เศรษฐกิจไทยโตตามคาด แต่ห่วงบางภาคส่วน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. และ 21 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยว่า มีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในบางภาคส่วน ได้แก่
1.การบริโภคภาคเอกชนที่แรงส่งอาจชะลอกว่าที่ประเมินไว้ จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น รายได้แรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง โดยเฉพาะลูกจ้างภาคการผลิต และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลางถึงต่ำที่ปรับลดลง รวมทั้งคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนบางกลุ่มที่ปรับด้อยลง
2.การส่งออกและภาคการผลิตในกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า และมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่อง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อาจส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป และอาจมีนัยสำคัญต่อศักยภาพการเติบโต
สินค้าจีนกำลังทุบธุรกิจไทย
สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ
โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวดีและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได่แก่ ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการส่วนใหญ่ เช่น หมวดการค้า และบริการสาธารณูปโภค คิดเป็นประมาณ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี(GDP) และประมาณ 44% ของจำนวนแรงงาน
ขณะที่กลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ คิดเป็นประมาณ 40% ของจีดีพี และประมาณ 56% ของจำนวนแรงงาน ประกอบด้วย
– กลุ่มที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้า แต่ปัจจัยเชิงวัฏจักรเริ่มคลี่คลาย เช่น การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา
– กลุ่มที่ฟื้นตัวช้าและได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยเชิงวัฏจักร เช่น
- ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ ซึ่งหดตัวจากการปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ที่เร็วกว่าคาด อุปสงค์ในและต่างประเทศลดลง รวมถึงความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงิน
- ธุรกิจที่เผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีน เช่น สินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ต้องติดตามการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป ซึ่งอาจได้กระทบจากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แนวโน้มลดลง ประกอบกับรายได้ที่ฟื้นตัวช้า และฐานะการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง
เงินเฟ้อขยับเข้ากรอบเป้าสิ้นปี 67
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. มองว่า มีแนวโน้มทยอยกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 และมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ใกล้เคียงของล่างของกรอบเป้าหมาย ส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การส่งผ่านผลของอัตราแลกเปลี่ยนไปยังเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นจากการมีลูกจ้างอิสระและแรงงานต่างด้าวที่สามารถกลับเข้ามาเป็นลูกจ้างนอกภาคเกษตรได้ จึงทำให้การขยายตัสของเศรษฐกิจส่งผลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานจำกัด รวมถึงการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำไม่ได้สะท้อนภาวะเงินฝืด และมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มองว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% มีส่วนยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้ดี และมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับความผันผวนจากปัจจัยด้านอุปทาน เช่น การปรับขึ้นของราคาพลังงานโลก ซึ่งทำให้เงินเฟ้อไม่สูงค้างนาน
จับตาหนี้เสียขยายวงกลุ่มรายได้สูง
ทั้งนี้ กนง. ตระหนักถึงความเชื่อโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนชะลง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อ รวมถึงเห็นสัญญาณด้อยคุณภาพที่เริ่มกระจายจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไปยังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้ง จึงเห็นควรให้ติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่อาจส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการส่งผลต่อเนื่องไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน และจะย้อนกลับมากกระทบคุณภาพสินเชื่ออีกครั้ง โดยต้องเฝ้าระวังวงจรสะท้อนกลับเชิงลบ ระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินดังกล่าว
ส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย รอดูแนวโน้มเศรษฐกิจ
กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี
โดยส่วนใหญ่ เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่แนวโน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ควรเกิดขึ้นต่อเนื่อง
แต่ กนง. จะติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด รวมถึงนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
ส่วนกรรมการมีเพียง 1 ราย ที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้นนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีชัดเจนขึ้น และมีส่วนช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดในการปรับตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงมีความกังวลว่ากลุ่มที่มีความเปราะบางอาจขยายฐานกว้างขึ้น
สรุปกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และยังเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง