รัฐบาลปรับรูปแบบโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ด้วยการแจกเงินจำนวน 142,000 ล้านบาท ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผ่านบัญชีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการ จำนวน 14.2 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. 67 คิดเป็นประมาณ 0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งรัฐบาลไม่มีข้อจำกัดการใช้จ่ายใด ๆ
กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกระยะสั้นจากนโยบายแจกเงินในไตรมาส 4 ปี 67 โดยการใช้เงิน 1 บาทจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.3 บาท เนื่องจากกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินมีโอกาสที่จะใช้เงินไปเพื่อการจ่ายหนี้คืนหรือซื้อสินค้าที่มีส่วนของการนำเข้า จะทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับเงินที่แจกให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567/68 ยังมีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 150,000-180,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8-0.9% ของ GDP สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การนำเงินก้อนนี้ไปใช้ดำเนินนโยบายยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะใช้เงินก้อนนี้เพื่อทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) สำหรับคนอีกประมาณ 20 ล้านคนที่ ได้ลงทะเบียนไว้ในช่วงก่อนหน้า KKP Research มองว่าการแจกเงินก้อนที่สองจะมีการใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 3 ปี 2568 และช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้ใกล้ระดับ 3% ในปี 2568
KKP Research ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2024 จาก 2.6% ขึ้นเป็น 2.8% และปี 2025 จาก 2.8% ขึ้นเป็น 3.0% เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวชั่วคราวของเศรษฐกิจจากสองปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ
- มาตรการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางในช่วงไตรมาส 4 ปี 2024 และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ตั้งรอไว้สำหรับปี 2025 จะส่งผลบวกต่อการเติบโตของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทน
- การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากแรงกดดันเชิงโครงสร้างในหลายประเด็น KKP Research ประเมินว่า การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยยังเป็นการปรับตัวดีขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงไตรมาส 4 ปี 67 ถึงกลางปี 68 แต่หากยังไม่มีการผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม เศรษฐกิจไทยจะกลับมามีแนวโน้มโตต่ำกว่า 2.5%
สำหรับ 4 แรงกดดันเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ
1. โครงสร้างประชากร โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันกำลังเป็นปัจจัยลบต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จากจำนวนคนวัยทำงานที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2015 ทำให้โครงสร้างประชากรกลายเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
2. ความสามารถในการแข่งขัน ภาคการผลิตไทยเผชิญกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี โดยการผลิตมีทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่องจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศจีน โดยหนึ่งในสัญญาณสำคัญคือการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนที่ปรับตัวเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
3. ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนไทยหดตัวลงรุนแรงถึง 5.7% ในไตรมาส 2 ของปีสูงกว่าที่คาดไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการผลิตไทยที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในขณะที่การลงทุนในกลุ่มการก่อสร้างหดตัวลงเช่นกันตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ
4. สถานะทางการเงินของครัวเรือนที่อ่อนแอ โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 80% ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มฉุดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว หนี้ครัวเรือนในระดับสูงและรายได้ครัวเรือนที่เติบโตได้ไม่ดี ส่งผลให้หนี้เสียในภาคธนาคารเริ่มปรับตัวสูงขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาสอดคล้องกับยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีแนวโน้มหดตัวลง
นอกจากนี้ รัฐบาลมีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่และแนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทยที่มั่นคงขึ้นในระยะสั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนมีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการในสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย โดยภาครัฐมีการประกาศแผนแก้ปัญหาในหลายประเด็น โดยนโยบายที่สำคัญ คือ 1) การปรับโครงสร้างหนี้ 2) การส่งเสริมและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางจากการแข่งขันจากต่างประเทศ 3) การให้ความช่วยเหลือด้านราคาพลังงานและสาธารณูปโภค 4) การดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ และ 5) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
KKP Research มีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของภาครัฐ จากหลายนโยบายยังไม่มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน และเป็นนโยบายที่มีทั้งผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทยที่ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการดำเนินนโยบายภาครัฐ และข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะของภาครัฐ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP ของภาครัฐกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับ 70% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะก่อนแผนการใช้นโยบายขาดดุลการคลังที่มากขึ้นในอนาคต
ที่มา: KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง