สถานการณ์อุทกภัยในปี 2567 เริ่มคลี่คลายในช่วงปลายปี แม้จะมีอุทกภัยในบางพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ 11 พ.ย. 67 มีพื้นที่ความเสียหาย 3.54 ล้านร่ มูลค่าความเสียหายราว 2 พันล้านบาท
สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสรุปความเสียหายจากอุทกภัยในปี 67 โดยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2567 ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนและได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุม และพายุไต้ฝุ่นยางิซึ่งทำให้มีฝนตกหนักและนำไปสู่สถานการณ์อุทกภัยในภูมิภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ประกอบกับฝนตกสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ ส.ค. 2567 ทำให้มีปริมาณน้ำสูงกว่าปกติ
ทั้งนี้ จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียมจัดเก็บโดยส านักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ณ 11 พ.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 3.54 ล้านไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.10% ของประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่ใน 52 จังหวัด
จากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมแผนที่ทหาร สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 320.67 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ 102.14 ล้านไร่ (31.85%) พื้นที่เกษตรกรรม 147.73 บ้านไร่ (46.06%) และพื้นที่นอกเกษตรกรรม 70.83 ล้านไร่ (22.09%)
เมื่อพิจารณาผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรโดยอาศัยข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ 11 พ.ย. 67 แสดงให้เห็นว่าในไตรมาสที่สามของปี 67 มีเกษตรกรและพื้นที่ภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แบ่งเป็น
- หมวดพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบ 130,420 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 0.98 ล้านไร่
- หมวดประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 8,874 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 8,740 ไร่ กระชัง 8,261 ตรม.
- หมวดปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,416 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 120,796 ตัว
ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2567 (ข้อมูล ณ 11 พ.ย. 67) พบว่า มีทั้งสิ้น 3.54 ล้านไร่ น้อยกว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 77.9 (15.96 ล้านไร่) ในปี 54 และ ร้อยละ 33.6 (5.33 ล้านไร่) ในปี 65
หากพิจารณาถึงผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร (สัดส่วน 8.65% ต่อ GDP) พบว่า มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,061 ล้านบาท โดย 5 จังหวัดที่ได้รับเสียหายสูงสุด ดังนี้
- จังหวัดเชียงราย (328.59 ล้านบาท)
- จังหวัดหนองคาย (201.17 ล้านบาท)
- จังหวัดนครพนม (144.90 ล้านบาท)
- จังหวัดพะเยา (130.21 ล้านบาท)
- จังหวัดสกลนคร (110.85 ล้านบาท)
พืชผลที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ 1. พืชไร่ อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ 2. พืชไม้ยืนต้นและไม้ผล อาทิ ปาล์มน้ำมันยางพารา และลำไย เป็นสำคัญ
ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปริมาตรน้ำในเขื่อน ณ 11 พ.ย. 67 มีปริมาตรน้ำกักเก็บอยู่ที่ระดับ 59,341 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83.66% ของระดับน้ำเก็บกักของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด (น้อยกว่าปริมาตรน้ำปี 2554 ที่อยู่ที่ 91.88%) และปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศอยู่ที่ระดับ 1,478.0 มม. (น้อยกว่าฝนสะสมปี 2554 ที่อยู่ระดับ 1,947.9 มม.)
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์เอนโซยังคงสภาวะเป็นลานีญาต่อเนื่องไปจนถึงเดือนก.พ. 68 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปี 67 มีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติประมาณเดือนมี.ค. 68
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเตรียมความพร้อมสำหรับแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงที่เหลือของปี 67 และในช่วงต้นปี 68 โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเตือนภัย
ทั้งนี้ เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ คันกั้นน้ำ ทำนบ ผนังกั้นน้ำให้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการระบายน้ำ ทั้งในเขตพื้นที่ชลประทาน และนอกเขตพื้นที่ลประทาน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศ และเข้าถึงหลักการใช้น้ำในการเพาะปลูกอย่างถูกต้องควบคู่ไปกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศ
ที่มา: รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2567, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)