ผ่านมา 1 ปี สำหรับการขับเคลื่อน “นโยบายสถานชีวาภิบาล” นับจากการประกาศเป็นหนึ่งในนโยบาย “ควิกวิน” ในช่วงที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แม้ถึงวันนี้จะมีการเพิ่มจำนวนสถานชีวาภิบาลได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ แต่ในการดำเนินการยังมีความไม่ชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบาย ที่เกี่ยวเนื่องกับ 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย มาจนถึงระดับปฏิบัติงานที่ยังไม่มีระบบรองรับชัดเจน ขาดความเข้าใจของบุคลากรในระดับปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณยังไม่ตอบโจทย์การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Policy Watch, The Active, Thai PBS และ องค์กรเครือข่าย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย วิเคราะห์ความท้าทาย และระดมความคิดหาคำตอบร่วมกัน ให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิตายดีอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ใน “Policy Forum ครั้งที่ 20 : 1 ปีนโยบายสถานชีวาภิบาล ความท้าทายสู่สิทธิการตายดี” โดยมี ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ดำเนินการสนทนา
จากแนวคิด “สิทธิตายดี” สู่นโยบายสถานชีวาภิบาล
การขับเคลื่อน “สิทธิตายดี” ในไทยเริ่มต้นจาความพยายามผลักดันให้ทุกคนมีสิทธิตามกฎหมาย
ในการแสดงเจตจำนงปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิต หรือที่เรียกว่า “Living Will” ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ก่อนที่ระบบสุขภาพไทยจะพัฒนาให้มีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) มากขึ้น
กระทั่งการเลือกตั้งปี 2566 หลายพรรคการเมืองเริ่มให้ความสำคัญและกำหนดให้การเข้าถึงสิทธิการตายดี เป็นนโยบายในการหาเสียง และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ได้เริ่มผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในชื่อ “นโยบายสถานชีวาภิบาล” ซึ่งรวมการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยระยะประคับประคอง มีที่มาจากศูนย์ดูแลประคับประคอง “ชีวาภิบาล” ของ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งมาจากการสมาสของคำสองคำ คือ “ชีวา” (ชีวิต) และ “อภิบาล” (การบำรุง) หมายถึงการบำรุงดูแลชีวิต
“พอใช้คำว่า ‘สถานชีวาภิบาล’ ทุกคนเลยนึกถึงสถานที่ แต่จริง ๆ แล้วคือนโยบายที่ให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลจนถึงวาระท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพบาบาล เพื่อทำให้โรงพยาบาลเข้มแข็ง และเชื่อมโยงกับทีมปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดการดูแลต่อในบ้านและชุมชน”
พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ประคับประคอง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
การเดินหน้านโยบายในระยะแรก “นพ.ชลน่าน” ให้การสร้างสถานชีวาภิบาลเป็นนโยบายควิกวิน (Quick Win) ของกระทรวงสาธารณสุข 100 วันแรก นับจากเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยกำหนดเป้าหมายให้ตั้งสถานชีวาภิบาล เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และสร้างบริการผู้ป่วยในที่บ้าน เขตสุขภาพละ 1 แห่ง จนมาในยุคของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ยังเดินหน้าต่อภารกิจ กำหนดให้เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขปีงบประมาณ 2567 พร้อมขยายขอบเขตเป้าหมายเชิงปริมาณ ให้ตั้งสถานชีวาภิบาลจังหวัดละ 1 แห่ง, บริการบ้านชีวาภิบาลจังหวัดละ 1 แห่ง และตั้งคลินิกผู้สูงอายุ ทุกโรงพยาบาลทุกระดับ
ครบ 1 ปี ข้อมูลจากรายงานนำเสนอสรุปผลการตรวจราชการ รายเขตสุขภาพ ประจำปีงบประมาณ 2567 รอบ 2 พบว่าใน 12 เขตสุขภาพมีจำนวนสถานชีวาภิบาลทั้งหมด
- ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล รวมแล้วมีประมาณ 609 แห่ง
- คลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาล รวมแล้วมีประมาณ 630 แห่ง
- สถานชีวาภิบาล (วัด/ชุมชน) รวมแล้วมีประมาณ 454 แห่ง
- บริการบ้านชีวาภิบาล รวมแล้วมีประมาณ 692 แห่ง
อ่าน : 20 ปี “ตายดี” : จากมรณภาพพุทธธาสฯ ถึงสถานชีวาภิบาล
อ่าน : นโยบายสถานชีวาภิบาล กับความท้าทายสู่ “สิทธิการตาย”
เสียงสะท้อน ‘คนทำงานชีวาภิบาล’ กรอบงานไม่ชัด ส่งผลกระทบหลายด้าน
แม้นโยบายสถานชีวาภิบาล จะทำให้สังคมสนใจเรื่องการตายดีมากขึ้น ผู้ป่วยเริ่มเข้ามารับบริการด้วยตัวเอง และมีสถานชีวาภิบาลรองรับประชาชนหลายจุด แต่เสียงสะท้อนจากผู้ทำงานด้านสถานชีวาภิบาลทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล 2. สถานชีวาภิบาลในชุมชนและกุฏิชีวาภิบาล และ 3. เครือข่ายดูแลบ้านชีวาภิบาล พบว่าในทางปฏิบัติยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ต้องแก้
เริ่มต้นการสนทนาด้วยกลุ่ม “ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล” ที่ทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยในชุมชน วัด และที่บ้าน เล่าให้ฟังว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่เจอในหน้างานคือ “การขาดกรอบโครงสร้างงานที่ชัดเจน” ซึ่งส่งผลกระทบไปหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องคน เงิน และของ
ผลกระทบด้านแรกคือ บุคลากรขาดแคลน แบกภาระงานหนัก เมื่อไม่มีโครงสร้างการทำงานหรือการจัดตั้งแผนกที่ชัดเจน จึงไม่สามารถรับคนมาเพิ่มได้ และต้องอาศัยบุคลากรในระบบสาธารณสุขเวียนกันมาทำ ยิ่งทำให้คนที่มีอยู่ต้องแบกรับภาระงานเพิ่ม ซึ่งกระทบไปถึงคุณภาพในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
“เมื่อมีนโยบายลงมาบอกว่า ต้องตั้งศูนย์ชีวาภิบาลหรือกุฏิชีวาภิบาล และเราต้องแบ่งคนลงไปที่สถานชีวาภิบาล แต่ผู้ป่วยบางคนเขาต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน จึงไม่มีกำลังพอที่จะไปดูแลผู้ป่วยที่ต้องการเสียชีวิตที่บ้านได้”
เจนจิรา โลชา วิทยากรกระบวนการ กลุ่มศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล
ผลกระทบด้านที่สองคือ ไม่มีค่าตอบแทนให้คนทำงาน ติดเงื่อนไขราชการ เพราะไม่มีแผนกหรือโครงสร้างงานที่ชัดเจน จึงไม่สามารถขอเบิกค่าแรงคนทำงานได้
ผลกระทบสุดท้ายคือ ขาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่สามารถขออนุมัติงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ได้ เพราะไม่มีกรอบโครงสร้างงานที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามนอกจากเรี่องโครงสร้างการทำงานแล้ว ยังมองว่าอีกสิ่งสำคัญคือประชาชนและบุคลากรในระบบสุขภาพยัง “ขาดความรู้เรื่องการตายดี” ประชาชนไม่เข้าใจว่าชีวาภิบาลคืออะไร ขณะที่แพทย์จบใหม่และผู้ดูแล (Caregiver) ไม่มีความรู้เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
ต่อเนื่องมาที่กลุ่ม “สถานชีวาภิบาลในชุมชนและกุฏิชีวาภิบาล” เห็นเช่นเดียวกันว่า บุคลากรขาดแคลน ไม่มีหน่วยงายรองรับกลุ่มคนไร้บ้านที่ป่วยระยะท้าย ส่วนงบประมาณที่ได้รับมาก็ไม่เพียงพอและเงื่อนไขเยอะ นำมาใช้กับบริบทชุมชนได้ยาก
“งบประมาณมีลงมาจริง แต่ไม่สามารถใช้บางส่วนได้ เพราะกฎเกณฑ์ที่กำหนดมา วัดที่มีครูบาอาจารย์ชื่อดัง อาจพึ่งพาเงินบริจาคและสิ่งของที่ชาวบ้านถวาย แต่วัดทั่วไปไม่ได้อยู่ในสถานะแบบนั้น จึงอยากให้เพิ่มความยืดหยุ่นและการสนับสนุน”
ศรินธร รัตนีเจริญขจร วิทยากรกระบวนการ กลุ่มสถานชีวาภิบาลในชุมชนและกุฏิชีวาภิบาล
พร้อมสรุปจบทิ้งท้ายว่า ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็น การขาดความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนกำหนดนโยบายและคนปฏิบัติงาน ไปจนถึงการขาดเจ้าภาพหลักในดูแลกำกับนโยบาย ทำให้การดำเนินงานยังมีรอยต่อ
กลุ่มสุดท้าย “เครือข่ายดูแลบ้านชีวาภิบาล” ขยายมุมมองเรื่องงบประมาณต่อว่า เงินสนับสนุนที่ลงมายังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มีอุปสรรค เป็นเพราะต่างหน่วยงาน ต่างตั้งกองทุน และกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับสิทธิที่ครอบคลุม
“เมื่อคนไข้ขยับจากผู้ป่วยระยะยาวมาป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขาจะไม่สามารถรับผ้าอ้อมฟรีได้จากกองทุนผู้ป่วยระยะยาว ต้องเลือกเอาว่าจะใช้สิทธิเดิมขอรับผ้าอ้อม หรือจะรับเงินกับกองทุนใหม่จากสถานะที่เปลี่ยน”
ภัสนีวจี ศรีสุวรรณ วิทยากรกระบวนการ เครือข่ายเชื่อมโยงการดูแลจากโรงพยาบาล
ส่วนเรื่องโครงสร้างงานที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบาย การขาดแคลนบุคลากรในระดับปฏิบัติ และการขาดความรู้เรื่องตายดีนั้น เป็นประเด็นที่เห็นตรงกันว่ายังมีปัญหาอยู่ แต่ที่ข้อมูลยังไปไม่ถึงชุมชนนั้นเป็นเพราะ “การขาดฐานข้อมูลชีวาภิบาล” ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ทำให้สืบค้นได้ยาก
ความท้าทายของนโยบาย สู่การสร้างสุขภาวะวาระสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริการสาขาชีวาภิบาลของไทยเมื่อเทียบกับนานาประเทศ จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
- ความเข้ากันของการดูแลแบบประคับประคองและระบบสุขภาพไทย (Complete Integration) อยู่ในระดับ 4b ถือว่าใกล้ถึงระดับที่ดีที่สุดแล้ว โดยได้รับการยืนยันว่า มีการบูรณาการการดูแลแบบประคับประคองเข้ากับระบบสุขภาพได้ดี แต่ยังไม่สมบูรณ์มากนัก
- มีดัชนีชี้วัดการตายดี (Dead Index) ติดอันดับที่ 36 จากกว่า 100 ประเทศ
“ไทยมีพื้นการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยระยะประคับประคอง มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แต่พอเกิดนโยบายใหม่ ต้องรวมการดูแลทั้ง 3 ส่วน เอาทีมมารวมกัน ขอบเขตจึงใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดความงง”
พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ประคับประคอง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรสาขาชีวาภิบาลและเครือข่ายมีความเข้มแข็ง แต่เมื่อเรื่องสิทธิการตายดีถูกยกระดับมาเป็นนโยบายของรัฐบาลและระบบการรักษาขยายขอบเขตขึ้น รัฐควรสนับสนุนทรัพยากรและวางโครงสร้างงานอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่จะช่วยคลายความสับสนต่อบุคลากรในระดับปฏิบัติ ยังส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนที่ดีและยั่งยืนมากขึ้นด้วย
“เมื่อเรามีบุคลากรที่เก่ง รัฐควรสนับสนุนทรัพยากร และวางโครงสร้างงานอย่างชัดเจน เพื่อให้คนที่ทุ่มเทเหล่านี้ทำงานได้ง่ายขึ้นและเป็นระบบ เพราะถ้ารัฐไม่ทำ คนที่มีอยู่ก็จะล้มหายตายจากหรือหมดไฟไปก่อน”
