ผ่านไปกว่า 1 เกือนหลังรัฐบาลแจกเงินสด 10,000 บาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การบริโภคขยับขึ้น หนุนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวทั้งระบบ หรือ เกิด “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” ตามที่รัฐบาลคาดหวัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยใน ต.ค. 67 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น
ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ไม่รวมรถยนต์และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดที่ไม่ใช่อาหารปรับลดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า
ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ภาคการค้า และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจไทย ต.ค. 67
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนชะลอลงส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-haul) โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวพำนักในไทยสะสม ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มยุโรป รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อวันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) โดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นใน 1) หมวดสินค้าไม่คงทน จากปริมาณการใช้น้ำมันและยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว และยาสูบ 2) หมวดสินค้าคงทน ตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 3) หมวดสินค้ากึ่งคงทน จากปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้า และ 4) หมวดบริการ จากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ลดลง
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากหมวด 1) เคมีภัณฑ์ ตามการผลิตยา 2) เครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการซื้อทดแทนหลังน้ำท่วมคลี่คลาย และ 3) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากอาหารสัตว์สำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์นม อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ ปิโตรเลียม จากปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกที่ชะลอลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปยังตลาดอาเซียน ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปลดลง หลังปัญหาการขาดแคลนอุปทานของประเทศคู่ค้าคลี่คลายต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันปาล์มและยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา รวมถึงหมวดยานยนต์ลดลงตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน 2) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์จากญี่ปุ่นและจีน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตาม 1) การนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในงานทั่วไป มอเตอร์ไฟฟ้า และเรือ 2) ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ จากเครื่องจักรและเครื่องมือทั่วไป และ 3) ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามรถแทรกเตอร์ สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ อิฐบล็อก ซีเมนต์ และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับดีขึ้นจากพื้นที่ฯ เพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของหน่วยงานด้านคมนาคมและด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการเบิกจ่ายในโครงการด้านการสื่อสารและสาธารณูปโภค
ตลาดแรงงานแย่ลง ตกงานเพิ่ม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยราคาอาหารปรับสูงขึ้น แต่ราคาของใช้ส่วนตัวปรับลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า
ตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ภาคการค้ายานยนต์ และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และการค้า
ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนส่ง รวมถึงการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและร้านอาหาร สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
วิจัยกรุงศรีคาดหนุนเศรษฐกิจปี 67 โต 2.7%
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจาก 3.0% ในไตรมาสที่ 3 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น การแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางราว 14 ล้านคน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น นอกจากนี้ ฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนยังช่วยเสริมให้การเติบโตในไตรมาสนี้เด่นชัดยิ่งขึ้น
วิจัยกรุงศรีจึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 เป็น 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 2.4%
แรงหนุนเศรษฐกิจปี 68 โตได้ 2.9%
สำหรับปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 2.9% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญดังนี้
(1) การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้น ตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4.5% ของ GDP และการจัดสรรงบลงทุนสูงถึง 0.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% จากปีงบประมาณก่อนหน้า ช่วยสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
(2) ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 40 ล้านคนในปี 2568 จาก 35.6 ล้านคนในปี 2567 ปัจจัยหนุนมาจากแรงส่งด้านความต้องการเดินทางต่างประเทศ ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี
(3) การลงทุนโดยรวม คาดว่าจะเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเร่งลงทุนของภาครัฐ ในขณะที่การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะพลิกเป็นบวกเล็กน้อย ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมหลัก
(4) การส่งออก มีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ในปี 2568 แม้จะชะลอลงบ้างจากปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.9% ปี 2567 ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทรงตัว ความตึงเครียดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศ
(5) การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GDP growth) ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567
คาดกนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งต้นปี 68
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.00% ในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อบรรเทาความตึงตัวของภาวะทางการเงินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ซึ่งใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายของทางการ แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2567 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำและเอื้อให้กนง.สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้บ้าง
พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
แต่ความเสี่ยงและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในและภายนอกยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม อาทิ ความตึงเครียดทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทะลักเข้าของสินค้านำเข้าจากจีน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งแรกของปี รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงซึ่งจะยังคงกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
แจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจชั่วคราว แนะเร่งแก้โครงสร้าง