“พลังงานสะอาด” กลายเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจมากขึ้น ในวันที่ “ค่าไฟฟ้า” มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 5 บาท/หน่วย หลังราคาค่าไฟเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แต่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 กลับพุ่งขึ้นก้าวกระโดดจากราคา 3 บาทกว่า/หน่วย ไปเป็นเกือบ 5 บาท/หน่วย
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาตรการตรึงราคาค่าไฟเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง ที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันยังกดราคาค่าไฟฟ้าเอาไว้อยู่ ทำให้เรายังไม่ต้องเสียค่าไฟไปถึง 5 บาท/หน่วย แต่เราจะยังโชคดีไปได้อีกนานแค่ไหน
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านพลังงานสะอาด ต่างออกมาพูดถึงการปรับระบบไฟฟ้าไทยให้เป็นพลังงานสะอาด เพราะเชื่อว่าพลังงานสีเขียวจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้ไทยมีความมั่นคั่ง มั่นคง และยั่งยืน คือมีราคาค่าไฟที่เป็นธรรม และมีระบบไฟฟ้าที่ยั่งยืนมากขึ้นกว่ากระบวนการผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
The Active Policy Watch Thai PBS และ องค์กรเครือข่าย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ชวนมองโอกาส ข้อจำกัด และระดมความคิดไปสู่ข้อเสนอเพื่อปลดล็อกนโยบาย ให้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สร้างโอกาสให้ประเทศได้มากขึ้นใน “Policy Forum ครั้งที่ 17 : ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ”
สถานการณ์ “พลังงานสะอาดไทย” ที่ต้องเร่งปลดล็อกเพื่อเดินหน้า
“เราต้องการพลังงานไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันและรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่บังเอิญว่านโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนไฟฟ้าพลังงานสะอาดนั้นช้ากว่าความต้องการของภาคการผลิตมาก”
อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
เป้าหมายของประเทศกำหนดไว้ว่าจะต้องบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) หรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ขณะที่แรงกดดันจากหลายประเทศทั่วโลก จะเริ่มประกาศหมุดหมายใช้พลังงานทดแทน 100% รวมถึงตั้งเป้าเก็บค่าส่วนต่างจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อีกไม่กี่ปีต่อจากนี้
ภาคการไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด เมื่อเทียบกับการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ด้วยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก หากเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ย่อมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก
อย่างไรก็ตามในร่างแผน PDP 2024 แม้ภาครัฐจะระบุเป้าหมายไว้ชัดว่าจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดไปให้ถึง 51% ของประเทศภายในปี ค.ศ. 2037 แต่ที่น่ากังวลคือระหว่างนี้อีก 13 ปี เราจะสามารถเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ทันความต้องการของภาคการผลิตหรือไม่
“อย่าลืมว่าเรากำลังจะเจอระเบิด 2 ลูกในระยะอันใกล้นี้ ระเบิดลูกแรกคือในปี ค.ศ. 2026 จากมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน ถ้าภาคอุตสาหกรรมของเรายังมีพลังงานสะอาดไม่เพียงพอ ทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขัน และระเบิดลูกที่สองคือจากภาคองค์กรเอกชนชั้นนำ โดยเฉพาะกลุ่ม RE100 ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 ถ้าภาคการผลิตไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า โอกาสสูงมากที่เขาจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณแล้วจากบางบริษัท ดังนั้นเราต้องเร่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไม่ใช่แค่บรรลุพันธะสัญญากับประชาคมโลก ตรงนั้นเป็นเป้าหมายระยะยาว แต่เพื่อให้วันนี้เราอยู่รอดก่อน”
อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
“ค่าไฟแพง” เกี่ยวอะไรกับ “พลังงานสะอาด”
“ราคาค่าไฟ” เป็นมุมหนึ่งของสามเหลี่ยม “ความสมดุลของพลังงานสะอาด” ระหว่าง
- ความมั่งคั่ง ราคาค่าไฟฟ้า
- ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า
- ความยั่งยืน การใช้พลังงานสีเขียว
ในมุมมองของนักวิชาการมองว่า หากทำให้สามเหลี่ยมดังกล่าวสมดุลได้จะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ แต่ปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากร่างแผน PDP 2024 กลับพบว่าการวางแผนดังกล่าวยังเป็นตัวรั้งความสมดุลด้วยซ้ำ โดยมี 3 สาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรค ได้แก่
- การเพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
- ร่างแผน PDP 2024 ปักหมุดหมายสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนมากเกินกว่าความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะการตั้งเป้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่ม 3 แห่ง รวม 3,500 เมกะวัตต์ และการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซอีก 8 แห่ง รวม 6,500 เมกะวัตต์ นอกจากจะกระทบกับระบบนิเวศ ราคารับซื้อไฟฟ้าจากกิจการใหม่ยังสูงเกือบ 3 บาท/หน่วย ขณะที่โครงการเดิมรับซื้อต่ำกว่า 2 บาท/หน่วย นั่นหมายความว่าประเทศจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนต่างดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และถูกผลักภาระมาในรูปแบบของค่าไฟที่แพงขึ้น
- ประเมินประสิทธิภาพเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่ำเกินไป
- ร่างแผน PDP 2024 ยังมอง “ก๊าซธรรมชาติ” คือความมั่นคง เพราะยังกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 49% ใกล้เคียงกับสัดส่วนของพลังงานสะอาดที่ 51% ทั้งที่ปัจจุบันไทยได้รับผลกระทบจากการนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งราคาผันผวนตามตลาดโลก และในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเป็นความไม่มั่นคงที่ส่งผลให้ราคาค่าไฟสูงขึ้นเกือบ 5 บาท/หน่วยมาแล้ว
- ขณะที่การเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของทั่วโลก พบต้นทุนการผลิตปัจจุบันลดลงกว่า 87% และต้นทุนเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ลดลงถึง 85% ประกอบกับการลงทุนเพื่อยกระดับ ระบบ Smart Micro Grid และ Demand Response การผลิต จัดส่ง และโหลดไฟ ยามเกิดปัญหาการจ่ายไฟจากโครงข่ายหลัก ถูกกว่าการลงทุนก๊าซธรรมแล้ว
- นั่นหมายความว่าในอนาคตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อาจกลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และการลงทุนเพื่อเสถียรภาพในการกักเก็บไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คุ้มค่ามากกว่าที่คิด
- ขาดการมีส่วนร่วมของประชาช
- ในร่างแผน PDP 2024 ไม่ระบุถึงการสนับสนุนโซลาร์ภาคประชาชน และไม่ระบุถึงการเปิดตลาดไฟฟ้าพลังงานเสรี
“คนที่รับผิดชอบคือคนไทย ที่เห็นได้ชัดว่าเมื่อไรที่ภาครัฐเลิกตรึงราคาค่าไฟ แล้วราคาก๊าซธรรมชาติยังสูงและเรายังต้องจ่ายหนี้ กฟผ.ค่าไฟเราจะสูงถึง 6 บาทกว่า/หน่วย แต่ด้วยการหาเสียง การเอาใจประชาชน รัฐคงตรึงราคาค่าไฟไปเรื่อย ๆ และคงเป็นลูกหลานของเราในอนาคตที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ”
อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
มติ ครม.ยึดติด “ผู้ซื้อรายเดียว” กับดักฉุดไทยไม่ถึงเป้า “พลังงานสะอาด”
ถ้ามองตามความเป็นจริงเป้าหมายของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าเป้าหมายของภาคการผลิตที่ต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดยังไปไม่ถึง
บางคนเข้าใจว่าถ้าจะแก้เรื่องนี้ได้ ต้องเข้าไปแก้กฎหมาย แต่ที่จริงแล้วสามารถทำได้เลยแค่เปลี่ยน “มติ ครม.” พ.ศ. 2546 ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า แต่กำหนดให้ระบบการจัดการและซื้อขายไฟฟ้าทำได้โดยรัฐวิสาหกิจเท่านั้น คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเองและรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดส่งไปยังไฟฟ้าส่วนจำหน่ายคือการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีไฟฟ้าเป็นที่ถกเถียงมานับสิบปีแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังทำไม่ได้ เอกชนจึงไม่สามารถขายไฟข้ามรั้วได้ มีเพียงแค่ทำใช้กันเองภายในโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม ไม่ก็ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเดินสายส่งกันเอง
ดังนั้น อีกหนึ่งข้อเสนอที่ต้องผลักดันคือ “การเปิดเสรีไฟฟ้า” ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ
- เอกชนซื้อขายกันโดยตรง โดยเดินสายส่งระบบไฟฟ้ากันเอง
- เอกชนซื้อขายกัน โดยใช้สายส่งของการไฟฟ้า เอกชนตกลงระหว่างกันและจ่ายค่าผ่านสายไฟให้กับการไฟฟ้า
“เอกชนมีความพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด และการลงทุนก็ไม่ได้มีปัญหา มีนักธุรกิจมากมายมาถามว่าประเทศไทยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบทางตรงไหม เราพูดกันมา 10 ปีแล้ว แต่วันนี้ที่ทำไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่มีระเบียบจำกัดสิทธิผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าอย่างเดียว ดังนั้นตัวตอบโจทย์จึงอยู่ที่การเปิดเสรีไฟฟ้าให้ขายกันได้”
นที สิทธิประศาสน์
“Net Billing” ปัจจัยสำคัญรั้งการโตของ “โซลาร์ประชาชน”
ในมุมของผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือน การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้ง่ายที่สุด แต่แม้จะมี “โครงการโซลาร์ประชาชน” ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนทั่วไปที่ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้การใช้พลังงานทางเลือกยังติดล็อก ได้แก่
- ราคาและระบบการคิดเงินแบบ Net Billing
- ปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ใช้ระบบ “Net Billing” กำหนดราคาค่าไฟที่ขายคืนเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอัตราต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกของการไฟฟ้า โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบอยู่ที่ 2.20 บาท/หน่วย ขณะที่ราคาขายปลีกไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาทกว่า/หน่วย ส่งผลให้หลายครอบครัว โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยได้อยู่บ้านในช่วงกลางวัน รู้สึกไม่คุ้มค่า เพราะไม่เพียงแต่จะไม่ได้ใช้ไฟที่ตัวเองผลิตเองได้ ในช่วงกลางคืนกลับต้องซื้อคืนในราคาที่แพงกว่า ราคาที่ตัวเองขายไฟได้
- การขออนุญาต
- การขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ มีขั้นตอน และมีค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น หลังคา ก็ต้องใช้ลายเซ็นวิศวกรในการตรวจสอบว่าหลังคาบ้านเราสามารถรับน้ำหนักแผงโซลาร์ได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งค่าบริการของวิศวกรยังไม่รวมส่วนอื่นก็ถึงหลักหมื่นบาท แปลว่าการติดตั้งโซลาร์มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องนี้จึงกลายเป็นตัวการที่ทำให้การลงทุนโซลาร์รูฟท็อปช้าลง
- ภาพจำ “โซลาร์” แพง
- การติดตั้งแผงโซลาร์ใช้งบประมาณ 200,000 บาท ทำให้คนมักมองว่าแพงและไม่กล้าลงทุน แต่ถ้าให้เปรียบกับการสร้างบ้าน 3,000,000 บาท แน่นอนว่าต้องขอสินเชื่อเหมือนกัน แต่ที่ต่างคือ “บ้าน” เราต้องหาเงินมาจ่าย ขณะ “โซลาร์” สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองและลดค่าใช้จ่ายได้
“ราคาติดตั้งโซลาร์จนถึงปัจจุบันน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้จำเป็นว่าต้องรออีกหน่อยถึงค่อยใช้ เพราะฉะนั้นตัดสินใจได้เลย ส่วนเรื่องการขออนุญาต ตอนนี้ดีขึ้นบางส่วนแล้ว และบางสถาบันการเงินเริ่มให้กู้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ‘ราคารับซื้อ’ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราได้ยินนักการเมืองบอกว่าจะสนับสนุนระบบ Net Metering ให้ราคาขายสมดุลกับราคาซื้อกลับคืน แต่ผ่านไปกว่า 1 ปี ก็ยังไม่เห็นการยกระดับตามที่พูดไว้”
เดชรัต สุขกำเนิด
แก้ร่าง PDP 2024 ในช่วงหลุมอากาศทางการเมืองคือเรื่องด่วนสุด
เมื่อเดือนที่ผ่านมามีข่าวปรากฏให้เห็นว่า ร่างแผน PDP 2024 พิจารณาใกล้เสร็จแล้ว เหลือเพียงข้อเดียวที่ต้องทบทวนคือ “การผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน” ทั้งที่ยังมีเสียงของประชาชนอยากให้ปรับใหม่ โดยมีใจความสำคัญให้ลดสัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลง เร่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้มากขึ้น และเปิดเสรีไฟฟ้าให้ประชาชนสามารถร่างสัญญาซื้อขายระหว่างกันได้
โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่ม ในมุมมองของผู้ร่วมเสวนามองตรงกันว่าเป็นการพยากรณ์การใช้ปริมาณไฟที่เกินจริง ทำให้ประเทศไทยต้องจ่าย “ค่าความพร้อม” เพื่อสำรองไฟที่ผลิตได้มากเกินจริง กลายเป็นต้นทุนของผู้ผลิตที่ผลักไปเป็นภาระของประชาชนในรูปแบบของ “ค่าไฟ” ที่แพงขึ้น
ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากชุดอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มาเป็น นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ถือเป็นช่วงหลุมอากาศที่มีโอกาสเสนอให้เปลี่ยนร่างแผน PDP 2024 ได้ใหม่ นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสุดที่ควรทำ
โดยต้องผลักดันต่อผ่านกระบวนการที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร คุยกับรัฐบาล หรือการผลักดันของภาคประชาสังคม แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เห็นคือ การพยากรณ์ที่เกินจริงทำให้กลายเป็นต้นทุนอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
“3 เหลี่ยมความสมดุลของระบบไฟฟ้า ‘ความมั่นคง’ ไทยเรามีทรัพยากรเยอะ ‘ความยั่งยืน’ หรือเรื่องของพลังงานสะอาด เราอาจมีน้อยอยู่ แต่อีกเหลี่ยมที่ควรตั้งคำถามคือ ‘ความมั่งคั่ง’ ที่จริงแล้วคือของใคร ไม่ควรพยายามสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองโดยเอาประชาชนไปรองรับ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องยอมอีกต่อไป แต่ปัญหาคือใครจะรับผิดชอบจากการพยากรณ์ที่เกินจริง ถ้าเกินจริง 10% เราอาจรับได้ แต่ถ้ากำลังสำรองเกินไป 40-50% รัฐทำไมถึงไม่พร้อมรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเอง”
เดชรัต สุขกำเนิด
ข้อเสนอระยะยาว พาไทยถึงเป้า “พลังงานสะอาด”
คนที่รับผิดชอบคือคนไทยที่ต้องรับภาระในรูปแบบของ “ค่าไฟแพง” ในวงเสวนามองว่าเมื่อแก้ร่างแผน PDP 2024 ได้แล้วข้อเสนอระยะยาวที่ควรทำต่อคือ
- ออกแบบระบบไฟฟ้าให้สอดคล้องบริบทชุมชน
- เปิดโอกาสทางกฎหมาย ให้ประชาชนสามารถมีระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลจากการจ่ายไฟของการไฟฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องยอมรับข้อเสนอจาก กฟผ.ว่าถ้าอยากมีไฟฟ้าใช้ จะต้องใช้ของการไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อให้ชุมชนสามารถยกระดับตัวเอง ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นชุมชนตัวอย่างด้านไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้
- มีเงินลงทุน/นโยบายรองรับการใช้พลังงานสะอาด เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ใช้พลังงานสะอาดในระดับครัวเรือน ชุมชน และองค์กร
- ยกระดับหนังสือรับรอง (Certificate) พลังงานสะอาด ให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- เปิดการแข่งขันการผลิต เพิ่มโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปรับบทบาทให้โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซให้เป็นตัวเสริมความมั่นคงในช่วงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และอนุมัติระบบ Net Metering
- เปิดให้ผู้ผลิตทุกรายเข้าสู่สายส่ง โดยการไฟฟ้าสามารถกำหนดค่าผ่านสายส่งได้ พร้อมจัดตั้งศูนย์ Demand Response เพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าของสถานีไฟฟ้าย่อยในยามที่เกิดปัญหาการจ่ายไฟ รวมถึงพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน อย่างเทคโนโลยีแบตเตอรี่
- ขายไฟให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรม กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายต้องร่วมกับผิดขอบต้นทุนความมั่นคงด้านไฟฟ้า
ราคาพลังงานสะอาดไม่จำเป็นต้องถูกสุด แต่ต้องเหมาะสม
“เราไม่ได้ต้องการราคาพลังงานที่ถูกที่สุด แต่ต้องการราคาที่เหมาะสม เพราะต้องมองสิ่งที่ตอบโจทย์กลับมาให้กับเศรษฐกิจฐานรากด้วย อย่างราคาชีวมวลกับโซลาร์ มีการวิเคราะห์ว่าให้ประโยชน์กับชุมชน โซลาร์อาจใช้ 2 คนทำ ขณะชีวมวลใช้คนลุ่ม ๆ 100 คน ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ซื้อเศษผลิตผลทางการเกษตรก็ทำให้เกิดธุรกิจ เงินหมุนเวียน 4 เท่า ขณะโซลาร์ได้เท่าตัว”
นที สิทธิประศาสน์
การลงทุนด้านพลังงานสะอาด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ในอดีตรัฐเคยรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ซึ่งแปรรูปมาจากวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรหรือมูลปศุสัตว์ แต่ในวันนี้ปล่อยทิ้งหมดแล้ว ทำให้ธุรกิจนี้ถูกกดราคาและหลายเจ้าต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย
ในบริบทของเมืองไทย เราสามารถขับเคลื่อนพลังงานสะอาดได้หลายอย่าง ทั้งจากลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ รวมถึงชีวมวล ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ยังทำให้ระบบไฟฟ้าไทยมีความยั่งยืน เพราะเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นภายในประเทศ
สงครามรัสเซียยูเครนเป็นตัวพิสูจน์แล้วว่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาผันผวนตามราคาตลาดโลก ไม่ใช่ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยอีกต่อไป สิ่งที่จะเป็นทางรอดของประเทศคือ “พลังงานสะอาด” ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมกันผลักดันเพื่อ “คลายล็อก” นโยบาย ให้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเดินหน้าต่อไปได้