รัฐบาลร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเตรียมออกมาตรการ “ลดภาระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก” โดยมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงและประสบปัญหาในการชำระหนี้ โดยผ่านแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่องวด โดยผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และพักชำระดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: พักดอกเบี้ยรายย่อย ช่วยลูกหนี้ “บ้าน-รถ-เอสเอ็มอี”
มาตรการดังกล่าวแทบจะ “ลอกแบบ”มาจากมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการไปตั้งแต่ปีก่อน เพียงแต่ต่างกันตรงที่มาตรการนี้ไม่ได้พักชำระ “เงินต้น” แต่พักเฉพาะ “ดอกเบี้ย” และหากทำตัวดี ๆ ตามเงื่อนไขก็จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ย เท่ากับว่าจ่ายเฉพาะเงินต้น แต่ลูกหนี้จะทำได้ตามเงื่อนไขหรือไม่นั้น ขึ้นกับลูกหนี้แต่ละรายในการทำข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้
มาตรการของรัฐบาลทุกมาตรการมักจะมีต้นทุนเสมอ อย่างกรณี “พักหนี้เกษตรกร” รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมาจ่ายดอกเบี้ยหนี้เกษตรกรและค่าบริหารจัดการโครงการให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เช่นเดียวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในครั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินมาดำเนินโครงการ แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน นั่นคือ บรรดาสถาบันการเงิน ซึ่งคุยไม่ง่ายเหมือนกับธ.ก.ส.ที่เป็นธนาคารรัฐ ดังนั้นจึงต้องมีต้นทุน
ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่าต้นทุนที่ภาครัฐต้องจ่ายเป็นตัวเงิน คือ การลดอัตรานำส่งเงินเข้าสถาบันเงินฝากจาก 0.46% ที่เก็บจากสถาบันการเงิน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินหรือสร้างแรงจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ เหมือนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในสมัยรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่ในครั้งนั้นไม่มีการช่วยเหลือดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม หากดูมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในครั้งนี้ เป็นเหมือนกับการ “ผนวก” หลักการจาก 2 มาตรการ คือ การพักหนี้เกษตรกรกับการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงโควิด-19 แม้จะอ้างเหตุผลว่าเป็นมาตรการแก้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนเกิดกำลังซื้อในระยะต่อไปหากสามารถแก้หนี้ได้ แต่การแก้ปัญหาหนี้ไม่ได้ตรงไปตรงมาง่าย ๆ เช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศ อาทิ รายได้ การจ้างงาน ฯลฯ
ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าต้นทุน “แฝง” ที่รัฐบาลไม่ได้จ่ายผ่านงบประมาณโดยตรง แต่ผ่านกลไกรัฐนั้นมีมากน้อยแค่ไหน แต่“ความเสี่ยง”ที่กำลังก่อตัวขึ้นในระยะข้างหน้า คือ ปัญหาที่เรียกว่า Moral Hazard ซึ่งราชบัณฑิตแปลเป็นไทยว่า ภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม,ภาวะภัยทางศีลธรรม,ความเสี่ยงทางศีลธรรมจรรยา หรือ อาจจะพบคำในความหมายเดียวกันว่า จรรยาสามานย์ อันตรายทางศิลธรรม ภัยทางศิลธรรม ความเสี่ยงทางศิลธรรม และ อันตรายบนศิลธรรม
Moral Hazard หรือ ภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม มักจะใช้อธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ที่กล่าวถึง “ผู้ที่สร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ตัวเองรู้อยู่แล้วว่าไม่ต้องรับความเสี่ยงหรือรับความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น” อย่างกรณี การก่อหนี้เกินตัว แต่คาดหมายว่าอีกไม่นานรัฐบาลก็จะมีมาตรการมาช่วยเหลือ หรือ กรณีการปลูกข้าวของเกษตรกร ที่มีความเสี่ยงขาดทุนจากความไม่แน่นอนและต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ยอมเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่รายได้มากกว่าเพราะคิดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ
อ่านเพิ่มเติม: ทำอย่างไรก้าวให้พ้น วงจรอุบาทว์ ประชานิยมภาคเกษตร
ดังนั้น มาตรการ“ลดภาระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก” ที่รัฐบาลกำลังจะประกาศออกมา หรือ เรียกอีกความหมายคือ “มาตรการกึ่งพักหนี้” เพราะพักเฉพาะดอกเบี้ย กำลังสร้างความเสี่ยง 2 ประการ คือ ประการแรก ความเสี่ยงต่อสถานะของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่สถาบันการเงินจะนำส่งลดลง ซึ่งกระทบต่อฐานะหากเกิดปัญหาสถาบันการเงินล้มขึ้นมา (มีการประเมินว่ายังไม่มีความเสี่ยง) เพราะต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ฝากเงิน (ปัจจุบัน ก.ค. 67 มีวงเงินคุ้มครอง 16.19 ล้านล้านบาท)
ประการที่สอง ความเสี่ยงต่อการสร้างวัฒนธรรมเบี้ยวหนี้ ที่เกิดจาก ภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม จาก “มาตรการกึ่งพักหนี้” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วนี้ และอาจถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีขอบเขตขยายออกไปอย่างกว้างขวาง และผลสุดท้ายกลายเป็นการก่อตัวของวัฒนธรรมเบี้ยวหนี้ทีละน้อย ๆ ( คำชี้แจงของสมาคมธนาคารไทยก็ดูหมือนตระหนักถึงประเด็นนี้) และผลสุดท้ายก็จะกลายเป็นความเสี่ยงของระบบการเงิน ซึ่งลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสถาบันการเงินไม่เต็มใจปล่อยสินเชื่อในเศรษฐกิจยุคใหม่
ยิ่งกว่านั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากวัฒนธรรมเบี้ยวหนี้และรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กำลังจะกลายเป็นประเพณี “ทางการเมือง”ของประเทศ ทุกพรรคการเมืองมักจะมีนโยบายหาเสียงและดำเนินนโยบายสร้างความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้ “ชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป” ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้ การเมืองไทยกำลังสร้าง “ภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม” เสียเอง โดยการโยนความเสี่ยงทางการเมืองของตัวเอง ไปให้สังคมเป็นผู้รับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ผลวิจัยชี้ชัดนโยบายพักหนี้ “ยิ่งพัก หนี้ยิ่งเพิ่ม”
หนี้สิน-ที่ดินทำกิน-ราคาพืชผล นโยบาย“ไม่เคยเปลี่ยน”