ได้แก่ ไนโตรเจน ออกซิเจน และกำมะถัน โดยในระยะหลัง ๆ ยังมีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในระบบการผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงเกือบทุกชนิดมักเป็น “การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์” และเป็นสาเหตุทำให้เกิดสารมลพิษทางอากาศหลายชนิด และเนื่องจากการผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมาก สารมลพิษที่เกิดขึ้นจึงมีปริมาณมากและมีหลากหลายชนิด
มลพิษทางอากาศจากการใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่นละออง ชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้จะมีผลต่อการฝุ่นละอองโดยตรงด้วย
ซึ่งโลหะหนักเป็นธาตุเจือปนอยู่ในเชื้อเพลิงบางชนิด โดยเฉพาะถ่านหิน เช่น สารหนู แคดเมียม เซเลเนียม ตะกั่ว และปรอท ที่เมื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้ว ทำให้เกิดโลหะหนักปนเปื้อนในอากาศตามมา แม้จะมีปริมาณที่เกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็สามารถก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้
ซึ่งสารโลหะหนักในอากาศที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมมักไม่ค่อยมีการกล่าวถึง อีกทั้งในประเทศไทยก็มีงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากโลหะหนักในอากาศต่อสุขภาพของประชาชนไม่มากนัก
นอกจากนี้สารมลพิษอีก 2 กลุ่ม จากกระบวนการสันดาปของเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ คือ 1. กลุ่มของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) โดยเฉพาะจากการเผาไหม้ของน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และ 2. กลุ่มสารไดออกซิน (dioxins) ซึ่งเป็นกลุ่มสารอินทรีย์และมีชื่อเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ พารา-ไดออกซิน (polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) และสารประกอบที่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มไดออกซินอีกกลุ่มหนึ่งทั้งด้านแหล่งกำเนิดและความเป็นพิษ คือฟิวแรน (furans) มีชื่อเรียกเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟิวแรน (polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) โดยทั่วไปนักวิชาการมักเรียกรวมและรู้จักกันทั่วไปว่า “ไดออกซิน/ฟิวแรน” (PCDDs/PCDFs) ที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs)
หน่วยผลิตที่มีการปล่อยสาร VOCs สูงคือหม้อไอน้ำและเตาให้ความร้อนที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเตาให้ความร้อนโรงไฟฟ้า ส่วนไดออกซิน/ฟิวแรนมีแหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมชนิดต่าง ๆ ฟืน การเผาไหม้จากเตาเผาหลายประเภท เช่น เตาเผาขยะชุมชน เตาเผาขยะติดเชื้อ เตาเผาของเสียอันตราย เตาเผาปูนซีเมนต์ โดยกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมก็เป็นอีกแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นสารตั้งต้น ส่วนผสม หรือตัวทำละลาย เช่น การใช้สาร VOCs ในอุตสาหกรรมหลายประเภทและทำให้เกิดการระบายสารกลุ่มนี้สู่บรรยากาศรอบ ๆ
แหล่งกำเนิด VOCs ขนาดใหญ่คือโรงงานอุตสาหกรรมเคมี
ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงงานผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพในการระบายสาร VOCs สู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่
- อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และพ่นสีรถยนต์
- อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้และทำเครื่องไม้
- อุตสาหกรรมพลาสติก
- อุตสาหกรรมเบญจรงค์และเซรามิกส์
- อุตสาหกรรมฟอกย้อม ฟอกสี และสิ่งทอ
- อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์
- อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- อุตสาหกรรมทำความสะอาดโลหะและเครื่องจักร
- อุตสาหกรรมบรรจุตัวทำละลายและเคมีภัณฑ์
- อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช
- อุตสาหกรรมบำบัดคัดแยกกากของเสีย
- และอุตสาหกรรมซักรีด
- การขนถ่ายและการจัดเก็บสาร
อีกทั้งโลหะหนักยังเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ การผลิตพลาสติก พีวีซี สี ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ถลุงแร่ ฟอกหนัง ย้อมสี และปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจปล่อยมลพิษและของเสียจากกระบวนการผลิตแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในรูปอากาศเสีย น้ำเสีย ขยะและกากของเสีย
ประเภทของโลหะหนักที่มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองแดง เงิน ทองคำ ทองคำขาว สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก โครเมียม ทังสเตน พลวง แคดเมียม ปรอท บัสมัส ไททาเนียม แทนทาลัม โคบอลต์ ยูเรเนียม นิเกิล แมงกานีส โมลิเดียม และเบอร์มัสเนียม
โรงงานอุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ไหนที่นั่นอากาศแย่
พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าอยู่จำนวนมาก มักจะมีมลพิษทางอากาศเข้มข้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศมองเห็นปัญหาที่ทับซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งของไทย คือ
- แทบจะไม่มีข้อมูลสถิติที่ชัดเจนในเรื่องนี้
- ระบบของไทยโดยรวมค่อนข้างไม่มีความเท่าทันและไม่มีความสามารถที่จะรับมือ
- ไทยยังไม่เคยมีการศึกษาถึงปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ว่าสถานการณ์ปัญหาเป็นอย่างไร พื้นที่ใดมีระดับความรุนแรงแค่ไหนอย่างไร อุตสาหกรรมใดคือแหล่งก่อมลพิษที่สำคัญ
- สถิติเชิงภาพรวมที่พอมี คือส่วนของการร้องเรียนปัญหาเท่านั้น
จากการรวบรวมสถิติการร้องเรียนปัญหามลพิษในแต่ละปีจากทุกหน่วยงานของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนสูงที่สุด
แหล่งอ้างอิง: