ท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับ ‘น้ำท่วม’ ที่หนักและยาวนานขึ้น Policy Watch สำรวจข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบัน ว่าท่ามกลางความแปรปรวนนี้มีรูปแบบอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ‘ฤดูน้ำท่วม’ ที่ทอดยาวตลอดทั้งปีไล่เรียงกันไปในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ
“เอลนีโญน้ำแล้ง ลานีญาน้ำท่วม” ไม่เสมอไป เมื่อโลกปั่นป่วนมากขึ้น
ไม่ว่าจะปีเอลนีโญหรือลานีญาประเทศไทยก็น้ำท่วมทุกปี เช่นปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นเอลนีโญ พื้นที่ส่วนใหญ่มีฝนน้อยกว่าปกติ 6% แต่ขณะเดียวกันก็มีฝนตกมากกว่าปกติในบางพื้นที่ จนเกิดน้ำท่วมพื้นที่ถึง 4.7 ล้านไร่ ใน 72 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 42 คน กระทบบ้านเรือนกว่า 1 แสนหลัง และพื้นที่การเกษตรกว่า 1 ล้านไร่
- ‘เอลนีโญ’ คือปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรอุ่นขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้งในประเทศไทย
- ‘ลานีญา’ เป็นปรากฎการณ์ที่กลับกันกับเอลนีโญ คืออุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ ทำให้ไทยมีฝนมากและน้ำท่วม โดยช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝนเป็นระยะที่ลานีญามีผลกระทบต่อสภาวะฝนของไทยชัดเจนกว่าช่วงอื่น
ทั้ง 2 ปรากฎกรณ์นี้ส่งผลต่อปริมาณฝนซึ่งทำให้การเกิดความแห้งแล้งและน้ำท่วมที่ผิดจากสภาวะปกติตามฤดูกาล กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าลานีญาเกิดขึ้นได้ทุก 2 – 3 ปี นาน 9 – 12 เดือนหรืออาจยาวนานถึง 2 ปี ขณะที่เอลนีโญนาน 12 – 18 เดือน
แต่ปรากฎการณ์เอลนีโญ – ลานีญา ในขณะนี้ไม่ได้ชี้ว่าฝนจะหนักหรือน้ำจะแล้งตรงกับปรากฎการณ์เสมอไป เมื่อโลกเข้าสู่ความแปรปรวนที่มากขึ้น
รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ ไขปริศนาสภาพอากาศ โลกร้อนสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) : ร่วมรับมือวิกฤตเอลนีโญ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ว่า 75 ปีที่ผ่านมา (ปี 2493 – มี.ค. 2567) ไทยเกิดเอลนีโญ 27 ครั้งรวม 46 ปี และลานีญา 25 ครั้งรวม 38 ปี
หลังปี 2547 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสูงขึ้น โดยปี 2549 เป็นปีเอลนีโญแต่น้ำท่วม ปี 2563 ที่เป็นปีลานีญาแต่ฝนกลับติดลบ 8% และพบว่าช่วงที่ฝนมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากที่สุดคือกรกฎาคม – กันยายน
ไม่มีเดือนไหนที่น้ำไม่ท่วม ‘เหนือ – อีสาน’ ท่วมหนักก่อนและนาน
ปกติฤดูฝนของไทยอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางตุลาคม โดยมีอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วม แต่จากการประมวลข้อมูลการเกิดอุทกภัยทั่วประเทศจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และ กรมป้องกันและบรรเทาสารณภัย 8 ปีล่าสุด (ปี 2560 – ก.ย.2567) พบว่า ไทยมีความเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมตลอดทั้งปี แม้แต่ในช่วงร้อนจัดอย่างเมษายนก็สามารถเกิดน้ำท่วมได้ในบางพื้นที่
โดยเฉพาะภาคใต้ที่อาจเจอน้ำท่วมได้แทบทุกเดือน ซึ่งตามปกติเป็นพื้นที่ที่มีฝนมากที่สุดของประเทศจากอิทธิพลของลมมรสุม 3 ทิศทางจึงมีฝนกระจายตลอดปีอยู่แล้ว ขณะที่ภูมิภาคอื่นในภาพรวมยังอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เผชิญน้ำท่วมเร็วกว่าทุกที
เมื่อพิจารณา การเกิดซ้ำ จำนวนจังหวัด และจำนวนพื้นที่ความเสียหาย พบว่าแต่ละภูมิภาคมีช่วงเวลาที่เจอน้ำท่วมหนักในรอบปี โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะพบน้ำท่วมก่อนภูมิภาคอื่นคือในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน
ตามมาด้วยภาคกลางและภาคตะวันออกช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน และภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องไปถึงมกราคมปีถัดไป การรับมือสถานการณ์จึงต้องเตรียมพร้อมก่อนช่วงเวลาสาหัส ซึ่งในภาพรวมนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระยะน้ำท่วมหนักยาวถึง 4 เดือน นานกว่าภูมิภาคอื่น
16 จังหวัดน้ำท่วมทุกปี อยู่ในภาคอีสานมากที่สุด
ปีนี้เป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับภาคเหนือ เพราะไม่เพียงแต่สถานการณ์ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เท่านั้น แต่ทั้ง 15 จังหวัดของภาคเหนือต่างท่วมทุกจังหวัด
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมี 20 จังหวัด มีจังหวัดน้ำท่วมเกินครึ่งหนึ่งของภูมิภาคทุกปีตลอด 8 ปีที่ผ่านมาแม้แต่ในปีเอลนีโญ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกท่วมเป็นวงกว้างมากขึ้น จากจำนวนจังหวัดประสบเหตุที่เพิ่มมากขึ้น
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจังหวัดน้ำท่วมทุกปีมากที่สุดถึง 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี
ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกมีปราจีนบุรีจังหวัดเดียว
นอกจากนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่น้ำท่วมปี 2566 มากที่สุดคือ 1.72 ล้านไร่ ภาคกลาง 1.54 ล้านไร่ ภาคเหนือ 1.09 ล้านไร่ ภาคใต้ 0.27 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 0.10 ล้านไร่
ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการจัดการอุทกภัยประจำปีงบประมาณ 2566 คำนวณโดย Rocket Media Lab พบว่ามีการจัดสรรให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คิดเป็น 30.85% ของงบฯ น้ำท่วม รองลงมาคือภาคกลาง 27.82% ภาคใต้ 13.84% ภาคเหนือ 10.25% กรุงเทพฯ 7.36% ภาคตะวันตก 5.00% และภาคตะวันออก 4.88%
เมื่อจำแนก 10 จังหวัดได้รับงบฯ น้ำท่วม ปี 2566 มากที่สุด
- พระนครศรีอยุธยา 3.99 พันล้านบาท
- อุบลราชธานี 1.93 พันล้านบาท
- สงขลา 1.48 พันล้านบาท
- นครพนม 1.48 พันล้านบาท
- บึงกาฬ 1.38 พันล้านบาท
- เชียงราย 1.33 พันล้านบาท
- หนองคาย 1.31 พันล้านบาท
- เลย 1.27 พันล้านบาท
- เชียงใหม่ 1.13 พันล้านบาท
- นครศรีธรรมราช 1.05 พันล้านบาท
ในปี 2564 – 2566 สถานการณ์อุทกภัยรุนแรงขึ้น ทำให้หลายจังหวัดมีพื้นที่น้ำท่วมมากขึ้น บางจังหวัดมากกว่า ปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่น้ำท่วมรุนแรง เช่น ปัตตานี และยังแนวโน้มท่วมสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2562 อีกทั้งในปีที่ผ่านมาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรง
สภาพอากาศที่แปรปรวนและอุทกภัยที่อาจเกิดเมื่อใดก็ได้ ส่งผลอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรที่อาศัยฟ้าฝนในการเพาะปลูก เช่นข้าวนาปีที่ปกติจะเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ซึ่งช่วงใกล้เก็บเกี่ยวกลับเป็นช่วงเวลาที่น้ำท่วมมักรุนแรง โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตข้าว
โจทย์สำคัญของการบริหารจัดการรับมือสภาพอากาศที่แปรปวน จึงไม่ใช่อยู่แค่การตื่นตัวในตอนที่เกิดเหตุแล้ว แต่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือก่อนที่น้ำจะมาถึง
หมายเหตุ:
- แบ่งภูมิภาคของจังหวัดตามกรมอุตุนิยมวิทยา
- ข้อมูลปี 2560 – 2566 จากรายงานสถานการณ์น้ำประเทศไทยรายปี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การเอกชน)
- ข้อมูลมกราคม – กรกฎาคม 2567 จากสรุปสถิติสาธารณภัยและเหตุการณ์รายเดือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ข้อมูลสิงหาคม – กันยายน 2567 จากรายงานสถานการณ์สาธารภัยประจำวัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย