ด้วยอิทธิพลของ “ลานีญา” ที่เริ่มเข้าสู่ค่าความเป็นกลาง ทำให้สถานการณ์ฝนในปี 68 ยังคงตกต่อเนื่องมาตั้งแต่กลาง เม.ย 68 ก่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเปลี่ยนฤดูเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พ.ค ที่ผ่านมา
จากการการคาดการณ์ปริมาณฝนในปีนี้ของ 2 หน่วยงาน กรมอุตุนิยมวิทยาและ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่เห็นตรงกันว่า ปริมาณฝนปีนี้จะมากกว่าปีทีผ่านมา โดยเดือนพ.ค. จะมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 17 % เช่นเดียวกับเดือนมิ.ย มีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 1 % ขณะที่ ก.ค อาจจะมีปัญหาฝนทิ้งช่วง แต่อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: เทียบเคียงมหาอุทกภัยปี 54 มีโอกาสซ้ำรอยแค่ไหน?
หลังจากนั้น ในเดือน ส.ค และ ก.ย. จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ แต่ เดือนต.ค จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 29 % โดยประเมินภาพรวมของปริมาณฝนปีนี้มีสูงกว่าค่าปกติ ทำให้สถานการณ์น้ำในภาพรวมสูงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
กรมชลประทานประเมินสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 19 พ.ค ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณฝนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเพิ่มขึ้นหลายแห่ง ทำให้ขณะนี้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันอยูที่ประมาณ 42,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้กว่า 33,000 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม.
จากปริมาณฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ต้องมีการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอย่าใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการไม่ให้ซ้ำรอยกับน้ำท่วมใหญ่ในอดีต โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปรับการบริหารจัดการน้ำ โดยพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก 21 แห่งเพื่อรับมือปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่อง โดยหน่วยงานด้านการจัดการน้ำจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อประเมินการบริหารจัดการน้ำตามปรับแผนการระบายน้ำเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำใหม่ตามสถานการณ์ฝนทีตกต่อเนื่อง
กทม.ฝนเฉลี่ยมากกว่า 30 ปี
ส่วนสถานการณ์ฝนใน กทม. “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ ยอมรับว่าปริมาณฝนของ กทม.ปีนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี จากข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ กทม. พบว่าปริมาณฝนเกินกว่าค่าเฉลี่ยกว่า 95 %
สถิติในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 14 พ.ค.ที่ผ่านมา กทม.มีปริมาณฝนสะสมรวมอยู่ที่ 188.5 มิลลิเมตร ขณะเฉลี่ยฝนสะสม 30 ปีของสำนักการระบายน้ำอยู่ที่ 96 .7 มิลลิเมตร เท่ากับว่าปริมาณฝนมากว่าค่าเฉลี่ยถึง 91.8 มิลลิเมตร หรือประมาณ 95 %
เฉพาะในเดือน เม.ย ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกินเท่าตัว โดยมีปริมาณฝนอยู่ที่ 215 มิลลิเมตร แต่ค่าเฉลี่ยฝนอยู่ 106 มิลลิเมตร ทำ เช่นเดียวกับ เดือนพ.ค คาดว่าตลอดทั้งเดือนน่าจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 214 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยฝนในรอบ 30 ปี
ปริมาณฝนใกล้เคียงกับปี 65
“อรรถเศรษฐ์” บอกว่า ปรากฏการณ์เอนโซ แม้จะเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง แต่ทำให้การคาดการณ์ปริมาณฝนจะมีค่าบวก ลบ ประมาณ 5-10% ทำให้คาดการณ์ค่าเฉลี่ยฝนทั้งปี น่าจะประมาณ 1,600 มิลลิเมตร แต่จากการประเมินปริมาณฝนตั้งแต่เม.ย.จนถึง พ.ค มีปริมาณฝนสะสมรวมประมาณ 188 มิลิเมตร ทำให้ปีนี้อาจจะมีค่าเฉลี่ยฝนเกินกว่า 2000 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณฝนปี 65
“ ปี 65 ในเดือน ก.ย เดือนเดียวฝนทะลุไปถึง 801 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แต่ปีนี้สถิติของฝนค่อย ๆ ขึ้นเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพ.ค.ผ่านมาครึ่งเดือน ก็มีปริมาณฝนมากถึง 188 มิลลิเมตร มากกว่าปี 65 ถึงเท่าตัวทำให้สถานการณ์ฝนปีนี้น่าจะมากกว่าปี 65”
กทม. ไม่หนักใจ เตรียมรับมือ
แม้สถานการณ์น้ำจะมากกว่าปี 65 แต่ กทม.ไม่ได้หนักใจ กับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปีเพราะเตรียมระบบรับมือ โดยปรับแก้ไขจุดอ่อนที่เคยเกิดปัญหา เช่น จัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนในบางพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งเคยมีปัญหาน้ำท่วมขังมากในปี 65 โดยได้พัฒนาระบบบ่อสูบน้ำเพิ่มขึ้นเพิ่มจำนวนหลายบ่อเพิ่มช่วยการระบายให้มากขึ้น
ส่วนงานก่อสร้างสะพานยกระดับ หลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง ที่มีการก่อสร้างค่อนข้างยาวในระหว่างช่วงหัวตะเข้ไปถึงคลองตาหลง กทม.ได้ดำเนินการบ่อสูบน้ำ และตั้งสถานีสูบน้ำสำเภาทลาย ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว และเริ่มเปิดใช้งานทดสอบระบบเรียบร้อยแล้วทำให้เชื่อว่าการระบายน้ำในเขตลาดกระบังจะดีขึ้นกว่าปี 65
“ที่ผ่านมาฝนลงมาเยอะๆเขตลาดกระบัง เราเริ่มทดสอบระบบระบายน้ำ ซึ่งอาจจะมีท่วมรอระบายบ้างแต่ไม่นาน ดีขึ้นกว่าปี 65 ขณะที่ลาดกระบังเหลือเพียงจุดเดียวของลาดกระบังคือ ช่วงแยกกิ่งแก้ว ที่มีการก่อสร้าง ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่กทม.วางแผนรับมือจะใช้วิธีการสูบส่งเพื่อเอาน้ำไปลงคลองบัวลอย เพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้น”
ส่วนการระบายน้ำในเขตเศรษฐกิจ เช่น ถนนสุขุมวิท พบว่าปัญหาการระบายในปีทีผ่านมา มี ซีเมนต์ รากต้นไม้ ขยะยังและ สิ่งปฏิกูล ได้ขุดลอกและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ออกทั้งหมดในพื้นที่เคยมีปัญหา เช่น บริเวณกล้วยน้ำไทยทำให้ปีนี้แม้จะเจอฝนหนัก เชื่อว่าการระบายน้ำในพื้นที่สุขุมวิทจะดีขึ้นไม่มีน้ำท่วมขัง
สกัด “น้ำเหนือ”ไม่ผ่าน กทม.
ส่วนสถานการณ์การรับมือน้ำเหนือ กทม.ได้ประชุมร่วมกับกรมชลประทานเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า สถานีสูบน้ำของกรมชลประทานได้รับการพัฒนามากขึ้นทำให้น้ำเหนือไม่ต้องผ่านกทม.อีกต่อไป สามารถระบายน้ำออกไปทั้ง 2 ด้าน คือ ฝั่งตะวันออก ระบายน้ำลงไปแม่น้ำบางประกง โดยมีข้อตกลงร่วมกับกรมชลประทานถึงระดับคุมระดับน้ำใหม่ ให้สถานีสูบน้ำกรมชลประทานทำงานได้เร็วขึ้น เพื่อที่จะเอาน้ำด้านตะวันออก
ในอดีตกรมชลประทานจะเดินเครื่องสูบน้ำได้ ระดับน้ำต้องถึงระดับ + 0.50 ลูกบาศก์เมตร แต่ ปัจจุบันกรมชลประทานปรับระดับการคุมน้ำให้สูบน้ำเร็วขึ้น เริ่มเดินเครื่องสูบที่ 0.00 ลูกบาศก์เมตร ได้เลย ทำให้ สามารถพร่องน้ำในพื้นที่ได้เร็วขึ้นเพื่อเป็นแก้มลิงรับน้ำฝนได้ก่อน
ส่วนฝั่งตะวันตกก็เช่นเดียวกัน ได้มีข้อตกลงกับกรมชลประทาน ผันน้ำออกไปที่แม่น้ำท่าจีน ผ่านสถานีกระทุ่งแบน ซึ่งมีประสิทธิภาพถึง 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และได้ปรับระดับการคุมระดับน้ำในอดีตเดินเครื่องที่ +0.70ลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันปรับระดับการคุมน้ำสูบน้ำ + 0.30 หรือ 0.20 ลูกบาศก์เมตร
การปรับการระบายน้ำระหว่างกรมชลประทานและ กทม.ถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการน้ำเหนือ เพราะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกันเนื่องจากที่ผ่านมาสถานีสูบน้ำของกรมชลประทานและ สถานีระบายน้ำของกทม.มีหน้าที่ต่างกันทำให้ระดับการระบายน้ำไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นเมื่อปรับแผนให้การระบายน้ำสอดคล้องกันจึงทำให้การจัดการน้ำเหนือสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ เราไม่ห่วงน้ำเหนือ เพราะว่าน้ำจะท่วม กทม.ต้องมีปริมาณน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาต้องระดับ 3,500 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ขณะที่เรามีเขื่อนทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา มีระดับความสูง 3.59 เมตรไปถึง 3.25 เมตร และเราได้ทำความร่วมมือกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำทำให้ เราสามารถรับน้ำเหนือได้สบายอยู่แล้ว”
ฝนตกต่อเนื่อง อาจมีน้ำขังรอการระบาย
แม้ปัจจุบันระบบระบายน้ำของ กทม.จะมีความพร้อมการระบายน้ำสูง มีการขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำไปมากกว่า 70-80 % แต่ก็ยังห่วงพฤติกรรมของฝนตกที่มักจะตกต่อเนื่องไม่ทิ้งช่วงเลย ทำให้น้ำเก่ายังระบายไม่หมด แต่มีน้ำใหม่มาเติมเรื่อย ๆ จนทำให้เกรงว่าสถานีสูบน้ำทำงานต่อเนื่องอาจจะมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จัดเตรียมการปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องปั้มน้ำให้สามารถเดินเครื่องได้ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากถ้าปั้มน้ำมีปัญหาจะกระทบระบบระบายน้ำทั้งหมด
“อาจจะมีน้ำขังรอระบายแต่จะไม่นานเหมือนเดิม แต่จะมีบางพื้นที่เท่านั้น เช่น พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งได้ประสานงานกับการรถไฟและผู้รับจ้างของรถไฟฟ้าตลอดเวลาเพื่อ ไม่ให้การทำงานกีดขวางทางน้ำและทางระบายน้ำ รวมไปถึงสายสีม่วง ช่วงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่วงเวียนใหญ่ ลาดหญ้า ได้พูดคุยกับผู้รับเหมา ปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้ทำงานกีดขวางทางน้ำ”
มั่นใจ “ฝนมาก น้ำเยอะ แต่เอาอยู่”
“อรรถเศรษฐ์” มั่นใจว่า หลังจากทีมผู้ว่าฯชัชชาติเข้ามาบริหารตั้งแต่ปี 65 จนถึงปัจจุบันระบบระบายน้ำ กทม.ดีขึ้น แม้ว่ากายภาพของเมืองจะไม่มีพื้นที่ซับน้ำแล้ว แต่ก็พยายามสร้างระบบระบายน้ำ โดยใช้คลองที่มีอยู่ 1,900 คลอง เป็นเส้นเลือดฝอย ใช้เป็นแก้มลิงแทน โดยขุดลอกปรับระดับท้องคลองในช่วงกลางคลองให้ลึกขึ้น เพื่อให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้นและทำให้การระบายน้ำดีขึ้น
นอกจากนี้ยังนำเอาระบบเอไอเข้ามาช่วยประเมินการบริหารจัดการน้ำ โดยสามารถดูภาพรวมทั้งหมดของปริมาณน้ำที่เข้ามาในพื้นที่ กทม. ทำให้คำนวณ ปริมาณน้ำ และทิศทางของน้ำล่วงหน้า 3 ชั่วโมง จนทำให้สามารถ เข้าพื้นและพร่องน้ำในจุดที่คาดว่ามีปัญหาได้เร็วขึ้น
“ตอนนี้เหมือนเรามีเครื่องมือมากขึ้น มีเอไอ มีผังน้ำทั้งกทม. สามารถดูระดับน้ำทุกกสถานีสูบน้ำ และระดับน้ำทั้งหมดของคลอง เพื่อการบริหารจัดการ โดยเราสามารถเอาน้ำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ทำให้เราบริหารจัดการได้รวดเร็วขึ้น”
การบริหารจัดการน้ำโดยภาพรวมแม้ว่า ปริมาณน้ำจะมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ระบบการจัดการน้ำและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทำให้คาดว่าการบริหารจัดการจะดีขึ้น แต่จะเอาอยู่หรือไม่ ยังต้องจับตามองต่อไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง