การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 อนุมัติมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท
โครงการังกล่าวจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 11,550 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 11,622 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ในฐานะที่รับผิดชอบโครงการพักหนี้ได้เสนอขออนุมัติ เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 2567
ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลัง จึงเสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และ 2570 จำนวนรวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท
มาตรการพักชำระหนี้ระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ มีหลักเกณฑ์การดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ดังนี้
วัตถุประสงค์
- เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
- เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส.
- เพื่อเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยน หรือขยายการประกอบอาชีพ และฟื้นฟูศักยภาพตนเองในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 (ทุกจังหวัดทั่วประเทศ) โดยเป็นผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 จำนวน 1.85 ล้านราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 240,836 ล้านบาท
ระยะเวลาโครงการ
- ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 (1 ปี)
- ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 (1 ปี)
งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ในอัตรา 4.50% ต่อปี โดยให้จัดสรรงบประมาณจ่ายคืน ธ.ก.ส. เต็มจำนวนเป็นรายปี แยกจากโครงการอื่นที่ได้รับชดเชยอย่างชัดเจนรวมกรอบวงเงินชดเชย จำนวน 21,172 ล้านบาท ดังนี้
- ระยะที่ 2 กรอบวงเงินชดเชย 10,550 ล้านบาท
- ระยะที่ 3 กรอบวงเงินชดเชย 10,622 ล้านบาท
2. รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท (สำหรับการอบรมเกษตรกรปีละประมาณ 300,000 ราย รายละ 3,000 บาท จำนวน 2 ปี)
แนวทางการดำเนินการ
ธ.ก.ส. ประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี [Loan Review (LR)] ของลูกหนี้เพื่อเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ฯ ในระยะต่อไป