คนไทยที่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่หรือมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ไม่อาจลืมไปได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกินอาณาบริเวณกว้างหลายจังหวัดทั่วประเทศและมีความรุนแรง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
แม้ว่าขณะนี้หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่ดูแลด้านบริหารจัดการน้ำจะมีความมั่นใจว่าสถานการณ์จะไม่ซ้ำรอยกับปี 2554 เนื่องจากหลังจากมหาอุทกภัย ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเอาไว้ ด้วยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนโครงการป้องกันจำนวนมากในหลายจังหวัด
แต่จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคเหนือในเดือนก.ย. 2567 ทำให้ไม่มีความมั่นใจนักว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับในที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และจากการบริหารจัดการน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายยิ่งทำให้เกิดคำถามในเรื่องการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐว่ามีความพร้อมจริงหรือไม่? โดยเฉพาะในเรื่องการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น อาจต้องย้อนกลับไปดูในช่วงปี 2553-2555 ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา”
สภาวะอากาศมหาอุทกภัยปี 2554
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ระบุว่าในปี 2554 เป็นปีที่ฝนมาเร็วและปริมาณฝนมากกว่าปกติค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมซึ่งนับว่าเร็วกว่าปกติ ปริมาณฝนรวมทั้งปีสูงถึง 1,826 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าปกติ 25% และยังมากกว่าปี 2538, 2545 และ 2549 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยรุนแรงอยู่ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้การกระจายตัวของกลุ่มฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในปี 2554 ยังครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างกว่าปีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีฝนตกหนักเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงในครั้งนี้ เนื่องจากน้ำจากภาคเหนือส่วนใหญ่จะไหลลงสู่ภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีโอกาสเกิดน้ำท่วมขังสูงกว่าภาคอื่น
ที่มา: สถานการณ์และประเด็นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ,สสน.
ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปี 2554 มีฝนตกมาก ประกอบด้วย
พายุ 5 ลูก ได้แก่ 1) พายุโซนร้อน “นกเต็น” (NOCK-TEN) ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่านในขณะที่ลดระดับลงเป็นพายุดีเปรสชัน 2) พายุโซนร้อน “ไหหม่า” (HAIMA) 3) พายุโซนร้อน “ไห่ถาง” (HAITANG) ที่สลายตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 4) พายุไต้ฝุ่น “เนสาด” (NESAT) และ 5) พายุไต้ฝุ่น “นาลแก” (NALGAE) ที่ถึงแม้จะสลายตัวไปในบริเวณประเทศเวียดนาม แต่อิทธิพลของพายุยังคงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น
ร่องมรสุม ที่พาดผ่านประเทศไทยระยะ ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะบริเวณตอนบนและตอนกลางของประเทศที่การพาดผ่านในแต่ละครั้งของร่องมรสุมมักเกิดขึ้นยาวนาน โดยช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเกิดร่องมรสุมพาดผ่านเกือบตลอดทั้งเดือน ส่งผลให้มีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่
ปรากฎการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ปรากฎการณ์ลานีญาได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 และดำเนินต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2554
ลานีญามีกำลังแรงในช่วงปลายปี 2553 หลังจากนั้นได้ลดระดับเป็นลานีญากำลังปานกลางและกำลังอ่อนในช่วงต้นปี 2554 จากนั้นได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลางช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และกลับมาเป็นสภาวะลานีญากำลังอ่อนและกำลังปานกลางอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 โดยคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2555 ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ
โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2553 จนถึงกลางปี 2554 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เดือนมีนาคม 2554 มีฝนตกมากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ฝนตกมากที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ เพราะโดยปกติแล้วประเทศไทยมักจะเริ่มมีฝนตกมากประมาณเดือนพฤษภาคม
ความเหมือนอุทกภัยภาคเหนือปี 2567
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าบริเวณประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาตั้งแต่เดือนส.ค. 2567 ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักในบางพื้นที่
ทั้งนี้ ประเทศไทยเผชิญกับภัยแล้ง หรือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ในช่วงปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2567 ก่อนจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง ซึ่งไม่เป็นทั้งเอลนีโญและลานีญา ประมาณ 2 เดือนในช่วง มิ.ย.ไปจนถึงต้นเดือน ก.ค. หรือเรียกว่าปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติจะต่อเนื่องไป 1-2 เดือน
อ่านเพิ่มเติม:
จาก”เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา” จับตาสภาพอากาศช่วงเปลี่ยนผ่าน
แต่สภาพอากาศจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2567 ถึงมกราคม 2568 ซึ่งจะทำให้ช่วงนี้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้คือปริมาณฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของไทย จนนำไปสู่อุทกภัยในหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศของประเทศในช่วงเวลานี้ มีความเหมือนในบางประการกับเหตุการมหาอุทกภัยในปี 2554 กล่าวคือ สภาพอากาศของประเทศเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงปลายปี
ยังคาดการณ์ยาก แต่ต้องเตรียมรับมือปีหน้า
แม้ว่าขณะนี้ มีความเห็นจากบรรดากูรูด้านน้ำและหน่วยงานรัฐออกมาให้ความเห็นมากมาย ทั้งเห็นว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอย และเห็นว่าไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเหมือนในอดีต เพราะมีการก่อสร้างโครงการสร้างพื้นฐานมากมายรองรับ
แต่ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะหยิบยกเหตุผลใดมาอ้าง สิ่งที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ คือ ผลกระทบจากภาวะลานีญาว่ามีความต่อเนื่องไปถึงปีหน้ามากน้อยแค่ไหน และยังต้องประเมินว่าหากภาวะลานีญา จบลงเหมือนเมื่อปี 2554 ในช่วงต้นปี แต่ก็ปรากฏว่าภาวะลานีญาก็กลับมาอีกครั้งในช่วงกลางปี ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จากพายุที่เข้าบริเวณประเทศไทย ทั้งที่เข้าโดยตรงและได้รับผลกระทบถึง 5 ลูก
ทั้งนี้ ตามปกติ พายุจะเคลื่อนตัวเข้ามาประมาณปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และความถี่ของพายุจะเกิดมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยจะเข้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ หลังจากนั้นจะผ่านเข้ามาทางตอนกลางของภาคอีสาน แล้วมาทางภาคเหนือ และค่อยๆ ขยับจากข้างบนลงไปทางภาคใต้ในช่วงเดือนตุลาคม
แต่ขณะนี้ เราจึงไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้คือ “การคาดเดา” และยิ่งในช่วงนี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญให้การคาดการณ์ผิดพลาด
ดังนั้น การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งดูจากบทเรียนในปีนี้ที่เริ่มเกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเรามีความพร้อมหรือไม่? โดยเฉพาะรัฐบาลมีความพร้อมแค่ไหนกับการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ของประเทศ
อ่านเพิ่มเติม:
บริหารจัดการน้ำ สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ได้มีส่วนร่วม
ลานีญาเต็มตัวปลายปี ทุกภูมิภาคเสี่ยงน้ำท่วม
ปรับฐานคิดสู่ Worst-case Scenario อุดช่องโหว่แก้น้ำท่วมซ้ำซาก