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส
คนทำงานชีวาภิบาลยังด้นกันอยู่ ขาดกลไกส่วนร่วมทำให้ยั่งยืน
จำนวนสถานชีวาภิบาลที่เพิ่มขึ้นรวมแล้วนับ 1,000 แห่งในช่วงปีที่ผ่านมา ดูผิวเผินเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งไว้ แต่เกินครึ่งพบว่าเป็น “กุฏิชีวาภิบาล” ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักของการตายดี
“วัตถุประสงค์ของกุฏิชีวาภิบาล คือพระดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียง หรืออาพาธในระยะสุดท้าย เพื่อให้ท่านมีโอกาสมรณภาพที่วัดท่ามกลางคนที่รู้จักคุ้นเคย ไม่ใช่ที่โรงพยาบาล หรือต้องสึกเพื่อส่งต่อให้ญาติดูแล การให้ดูแลฆราวาสอย่างไรก็มีข้อจำกัด วัดจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของการตายดี”
รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เช่นเดียวกับข้อมูลของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อปลายปี 2566 รายงานว่า มีบริการดูแลผู้ป่วยระยะยาว (Longterm Care) ครอบคลุม 80% ของพื้นที่ประเทศไทย แต่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนใหญ่ลงพื้นที่ไปก็เพียงแต่แจกผ้าอ้อมหรือถามไถ่ผู้ป่วยว่าสบายดีหรือไม่ ซึ่งไม่ได้ลงไปอาบน้ำ ป้อนข้าว หรือทำแผลให้แต่อย่างใด
“แม้โปรแกรมดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่ สปสช.รายงานจะมีความครอบคลุมสูง ไม่อยากใช้คำว่าคุณภาพไม่ดีนะ แต่ไม่มีคุณภาพเลย ความครอบคลุมเรามีเยอะ แต่เราควรใส่เรื่องการพัฒนาคุณภาพ ทำให้ตรงนี้ดี ก็จะตอบโจทย์”
รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเติบโตเชิงปริมาณที่สวนทางกับการพัฒนาระบบและโครงสร้าง ทำให้บุคลากรในระดับปฏิบัติยังต้องด้นกันเอง เพราะขาดเจ้าภาพหลักการดูแลกำกับนโยบาย จึงไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน และจะเชื่อมต่อการทำงานกับสถานชีวาภิบาลต่าง ๆ ทั้งของรัฐ เอกชน และชุมชนได้อย่างไร
นโยบายที่ดีจะเป็นจุดเชื่อมโยงรอยต่อให้ทุกคนเข้าถึง “สิทธิการตายดี” แต่ต้องประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ
- กลุ่มงานชีวาภิบาลของตัวเอง เมื่อมีโครงงานที่ชัด ผู้กำหนดนโยบายเห็นตัวตน จะได้มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องไป
- งบประมาณและการบริหารจัดการกองทุนที่ดี เงินสนับสนุนที่ได้มาควรจะใช้อย่างคุ้มค่า โดยเน้นไปที่การพัฒนาผู้ดูแล (Caregiver) ให้สามารถดูแลผู้ป่วยหน้างานได้จริง รวมถึงมีค่าตอบแทนให้เป็นรายได้เสริมหรือพัฒนาให้มีความมั่นคงจนทำเป็นอาชีพได้ เพื่อรักษาพวกเขาไว้ในระบบ ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ส่วนกองทุนสำหรับการดูแลผู้ป่วยควรจะรวมกองทุนจากหน่วยงานรัฐทั้งหมดให้เป็นกองทุนเดียว และหาแนวทางร่วมในการบริหารจัดการกองทุนที่ดี ซึ่งนอกเหนือจากบริหารจัดสรรเงินสนับสนุนจากรัฐ ยังต้องหาเงินเข้ากองทุนเสริมด้วย
“ระบบชีวาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและมั่นคงจนเป็นอาชีพได้ ต้องมีกองทุนที่ใหญ่กว่านี้และการบริหารจัดการกองทุนที่ดี ในอนาคตอาจทำแพ็กเกจประกันสุขภาพผูกเนิร์สซิ่งโฮมให้คนอายุ 40 ปีขึ้นไปมาซื้อ นอกจากเขาจะมีความมั่นคง ระบบบยังเดินไปได้ดี”
รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรงพยาบาลพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นตัวอย่างของหน่วยงานหนึ่งที่สามารถสร้างกองทุนของตัวเอง ด้วยการหาเงินจากพิธีทอดผ้าป่าและระยะหลังหันมาทำคูปองลุ้นโชคลุ้นรางวัล ซึ่งปีล่าสุดได้รายรับเข้ามาประมาณ 600,000 – 700,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีความพร้อมเรื่องการจัดตั้งสหวิชาชีพดูแลผู้ป่วย แต่สุดท้ายต้องตกม้าเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ มีเพียงใจที่เต็มร้อยของคนที่มีอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนใด ๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งค่าแรงหรือช่วงเวลาพักผ่อน
“การผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติหรือจะทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ทำตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ อย่างนี้จะได้แค่ปริมาณ ไม่ได้คุณภาพ”
ทันตแพทย์หญิงอรอนงค์ พูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพาน จังหวัดเชียงราย
สปสช.จ่อเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง 10,442 บาท/คน/ปี
จำนวน “กุฏิชีวาภิบาล” ที่เกินครึ่งหนึ่งของสถานชีวาภิบาลทั้งหมด นงลักษณ์ ยอดมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่า เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขพูดคุยกับคณะกรรมการมหาเถรสมาคม แล้วเห็นว่าวัดเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ เพราะหลายแห่งดูแลฆราวาส เช่น วัดพระบาทน้ำพุ และวัดคำประมง จึงผลักดันให้วัดกลายเป็นพื้นที่กลางในการดูแลผู้ป่วย
แต่ก่อนจะจัดตั้งวัดเป็นกุฎิชีวาภิบาล สปสช.ได้ลงพื้นที่ไปถอดบทเรียนเรื่องการบริหารจัดการทั้งในการให้ความรู้และงบประมาณสนับสนุน เพื่อป้องกันไม่ให้การบริการทางสาธารสุขเป็นภาระของวัดด้วย แต่ตอนนี้เงินช่วยเหลือที่พระรูปหนึ่งบอกว่าได้รับมา 48,000 บาท/ปี แล้วไม่เพียงพอ คาดว่ามาจากกองทุนของท้องถิ่น เพราะงบประมาณของ สปสช.ยังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวจ่าย
“ทุกอย่างเตรียมการเสร็จหมดแล้ว ทั้งเรื่องมาตรฐาน การจัดบริการโดยเครือข่ายประชาชนหรือวัดที่กรมอนามัยดำเนินการ แต่เรื่องการเบิกจ่าย สปสช.กำลังปรับระเบียบ ไม่ให้เป็นภาระของพระคุณเจ้า การจ่ายเงินสนับสนุนจึงช้า”
นงลักษณ์ ยอดมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.
อย่างไรก็ตาม สปสช.มีงบประมาณส่วนอื่นสนับสนุนให้ผู้ป่วย โดยผู้มีภาวะพึ่งพิงจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 6,000 บาท/ปี และกำลังทำเรื่องเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเงินเพิ่ม ซึ่งจากงานวิจัยพบจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ต้องเพิ่มคนละ 10,442 บาท/ปี
กรมอนามัยจัดอบรมบุคลากรท้องถิ่นกว่า 7,000 คน แก้ปัญหาคนขาดแคลน
ปัญหาการถ่ายโอนอำนาจไป อบจ. แล้วทำให้บุคลากรไม่เพียงพอนั้น รัชนี บุญเรืองศรี รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และกลุ่มงานพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุ กรมอนามัย อธิบายว่า เกิดจากผู้ปฏิบัติเลือกที่จะย้ายงาน จึงจัดอบรมบุคลากรท้องถิ่นเพิ่มเติมกว่า 7,000 คน เบื้องต้นอบรมได้ 11 รุ่นแล้ว เหลือภาคปฏิบัติ คาดอีกไม่นานจะเสร็จเรียบร้อย
ขณะเดียวกันได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นด้วย ซึ่งล่าสุดได้จัดอบรมพัฒนาทักษะผู้บริหารของถิ่นให้มีความรู้เรื่องการตายดีไปแล้ว และหลังจากนี้จะจัดอบรมการปฏิบัติหน้าที่ของทีมสนับสนุนในท้องถิ่นอีก 400 คน ซึ่งจะมาจากกองทุนงานต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข นักจิตวิทยา และนักพัฒนาชุมชน ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้
“เนื่องจากภาระงานที่หนัก เมื่อมีการโอนย้าย เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะย้ายงาน ทำให้บุคลากรลดลง เราอบรมบุคลากรท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่มีนักจิตวิทยา นักพัฒนาชุมชน เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น”
รัชนี บุญเรืองศรี รอง ผอ.สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และกลุ่มงานพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุ กรมอนามัย
ส่วนเนื้อหาการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ตอนนี้ได้บรรจุเป็นหลักสูตรให้บุคลากรหน้าใหม่ได้เรียน และคนเก่าก็สามารถเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ได้อีก 6 ชั่วโมง
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ไม่ยืดหยุ่นนั้น “รัชนี บุญเรืองศรี” ให้ความเห็นด้วยว่า การเปลี่ยนสถานะของผู้ป่วยระยะยาว กลายไปเป็นผู้ป่วยระยะท้าย ทำให้ไม่สามารถขอรับผ้าอ้อมฟรีจากกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว ที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่ยังสามารถของบสนับสนุนจากกองทุนอื่นได้ เช่น กองทุนสุขภาพตำบล หรือกองทุนฟื้นฟู แต่เจ้าหน้าที่อาจไม่รู้ หรือทราบแล้วแต่คิดว่าเป็นการเพิ่มภาระงานของตัวเอง ที่ต้องทำเอกสารยื่นไปอีกครั้งหนึ่ง จึงปล่อยให้ผู้ป่วยไม่ได้รับสิทธิ
6 ข้อเสนอ ขับเคลื่อนโยบายสถานชีวาภิบาลแบบไร้รอยต่อ
การขับเคลื่อนเรื่องการตายดี ต้องไม่จบที่ตัวชี้วัดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นจะสำเร็จแค่เชิงปริมาณ แต่ไม่ได้คุณภาพ โดยวงเสวนาได้ระดมความเห็น หาแนวทางร่วมในการเดินหน้าต่อนโยบายสถานชีวาภิบาล ดังนี้
- วางโครงสร้างกรอบงานที่ชัดเจน
- จัดสรรระบบการทำงาน ให้บุคลากรทำงานได้ง่าย
- บริหารจัดการ กำลงคน งบประมาณ และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์
- มีกลไกการมีส่วนร่วมสนับสนุนงานด้านชีวาภิบาล
- เชื่อมโยงการดูแลในระยะต้น กลาง และ ปลาย ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล ต้องเชื่อมโยงต่อกับทีมปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยภายในบ้านและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อไรที่ทีมปฐมภูมิไม่มั่นใจหรือขาดเหลือสิ่งใด จะมีโรงพยาบาลเป็นเบาะรองรับ ให้การดำเนินงานต่อเนื่องไปได้ และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- งบประมาณต้องยืดหยุ่นและชัดเจน บูรณาการกองทุนจากทั้ง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิการตายดี นอกจากนี้ควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาล และผู้ดูแล (Caregiver) ด้วย
- พัฒนาองค์ความรู้ให้คนทุกระดับมีความรู้และเข้าใจเรื่องตายดี บรรจุเนื้อหาการดูแลแบบประคับประคองในหลักสูตรการศึกษา ให้คนทำงานมีความรู้และความเข้าใจ นำไปดูแลผู้ป่วยได้จริง รวมถึงส่งต่อความรู้คลายข้อสงสัยให้ประชาชนไม่งง เข้าใจ และตระหนักรู้ได้
- สร้างความพร้อมการดูแลคนทุกกลุ่ม
- รักษาบุคลากรงานชีวาภิบาลให้อยู่ในระบบได้ โดยเพิ่มศักยภาพ ค่าตอบแทน และการดูแลใจ เพื่อให้กลายเป็นอาชีพที่เขาสามารถทำเพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต่างกับการประกอบอาชีพอื่น ๆ
- มีนโยบายลางานได้เงินเดือน ให้ลูกสามารถหยุดงานได้โดยไม่จำเป็นต้องลาออก เพื่อดูแลพ่อแม่ที่มีภาวะพึ่งพิง ป่วยติดเตียง หรืออยู่ในภาวะประคับประคอง ได้อย่างเต็มที่
- สร้างจินตนาการใหม่ในการคลี่คลายความสับสนจากนโยบายชีวาภิบาล เช่น การสร้างจินตนาการใหม่ต่อสังคมสูงอายุ ว่าควรจะมีระบบบูรณาการอะไรและทำอย่างไรต่อไป เพราะข้อเสนอแนะทั้งหมดอาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและต้องจัดการมากกว่านี้ได้
“ระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะเป็นอีกหนึ่งระบบหลักในอนาคต การดูแลผู้ป่วย (ที่ไม่มีทางหายนอกจากตาย) ต้องการการคิดและการทำงานที่เอาครอบครัวและคนไข้เป็นฐาน ไม่มีทางเลยที่จะทำได้ดี ถ้าไม่มีโรงพยาบาลเป็นหลังพิงให้”
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายชีวาภิบาล
อ่านเพิ่มเติม : 6 ข้อเสนอสู่ “สิทธิการตายดี”
“การตายดี” ต้องเป็นวาระแห่งชาติ
การขับเคลื่อนให้คนไทยเข้าถึงสิทธิการตายดีมีมานานแล้ว ประธานกลุ่ม Peaceful Death เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เรื่องนี้จะต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องมี “มีพื้นที่สาธารณะ” ให้แลกเปลี่ยนความเห็นกันทุก 2 – 3 เดือน เพื่อให้เสียงสะท้อนเหล่านี้ไปถึงผู้กำหนดนโยบาย
“เรื่องการตายดีต้องเป็นวาระแห่งชาติ จะได้เกิดการบูรณาการทุกกระทรวงและองค์กรเครือข่ายมานั่งคุยกัน ว่าต่อจากนี้อีก 1 ปีจะเกิดอะไรขึ้น แล้วมีอะไรบ้างที่ยังไม่ได้แก้ไข ไม่ใช่แค่นั่งคุยแล้วหายไป สุดท้ายจะวนลูปเหมือนเดิม”
วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death
“นโยบายชีวาภิบาล” ไปต่ออย่างไร ? ในรัฐบาลแพทองธาร
ส่วนนโยบายสถานชีวาภิบาลที่ไม่ถูกพูดถึงในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า รัฐบาลชุดใหม่ยังเดินหน้าต่อ เพียงแต่นโยบายนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนดูแลผู้สูงอายุ ส่วนของ “30 บาทรักษาทุกที่” นายกแพทองธาร จึงไม่ได้พูดถึงในการแถลงนโยบาย
“ไทยกำลังประสบกับปัญหาผู้สูงอายุล้น วิกฤตเด็กเกิดน้อย รัฐบาลจึงบรรจุนโยบายสถานชีวาภิบาลแทรกเข้าไปในแผนดูแลผู้สูงอายุในส่วนของ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ผู้สูงอายุที่ป่วยไม่จำเป็นต้องรักษาแค่ในจังหวัดที่ตัวเองอยู่ สามารถเดินทางไปอยู่กับลูกและใช้บริการของระบบสาธารณสุขที่ใกล้เขาได้ ส่วนลูกกลับมาดูแลพ่อแม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดงาน ไม่ต้องลาออก”
นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ดีข้อเสนอทั้งหมดจากวงเสวนานี้ “นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย” กล่าวทิ้งท้ายว่า จะรับนำไปปรับปรุงข้อแล้วใช้กลไกของพรรคการเมือง และกลไกกรรมาธิการสาธารณสุข นำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้
ส่วนการแก้ไขปัญหาความสับสนของบุคลากรในระบบสุขภาพ จะทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขให้รับฟังข้อคิดเห็นว่าจะแก้ไขอย่างไรต่อไป และจะติดตามให้กระทรวงฯ ส่งข้อสรุปมาที่คณะกรรมาธิการสาธารณสุขเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์
ตลอดเส้นทางของการผลักดันให้คนไทยเข้าถึง “สิทธิการตายดี” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้เมื่อมีนโยบายของรัฐ “สถานชีวาภิบาล” เป็นโอกาสดีที่จะชวนทุกคนมาติดตามและขับเคลื่อนข้อตกลงจากกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อความสุขที่ปลายทางของทุกคน