ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานนโยบายพักหนี้ลูกหนี้รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 2,101,794 ราย
ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 1,855,433 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 257,248 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) จัดทำข้อตกลงต่อท้ายหนังสือกู้เงินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ จำนวน 1,414,272 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.22 ของผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ทั้งหมด ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 210,191 ล้านบาท และ
(2) อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารจำนวน 441,161 ราย ราย คิดเป็นร้อยละ 23.78 ของผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ทั้งหมด ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 47,057 ล้านบาท
สำหรับผู้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 290,648 ราย จากเป้าหมาย จำนวน 300,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.88 โดยมีผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวนประมาณ 482,194 ราย
โครงการพักหนี้ฯ เป็นไปตามที่รัฐบาลมีนโยบายพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในวันที่ 26 ก.ย. 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระที่มี ต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
ในครั้งนั้น มีการสำรวจเบื้องต้นว่าจะมีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวกว่า 2.69 ล้านราย โดยเกษตรกรต้องแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ พร้อมรับการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังการพักชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม หลังมีการตรวจพบว่าเกษตรกรผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 2,101,794 ราย
สำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการที่ประสงค์ชำระดอกเบี้ยค้างเดิมที่เกิดขึ้นก่อนเข้าร่วมมาตรการ ถ้าเป็นหนี้ปกติ ธ.ก.ส. จะเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยในอัตราส่วน 50:50 ของเงินที่นำมาชำระในแต่ละคราว และกรณีเป็นหนี้ค้างชำระ (NPL) ธนาคารจะจัดสรรชำระต้นเงินให้ทั้งจำนวนที่ลูกค้าส่งชำระในแต่ละคราว รวมทั้งสามารถเข้าร่วมมาตรการจูงใจตามโครงการชำระดีมีโชคของ ธ.ก.ส. ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกหนี้
นอกจากการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับภารกิจในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนลดภาระหนี้สินเกษตรกรรายย่อยและเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยในระหว่างการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีพ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม และอาชีพใหม่ ภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” โดยร่วมมือกับส่วนงานภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิต การลดต้นทุน การปรับปรุงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อสร้างรายได้ เป้าหมายเกษตรกร 300,000 คนต่อปี
แนวทางดังกล่าว เช่น การส่งเสริมการปลูกผักระยะสั้น โดยมีตัวอย่าง การปลูกผักบนแคร่ของชุมชนห้วยเสือเต้น จังหวัดขอนแก่น และการปลูกผักสลัดและมะเขือเทศทานสดของฟาร์มศุข จังหวัดศรีสะเกษ ที่ส่งจำหน่ายไปยังโรงแรมหรือโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัด ซึ่งช่วยส่งเสริมการบริโภคท้องถิ่น เป็นต้น พร้อมเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในการจัดหาปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนได้อย่างมั่นคง หลังการพักชำระหนี้
สำหรับลูกหนี้ที่ประสงค์จะออกจากการเข้าร่วมมาตรการจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อ ธ.ก.ส. โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องเป็นลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
- ลูกหนี้ที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อตามปกติกับ ธ.ก.ส. โดยก่อนการยื่นขอสินเชื่อ จะต้องสละสิทธิ์การเข้าร่วมมาตรการ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาวงเงินตามศักยภาพ
- กรณีลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น การไม่เข้าร่วมการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี หรือไม่เข้าร่วมการอบรมและฟื้นฟูการประกอบอาชีพที่ ธ.ก.ส. กำหนด หรือก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นระหว่างเข้าร่วมมาตรการ ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ออกจากมาตรการดังกล่าว