ภาคเกษตรไทยนับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก จากปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องความยากจน ผลผลิตภาพการผลิต แรงงานภาคเกษตร แต่รัฐบาลกลับไม่มีนโยบายพัฒนาภาคเกษตรอย่างจริงจัง ทำให้ภาคเกษตรของไทยล้าหลัง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม จนอาจทำให้ภาคเกษตรของไทยหลุดออกจากการแข่งขันในตลาดโลก
เพราะนโยบายภาคเกษตรของรัฐบาล ติดกับดัก “ประชานิยม” ทำให้เกษตรกรไม่มีการพัฒนาตัวเอง จนไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนและทำให้ต้องรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลภายใต้โครงการต่าง ๆ ที่ทุกรัฐบาลจะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ
ภาคเกษตรไทยไม่ได้พัฒนาไปไหน ทั้งในเรื่องผลผลิตและตลาด ในขณะที่เกษตรกรก็ยากจนลง แต่มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และเมื่อเผชิญกับสถานการณ์สังคมสูงอายุ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุ จะส่งผลกระทบการผลิตลดลงและในที่สุดแล้วจะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งในที่สุดก็จะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกร และออกมาตรการช่วยเหลือหลายด้าน รวมทั้งการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมขึ้นมา แต่หากมองในระยะยาว หรือ การพัฒนาภาคเกษตไทย จะเห็นว่านโยบายช่วยเหลือระยะสั้น โดยไม่มีนโยบายระยะยาว จะส่งผลเสียต่อเกษตรกรมากกว่า
Policy Watch พูดคุยกับศาสตราจารย์ สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร ที่มองผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคต่อภาคเกษตรด้วยความเป็นห่วง ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามาผิดทาง และในที่สุดแล้วทั้งรัฐบาลและเกษตรกร ต่างติด “กับดักประชานิยม” จนยากจะแก้ไขได้โดยง่าย
อยากให้ประเมินนโยบายพักหนี้เกษตรกร
การพักหนี้เกษตรกรของรัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2566 และต่อ 2567 มาอีกรอบหนึ่ง คราวนี้เมื่อ 30 ก.ย.67 ก็ขยายเวลาเป็น 2568 แล้วก็จะต่อไปถึง 2569 ด้วย ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีกระบวนการที่จะไปประเมินว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เกษตรกรฟื้นตัวได้ขนาดไหน แล้วก็การพักหนี้ เกษตรเอาเงินที่ไม่ต้องชำระหนี้ไปใช้ในการสร้างกิจกรรมในการผลิตที่มีประโยชน์กับไร่นา สร้างรายได้เพิ่มมากน้อยขนาดไหน
คิดว่าข้อมูลในส่วนเหล่านี้ รัฐบาลขาดแคลน แต่ว่าอาจจะใช้เป็นประเพณีทางการเมืองก็ได้ ที่จะใช้ในลักษณะอย่างนี้เข้ามา เพื่อเอาใจชาวบ้าน
แต่การพักชำระหนี้ที่ยาวนานออกไป สร้างผลเสียกับระบบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบสินเชื่อครัวเรือนในชนบท เพราะว่าจะก่อให้เกิดความเคยชินของเกษตรกร ไม่ต้องชำระก็ได้ และก็จะเคยชินต่อไปอีกว่า เดี๋ยวรัฐบาลก็มาจ่ายดอกเบี้ยให้อีก โอกาสที่จะไปตัดต้น-ตัดดอกเบี้ยของเงินที่พักอยู่ก็จำกัด และโอกาสที่จะเอาเงินไปสร้างกิจกรรมการผลิตใหม่ ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ภาคการเกษตรอ่อนแอลงไปอีกขั้นหนึ่ง
อันนี้ต้องพึงระวังให้ดีด้วย แต่คิดว่าอาจจะต้องมีหน่วยงานวิชาการลองไปตรวจสอบหาข้อมูลเหล่านี้ดู อาจจะเป็นคำตอบให้รัฐบาลได้เห็นภาพว่า การพักหนี้ระยะยาว ๆ แล้วก่อปัญหายังไง
เคยมีการวิจัยพักหนี้เกษตรกรไหม?
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เคยทำงานวิจัยไว้ คิดว่าอันนั้นก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างในวิจัยดังกล่าวก็จะเห็นภาพว่า ถ้าทำแล้วเห็นว่าไม่ดีก็ควรจะเลิก หรือว่าหาทางอย่างอื่น หรือเอาเฉพาะกลุ่มที่เป็นปัญหาจริง ๆ เช่น กลุ่มคนชรา อันนั้นก็ต้องหามาตรการ แต่คิดว่ารัฐบาลอาจจะต้องแบ่งกลุ่มถ้าหากจะพักหนี้ คือ
1.กลุ่มที่มีความสามารถทำการผลิตได้ดี ยังอยู่ในวัยที่ทำการผลิตได้ และกิจกรรมการผลิตในฟาร์มไปได้ดี อาจจะหาทางส่งเสริมจูงใจด้านอื่น แทนที่จะดึงให้เขามาร่วมกับโครงการพักหนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าพอเขามาร่วมแล้วเขาจะดีขึ้นหรือว่าจะแย่ลง
2.กลุ่มที่เคยพักบ้างและก็ไม่พักบ้าง อันนี้ก็อาจจะต้องไปดูว่า จะทำยังไงถึงทำให้กลไกในการผลิตเขามีรายได้สม่ำเสมอขึ้น คิดว่าการทำให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอสำคัญ เพราะว่าปัจจุบันนี้ถ้าเอาข้าวเป็นตัวหลัก รายได้เขาจำกัดมาก เพราะอยู่กับพืชเชิงเดี่ยว อย่างในอีสานปลูกปีละครั้ง ในเขตชลประทานก็อาจจะสองครั้ง แล้วบางปีน้ำน้อย คนที่อยู่ไกลเขตชลประทานก็อาจจะทำไม่ได้ ก็จะมีรายได้ที่ค่อนข้างจำกัด แล้วก็ไม่สม่ำเสมอ
ปีที่ผ่านมาคิดว่าหนี้ควรจะลดลง เพราะเห็นว่ารายได้จากข้าวสูงขึ้น ราคาข้าวปรับตัวจาก 8,000 บาทต่อตัน มาเป็น 11,000 บาทต่อตัน รายได้เพิ่มมาตั้ง 4,000 บาท ส่วนนี้ถ้าเกษตรกรมีวินัยในการใช้สินเชื่อที่ดี พอครบกำหนดแล้วก็ไปใช้หนี้ ก็จะช่วยผ่อนภาระที่เกิดขึ้นได้
แต่คิดว่านโยบายบางอันรัฐบาลจูงในให้เกษตรกรละเลยในส่วนเหล่านี้ ซึ่งก็ต้องไปนั่งดูว่าถ้าจะทำนโยบายที่มีกลไกลที่จะทำให้คนหลุดพ้นได้ นโยบายควรจะเป็นยังไง ควรจะมีกลไกอะไรมาเสริมให้เกิดขึ้น
ทำไมภาครัฐไม่เคยประเมินโครงการช่วยเหลือเกษตรกร?
ในอดีต ถ้าจะมีก็ประเมินแบบทุกอย่างออกมาดีหมด แม้แต่จำนำข้าวในสมัยก่อนก็ออกมาดีหมด เพราะผมเคยเห็นรายงานการประเมิน ดังนั้นควรเอาหน่วยงานที่เป็นวิชาการจริง ๆ ไปทำก็จะได้ผล ผมไปประเทศจีน กรมการเมืองเขาเล่าให้ฟังว่าทำไมจีนถึงลดความยากจนได้ คือ หน่วยราชการในพื้นที่ต้องลงไปเกาะติดกับครัวเรือน และให้คำแนะนำกำกับ วิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือน จริง ๆ แล้วปัญหารายได้น้อย อย่างครัวเรือนเกษตร แตกต่างกันเพราะอะไร ทำไมครัวเรือนนี้ถึงรายได้น้อย น้อยเพราะเขาสูงวัย มีคนในครัวเรือนที่แก่ชรา ทำงานไม่ได้ หรือมีลูกหลานที่พิการอยู่ หรือประสบอุบัติเหตุ หรือเพราะว่าภัยแล้งปีนี้ทำให้ผลผลิตที่จะได้มันกลับไม่ได้ เหล่านี้ก็จะมีรากของปัญหาที่แตกต่างกัน
เพราะฉะนั้นการให้สินเชื่อที่ดีของธนาคารในอดีต คิดว่าเปลี่ยนแปลงเยอะไปมาก จากที่ อาจารย์จำเนียร สาระนาค เคยให้บริบทสินเชื่อเกษตรไว้ว่า การให้สินเชื่อที่ดีเป็นเรื่องของการให้สินเชื่อแบบมีการกำกับแนะนำ ซึ่งในประเทศจีนจะให้สินเชื่อแบบกำกับแนะนำ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญไปกำกับแนะนำชาวบ้าน และดูในเรื่องของระบบการเงินครัวเรือนที่เข้ามา ซึ่งอันนี้ก็จะเห็นว่าเราสามารถที่จะมีข้อมูลในระดับครัวเรือนที่จะวิเคราะห์ได้ และแก้ไขได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเห็นว่าในระยะยาว ก็จะแก้ไขคนให้หลุดพ้นหนี้สินได้
แต่ว่าถ้าเป็นแบบครัวเรือนที่มีหนี้สิน 3 แสนบาท แล้วให้พักหนี้โดยที่ไม่ได้แยกกลุ่มให้ชัดเจน ไม่มีกลไกแก้ปัญหาชัดเจน ก็จะทำให้เขาเป็นหนี้เพิ่มขึ้นไปอีกในระยะยาว และก็จะเป็นภาระกับระบบการเงินของครัวเรือน และระบบสินเชื่อในชนบท
แต่ทุกครั้ง รัฐบาลก็บอกว่าแยกกลุ่มช่วยลูกหนี้เกษตรกร
อันนั้นก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง คือ คนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ก็ต้องไปดูว่าเขามีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพราะกิจกรรมอะไร เป็นเกษตรกรหนุ่มสาว หรือเป็นเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเป็นเกษตรกรที่ใช้การผลิตแบบผสมผสาน ไม่ใช่อยู่กับข้าวอย่างเดียว อย่างทำข้าว ปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงปศุสัตว์อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าวางแผนดี ๆ จะมีรายได้ทุกอาทิตย์ เพราะฉะนั้นเขาก็จะใช้ทรัพยากรในครัวเรือน ที่ดิน แรงงาน ค่อนข้างที่จะเข้มข้นมากขึ้น
แต่วันนี้คิดว่า จากข้อมูลเกษตรกรที่ทำนาข้าว เกษตรอยู่กับไร่นาตัวเองไม่เกิน 3 วันต่อกลบ กลบหนึ่งประมาณ 3 เดือนกว่า เพราะฉะนั้นลองคิดดูสิว่า ศักยภาพจะเกิดขึ้นในแง่ของการสร้างกระบวนผลิตไร่นาจะเป็นยังไง
เหมือนว่ารัฐบาลไม่รู้ปัญหาเกษตรกรที่แท้จริง?
ข้อมูลที่รัฐบาลมีจำกัดมาก การตัดสินใจบนฐานของข้อมูลที่คาดเดาว่าพักหนี้แล้วเกษตรกรจะดีขึ้น ถ้าฟังเสียงจากรัฐบาลก็คือว่า พักหนี้แล้วจะได้มีเงินส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องไปใช้ชำระดอกเบี้ย-ชำระเงินต้น เอามาลงทุนอะไรต่าง ๆ แต่คิดว่าในสถานการณ์เป็นจริงที่ผมสัมผัสกับเกษตกร มีบ้างใน 100 คน ไม่ถึง 20% ที่ไปทำอย่างนั้นจริง ๆ แต่ส่วนหนึ่งจะมีรายจ่ายอื่น ๆ ที่แทรกเข้ามาเต็มไปหมด ซึ่งเป็นรายจ่ายในแง่การบริโภคเป็นหลักใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นรายจ่ายการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักใหญ่แล้ว เราก็จะเห็นว่ามันหมดไป ไม่ได้ให้เกิดประสิทธิภาพ ในแง่ของกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการลงทุน เป็นการบริโภคหมดไป
เพราะฉะนั้นจะเห็นภาพว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดไว้ไม่ได้เป็นไปตามนั้น คือ จะไปสร้างศักยภาพเขาให้ดีขึ้น เรื่องระบบการเงินในชุมชนก็จะดีขึ้นตามมา อันนั้นเป็นการวาดฝันเกินไป เป็นมโนเกินไป เราน่าจะแก้ปัญหาโดยที่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เพราะสมัยนี้ถ้ามีฐานเก็บของข้อมูลดี ๆ จะสามารถวิเคราะห์อะไรต่าง ๆ ได้มากมาย
กระตุ้นบริโภคด้วยการอุดหนุน?
คิดว่าระยะสั้นอาจจะได้ แต่ว่าลองคิดดูว่าการบริโภคในสิ่งที่จำเป็นกับการบริโภคในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะแตกต่างกัน การบริโภคในชนบทวันนี้ ชาวบ้านหันไปดื่มเบียร์กันเยอะ ถ้าไปดูใต้ถุนบ้านก็จะมีขวดเบียร์เต็มไปหมด แล้วก็เรื่องการพนัน เรื่องหวยใต้ดินต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นปัจจัยแทรกเข้ามาหมด พอมีเงินสักหน่อย ก็จะไปใช้กับเรื่องความเสี่ยงในลักษณะเหล่านั้น
คิดว่าลักษณะอย่างนี้มันไม่ได้เกิดผลิตภาพ มันเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่เราหยิบยื่นให้เกษตรกรด้วยซ้ำ
ควรอุดหนุนเงินเกษตรกรต่อไหม?
คิดว่าควรลงเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เป็นปัญหาจริง ๆ เฉพาะกิจและเฉพาะที่ด้วย ที่ผ่านมาจะเห็นว่าข้าวราคาขึ้นก็ยังจะพยายามที่จะยกระดับราคาให้สูงขึ้นอีก คิดว่าไม่จำเป็นต้องไปทำอย่างนั้น สิ่งที่ดีที่สุดวันนี้เราไปลดในเรื่องของให้การอุดหนุน ลงมาในเรื่องของการสร้างโครงสร้างในการผลิตให้มันดีขึ้น ดูระยะกลางให้มากขึ้น การอุดหนุนทำมามากแล้ว 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เราเน้นแต่ในเรื่องของการที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายมากกว่าที่จะไปดูในเรื่องของการสร้างโครงสร้างในการผลิต
เพราะฉะนั้นถ้าเอาความสามารถในการแข่งขันมาเป็นตัวจับ ก็จะเห็นภาพได้ว่าประเทศไทยภาคเกษตรกำลังจะหลุดเทรนด์ของคู่แข่งไปหมดแล้ว เพราะต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรอยู่ในช่วงสูงวัย เทคโนโลยีก็ตามไม่ทัน เหล่านี้จะเป็นปัญหาที่ทำให้ต้นทุนการผลิตมันสูงขึ้น แข่งขันไม่ได้ ก็กลับมาที่เกษตรกร เพราะว่าปริมาณส่งออกที่ลดลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการผลิตที่หดตัวลง
อีกอย่างหนึ่งในอดีตคิดว่าเราไปแช่แข็งเกษตรกรให้อยู่กับการทำนา คือ การที่มีนโยบายให้การเงินอุดหนุนปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เพราะฉะนั้นคนก็ไม่อยากเปลี่ยนจากการทำข้าว ยิ่งสมัยแรก ๆ มีทั้งฤดูนาปรังก็ให้เงินไปอีกเพื่อจะปรับเปลี่ยนเป็นพืชอื่น ๆ เขาก็ทำเพื่อจะเอาเงินเท่านั้นเอง
นโยบายในลักษณะเหล่านี้ถ้านาน ๆ เข้า จะก่อให้เกิดปัญหา คนจะยึดติดว่าก็อยู่กับข้าว เดี๋ยวรัฐบาลก็มาจ่ายให้อีก แทนที่จะปรับไปเป็นพืชที่มีคุณภาพ พืชสวน ผักผลไม้ ในโครงสร้างตรงนั้นก็ไม่ได้ทำ พอมาวันนี้พืชผักผลไม้ ราคาสูงขึ้น ก็จะเห็นว่ามีกลุ่มนิดเดียวที่เขาปรับตัวเอง และก็อยู่รอดได้
แต่กลุ่มจำนวนมากก็ยังติดกับดักความจนอยู่ เพราะเห็นว่าติดกับดักกับเงินที่รัฐบาลให้มาอุดหนุน อันนี้เป็นข้อปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะยกระดับตัวเองจากการเป็นชาวนาไปเป็นชาวสวน ซึ่งต้องใช้ทักษะ
ตัวอย่างประเทศที่ยกระดับรายได้เกษตรกรสำเร็จ?
ผมคิดว่าระบบการเสริมสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรในลักษณะเหล่านี้ เรายังมีจำกัด ถ้าดูเงินงบวิจัยด้านการเกษตรของเรามีน้อยมาก ในข้าวมีอยู่ประมาณ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงที่อื่น ๆ ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเวียดนามมีเป็น 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงกันไม่ได้ในขนาดของการทำการวิจัย การตอบโจทย์ปัญหา การที่จะมีพืชพันธุ์ใหม่ ๆ
เวียดนามเขามีพันธุ์ข้าว เช่น OM5451 ST21 จนถึง ST25 เขามีเอกชนมาร่วมกับรัฐบาล ในแง่ของรัฐบาลพัฒนาพันธุ์และให้เอกชนนำไปขยายพันธุ์จนเป็นชุมชนขึ้นมา แล้วให้ชุมชนเอาเมล็ดพันเดิมมาแลกเพื่อที่จะเอาพันธุ์คุณภาพดีไปปลูก เพราะฉะนั้นในหนึ่งชุมชนแทนที่จะมี 100 พันธุ์ก็จะเหลือแค่พันธุ์ที่มีคุณภาพ การสร้าง Supply Procurement ของบริษัทส่งออกที่จะทำข้าวส่งออก เขาก็มีความชัดเจนในคุณภาพของข้าวที่เกิดขึ้น เขาก็ลดต้นทุนอยู่
ฉะนั้นในช่วง 12 ปีก่อน จากเดิมที่เวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้แค่ 2 แสนตัน มาถึงปีที่ผ่านมาส่งออกได้ 3.2 ล้านตัน ทำไมเขาก้าวกระโดดได้ถึงขนาดนั้น อันนี้เป็นข้อคำถามที่คิดว่าถ้าหากผู้ทำนโยบายการเกษตร หรือผู้บริหารในกระทรวงฯของไทย นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาดู ก็จะเห็นภาพว่าเรากำลังติดกับอะไรอยู่ กับนโยบายที่มีอยู่ เดิม ๆ ที่ใช้เมื่อ 5-10 ปีที่แล้วก็ยังใช้อยู่อย่างนั้นหรือไม่ หรือเราแค่เอาฐานเสียงมาเป็นตัวตั้ง แทนที่จะไปเสริมสร้างการแข่งขัน เพื่อจะยกระดับประเทศยกให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ต่ำมาเป็นรายได้สูง
เวียดนามใช้นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม โดยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มกำไร ลดต้นทุน ลดค่าปุ๋ย ลดค้าเมล็ดพันธุ์ วันนี้เขาทำสำเร็จแล้ว เขาทำตามสโลแกนออกมา คือ ข้าวที่เคยได้ 370 เหรียญ จนมาขาย 570 เหรียญ ใช้วิธีเท่าเดิม แต่ได้ราคาที่สูงขึ้น แถมยังมีผลิตภาพที่ดีขึ้นอีก ก็จะเห็นภาพว่าอันนี้ยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
ปัญหาหลักอยู่ที่นโยบายการเมือง?
การเมืองในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เราเน้นประชานิยมมากเกินไป โดยที่ไม่ได้เน้นในการเสริมสร้างศักยภาพ และผลิตภาพในการผลิตทรัพยากรที่มันมีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คือ มีทุนอยู่ 4 อย่าง ทุนมนุษย์ที่เป็นเกษตรกรก็ไม่ได้ Reskill (สร้างทักษะใหม่) และ Upskill (เพิ่ม-พัฒนาทักษะ) ในแง่ให้ตามเทคโนโลยีใหม่ให้ทัน ทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ระยะหลังเราทำน้อย มีแต่ถนนที่ทำกันเยอะมาก ระบบบริหารจัดการน้ำเราก็ยังดีไม่พอ มีชลประทานแค่ 25% เท่านั้น เวลาหน้าแล้งก็น้ำแล้ง หน้าฝนก็ยังน้ำท่วมอยู่ ทั้งที่เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ผมคิดว่าอันนี้คือการจัดการบริหารด้านโครงสร้างพื้นฐานของเรามันไม่ดี
เมื่อก่อนเราเคยทำเรื่องระบบตลาดกลางตามแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ฉบับที่ 6 เราทำตลาดกลางได้ดีในช่วงยุคหนึ่ง พอต่อมาเราก็ทำลายมันโดยโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูง ทำให้ตลาดกลางข้าวเปลือกสูญเสียไปหมด ซึ่งเป็นแหล่งที่รวบรวมข้าวเอาพันธุ์ต่าง ๆ ทำให้มีอำนาจต่อรองที่ดี มันหายไปหมดแล้ว
ทุกวันนี้ชาวบ้านเกี่ยวเสร็จก็ไปโรงสี ถ้าไม่ซื้อไม่ขายมันก็จะเน่า ก็ต้องยอมขาย เหมือนผีสิงป่าช้าอยู่วันยังค่ำ ก็กลายเป็นโรงสีก็จะเป็นจุดซื้อขายของชุมชนไป ซึ่งอำนาจต่อรองมันไม่มี
โครงสร้างเหล่านี้ คิดว่าผู้บริหารทั้งในด้านการเกษตร และผู้บริหารในอดีตที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญน้อย แต่กลับไปให้ความสำคัญกับด้านประชานิยม คือ การให้เงินอุดหนุน และอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขด้วย คือ แจกเปล่า อันนี้ยิ่งมหาโหดใหญ่เลย ทำให้คนติดกับดัก ถ้าทำแบบมีเงื่อนไข คือ ให้เงิน 1,000 บาท แต่ปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ ปรับปรุงไร่นาของเป็นเกษตรผสมผสานให้มากขึ้น ทำเศรษฐกิจพอเพียงให้เพิ่มขึ้นมาในกิจกรรมการผลิต
วันนี้ หากเกษตรกรจะมีรายได้สม่ำเสมอมากขึ้น มีรายได้เป็นอาทิตย์ คนที่สามารถคิดได้ทำได้มีรายได้เป็นอาทิตย์ เขาจะไม่จน ถ้าไปดูเกษตรกรแถวดำเนินสะดวก หรือแถวบ้านแผ้ว จะเห็นว่าเขาใช้ที่ดินทุก ๆ ตารางเมตรเกิดประโยชน์สูงสุด หลังจากมีพืชสวน พืชไม้ผลแล้ว เขายังมีพืชสวนแบบล้มลุก พืชผักบางอย่าง คู่ขนานไปอีก เพราะฉะนั้นรายได้ของเขาจะมีตลอดเวลา เก็บเกี่ยวได้ทั้งปี
เพราะฉะนั้นกระแสการเงินเขาก็ดี ถ้าเขาได้สินเชื่อมา เขาก็สามารถเอาไปลงทุนที่ก่อนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ว่าที่ผ่านมาเวลาเราให้สินเชื่อเกษตรกรไป ไม่ได้เน้นเรื่องของประสิทธิภาพ เพราะไม่มีสินเชื่อแบบมีเงื่อนไข ได้แต่ให้เงินเกษตรกรกู้ไป เมื่อก่อนกลุ่มค้ำประกันได้ 50,000 -60,000 บาท เดี๋ยวนี้เพิ่มขึ้นมาตั้ง 2-3 แสนบาท ยิ่งจูงใจให้เกษตรกรใช้เงินไปในทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพในการผลิตในไร่นา
มาถึงวันนี้ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรกลายเป็นหนี้สินที่เยอะมากขึ้น เมื่อผนวกในเรื่องความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ความไม่แน่นอนของกลไกราคาที่ผันผวน การระบาดโควิด-19 ก็เลยทำให้ทุกปัญหาซับซ้อนที่เกิดขึ้นของเกษตรมันมากขึ้นไปอีก และก็ผันมาเป็นเรื่องของการเป็นหนี้สินที่มันพอกพูนเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างถ้าข้าวจะทำให้ได้สัก 800-1,000 กิโลกรัม จากเดิมเฉลี่ยอยู่ประมาณ 420 กิโลกรัม ต้นทุนก็ลดลงอยู่แล้ว รายได้เกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น การลงทุนในวิจัยเรื่องข้าวก็อาจจะต้องเน้นมากขึ้น เน้นในเรื่องของคุณภาพที่ตามมา แต่ว่าถ้าไปดูงบลงทุนวิจัยเหล่านี้ก็เห็นว่าจำกัดมาก ก็เลยกลายเป็นวัวพันลำไปหมด ผลิตภาพไม่เพิ่ม เงินในงานวิจัยก็ไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่ เทคโนโลยีใหม่มา แต่เกษตรกรก็ไม่สามาถใช้ได้ เพราะมันไม่เข้ากันอะไรหลาย ๆ อย่าง และเงินที่จ่ายไปก็เพื่อการบริโภคเป็นหลัก เหล่านี้ก็เลยหายไปหมดเงินที่เราทุ่มไป
ที่ผ่านมาให้เงินอุดหนุนเกษตรกรไป 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาลประยุทธ์ ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เอาของรัฐบาลเศรษฐามาอีก 11,069 ล้านบาท แต่ถามว่าเกษตรกรรวยขึ้นไหม ข้อมูลกลับปรากฏว่ากลายเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้นไปอีก มันย้อนแย้งอะไรสักอย่างหนึ่ง มันล้มเหลว
ยิ่งอุดหนุนมากขึ้น ภาระรัฐบาลยิ่งเพิ่มขึ้น?
วันนี้เรามีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราไม่ได้ทำ เพราะมาทำในการแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ แจกเงินไปเป็นแสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่กลุ่มเปราะบางก็น่าจะพอแล้วไหม ทำไมต้องไปถึงกลุ่มอื่น ๆ ด้วยที่ไม่จำเป็น แล้วก็ไปทำในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า มันดีกว่าในแง่ของการที่จะทำมองในอนาคตแล้วประเทศมีความหวังมากขึ้น ที่จะลุกขึ้นมาได้ และวิ่งไปข้างหน้าได้ ตอบสนองต่อตลาดการค้าได้
ถ้ายังเป็นอย่างนี้เราก็เหมือนติดกับดักอยู่วันยังค่ำ เราไม่มีทางหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงหรอก เพราะในแง่การบริหารประเทศถ้าเรายังเป็นแบบนี้
นักการเมืองมีแนวโน้มจะแจกเงินมากขึ้น?
ถ้านักการเมืองไปอิงกับกระแสนิยมก็จะเป็นอยู่อย่างนี้แหละ คิดว่าประชาชนคนไทยก็อาจจะต้องมานั่งคิดเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้น วิธีการที่เราจะเลือกนักการเมืองไปบริหารประเทศ เราจะเลือกอย่างไหน เลือกเพื่อประชานิยม หรือเลือกเพื่อที่จะไปสร้างประเทศให้แข่งขันได้ในอนาคตเนี่ย
เราคงต้องมานั่งคิดกัน แต่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ยากมาก หากพูดถึงคนในชนบท จะเห็นว่ากดเงินมา 1 หมื่นบาท ทุกคนก็จะดีใจว่าได้เงินฟรีแล้ว แต่ผมสะท้อนใจเพราะเป็นคนจ่ายภาษี ถ้าเอาเงินเราให้กลุ่มเปราะบางไปใช้ให้เกิดประโยชน์มันก็โอเค สร้างอะไรต่าง ๆ แต่ถ้าเอาไปใช้ไม่เกิดประโยชน์มาก เราก็สะท้อนใจว่าเสียภาษีแล้ว เงินเราไม่ได้ถูกรัฐบาลเอาไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ
ถ้านักการเมืองทำประชานิยมต่อไปจะเป็นอย่างไร?
ยกตัวอย่างอาเจนติน่า จะเห็นว่าเงินเฟ้อสุดโต่งเลย การผลิตต่าง ๆ ก็สู้เขาไม่ได้ อาหารขาดแคลน แม้ตัวเองจะมีทรัพยากรที่ดี เพราะฉะนั้นประชานิยมไม่ได้สร้างประเทศให้เข้มแข็งขึ้นได้ เห็นประเทศจีนกับเวียดนาม เป็นตัวอย่างที่ดีมากในแง่ของการพัฒนาการเกษตร ทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน เพราะไม่ได้ใช้กลไกของประชานิยม แต่ใช้กลไกของการเสริมสร้างประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพของทุน ในเชิงของทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากร ทุนทางสังคมหลาย ๆ อย่างเข้ามารวมกัน ทำให้ความเหนียวแน่นของชุมชนเข้มแข็งขึ้น ยกระดับขึ้นมา และต่อยอดSupply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ในสินค้าของเขา ให้เห็นซัพพลายเชนใหม่ ที่มี Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่า) ที่เกิดขึ้น
เมื่อก่อนเวียดนามขายสินค้าในราคาต่ำ ตอนวันนี้เวียดนามสามารถที่จะส่งสินค้าออก จีนเมื่อก่อนเป็นประเทศเทคโนโลยีไม่ได้เรื่องเลย ตอนเปิดประเทศใหม่ ๆ ตอนนี้เขาสามารถที่จะไปลงดวงจันทร์ได้ เทคโนโลยีก้าวกระโดด อันนี้คงต้องไปย้อนดูว่าทำไมพัฒนาได้เร็วขนาดนั้น ทำไมเขาแก้ปัญหาความยากจน เมื่อก่อนเขามีคนจนเยอะแยะมากในแต่ละมณฑล
ผมไปยูนาน ผู้บริหารมณฑลเล่าให้ฟังว่า เขาแก้ได้เป็นอันดับสองของประเทศ สามารถมีคนจนเหลือประมาณ 5% ของที่มีอยู่ เพราะใช้นโยบายของสี จิ้นผิง ไปดูแต่ละครัวเรือน แล้วก็วิเคราะห์แต่ละครัวเรือน แก้ปัญหาแต่ละครัวเรือนให้ตรงจุด อันนั้นแหละจะแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดขึ้นได้ ยกระดับรายได้ให้สูงขึ้นได้
เรากำลังสร้างค่านิยมที่คิดว่าเราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวรัฐบาลก็เอาเงินมาให้เรา ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก ค่านิยมควรจะออกมาว่าเราต้องทำงาน ต้องสร้างประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ต้องทำอะไรที่มีประโยชน์สร้างผลิตภาพให้ได้ อะไรต่าง ๆ ให้ได้ ถ้าให้ค่านิยมเหล่านี้ คนก็จะไม่ติดกับการแจกเงินของรัฐบาล เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ การเลือกตั้งในแต่ละครั้งที่จะมีต่อไป ก็จะออกมาว่า เดี๋ยวฉันจะแจกนู่น เดี๋ยวจะแจกนี่ เดี๋ยวจะแจกนั่น
ประชานิยมกระทบความมั่นคงการคลังไทย?
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าการส่งออกหดตัวลง เนื่องจากเราแข่งขันไม่ได้ รายได้เข้าประเทศก็จะไม่มี คนจ่ายภาษีวันนี้มีจริง ๆ ประมาณ 4 ล้านคน คนจ่ายภาษีต้องไปรองรับคนที่ไม่ได้จ่ายหนักมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไม่ได้ดีขึ้น ก็จะสะท้อนกลับมาว่าประเทศมันติดกับดัก และในช่วงอีก 10 ข้างหน้า จำนวนประชากรจะหดตัวลง คนทำงานจะลดลง คนสูงวัยก็จะมากขึ้นไปอีก
วันนี้เราอยู่ในสังคมสูงวัยแล้ว คนสูงวัยคือทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีสวัสดิการที่เข้ามาดูแลในเรื่องของการพยาบาลต่าง ๆ ที่จะต้องจัดให้คนกลุ่มเหล่านี้ ดังนั้นเงินที่จะเอามาใช้กับสิ่งเหล่านี้ถ้ามันไม่มี หรือจะต้องใช้ให้ได้ดั่งที่มันเป็นอยู่ ฐานการเงินก็จะค่อย ๆ หดตัว เหมือนกับเราจ่ายกันจนหมดถัง
เพราะฉะนั้นการบริหารประเทศที่ดี จะต้องดูถึงเรื่องของการบริหารภาคการคลังให้มั่นคงด้วย ไม่ใช่ว่าการคลังไม่มั่นคงแล้ว ถึงวันหนึ่ง เงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้นมาก ค่าของเงินก็ลดลงไปมาก อย่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงวันนี้ก็ประสบปัญหา ค่าครองชีพสูง เพราะว่าการคลังไม่มั่นคง เรากินอยู่ในเมืองไทยวันนี้ข้าวจานละ 50 บาท ก็ว่าแพงแล้ว แต่ของเขาอาจจะถึง 100 บาท เพราะว่าเงินอ่อนกว่าเราเป็นหลายเท่าตัว
อยากจะเสนออะไรกับนักการเมือง?
ควรจะลดนโยบายที่เป็นให้การอุดหนุน และประชานิยมที่แก้ปัญหาระยะสั้น แล้วมามุ่งแก้ปัญหาระยะกลาง ระยะยาวให้มากขึ้น เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพ เรามีทุนทรัพยากรที่ดีอยู่แล้ว แล้วก็เสริมทุนทรัพยากรให้เข้มแข็งขึ้น เสริมทรัพยากรเรื่องทุนให้มากขึ้น เรื่องการเกษตรเราจะสามารถเป็นศูนย์กลางของเกษตรและอาหารของโลกได้ในส่วนหนึ่งทีเดียว
ถ้าเราทำให้ดี ทำให้มันมีประสิทธิภาพ ให้ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน ซึ่งต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพราะว่ากติกาของโลกจะมีในเรื่องของโลกร้อน เราก็จะต้องดำเนินการเพื่อทำให้สินค้าของสามารถส่งออกได้ เพราะมิฉะนั้นในอนาคต ถ้าเจอปัญหาเรื่องข้อกีดกันทางการค้า เช่น ในเรื่อง CBAM (มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป) หรืออะไรต่าง ๆ ถ้าเราส่งออกไม่ได้ ก็จะเจอศึกหนักมากขึ้น เพราะว่าเราไม่รู้จะเอาไปขายใคร ถ้าขายตลาดในประเทศ ตลาดเราก็บางพอสมควร ประชากรไม่เยอะ ไม่เหมือนเมืองจีนที่เขายังอยู่ได้ เพราะประชากรเขาเป็นพันล้านคน เรามี 60 กว่าล้านคน และกำลังจะหดตัวลงมาถ้าเราไม่บริหารจัดการในส่วนเหล่านี้
ในเชิงของการที่จะไปดูเพิ่มศักยภาพของประเทศ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวนำร่องให้มากขึ้น ใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวเสริม ที่จะทำให้เราสามารถที่จะปรับตัวเอง ไปสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ได้
เกาหลีในสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น ก็ไม่ได้ต่างจากไทย แต่ว่าการเมืองเขาได้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูง แม้แต่ไต้หวัน ไปดูพัฒนาการเกษตรของเขาสิ พันธุ์ผลไม้ต่าง ๆ เราก็ไปหยิบยืมจากเขามาใช้ เวียดนามเองจากประเทศผู้เคยต้องนำเข้าข้าว วันนี้เขาสามารถเป็นผู้ส่งออกได้ และผันจากตัวเองประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ได้
คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ที่ผู้นำประเทศอาจต้องนั่งคิดในประเด็นเหล่านี้ แทนที่จะคิดอย่างเดียวว่าจะทำยังไงทำให้เงินดิจิทัลวอลเล็ตเกิด หรือไม่เกิดแค่ตรงนี้ คิดว่าเราใช้เวลากับทรัพยากรไปมหาศาล โดยที่เราละทิ้งด้านอื่นที่เราควรจะทำ แต่เราไม่ได้ทำไว้เยอะทีเดียว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง