“ชีวาภิบาล” นโยบายดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้เข้าถึงสิทธิการตายดี ที่เริ่มต้นในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” และปัจจุบันปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” แม้จะครบ 1 ปี นับตั้งแต่มีการแถลงนโยบายเมื่อเดือนกันยายน 2566 และมีผลสำเร็จตามตัวชี้วัดที่รัฐบาลวางเอาไว้
แต่ในเชิงโครงสร้างการทำงานยังเต็มไปด้วยอุปสรรคและความสับสน ทั้งเรื่องการขาดแคลนกำลังคน งบประมาณ ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพคนและระบบ ทั้งหมดต้องเร่งจัดการให้ไร้รอยต่อและทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิการตายดีได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายชีวาภิบาล ได้รับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนและสรุปมาเป็นข้อเสนอ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายฯ ที่ตอบโจทย์สังคมมากขึ้น
ความจริงของ “ระบบบริการสุขภาพ” ไม่ว่าจะบริการคนที่ยังไม่ป่วย หรือคนที่ป่วยแล้ว จะทำโดยคนที่อยู่ในระบบบริการสาธารณสุขแบบคลาสสิคอย่างเดียวไม่ได้ เปรียบให้เข้าใจโดยง่ายว่าถ้าป่วยแล้วจะไปรอเข้าโรงพยาบาล พบแพทย์หรือพยาบาล คงอำนวยความสะดวกประชาชนได้ไม่ทั่วถึง ไม่ทันกาล
“นโยบายชีวาภิบาล” กำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณ ให้เกิดการสร้างสถานชีวาภิบาลในชุมชน บ้านชีวาภิบาล จังหวัดละ 1 แห่ง และคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุภาวะพี่งพิง ผู้ป่วยระยะยาวและระยะสุดท้าย รองรับสถานการณ์สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคอุบัติใหม่และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่ในระบบการทำงาน กลับมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีที่มีนโยบายนี้ และ นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมายืนยันแล้วว่าการเปลี่ยนมือมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “รัฐบาลแพทองธาร” จะยังเดินหน้านโนบายนี้ต่อ แม้จะไปอยู่ในแผนการดูแลผู้สูงอายุก็ตาม
แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายชีวาภิบาล แนะนำว่าต้อง “สร้างความเชื่อมโยง” ที่เป็นรูปธรรม 6 ข้อ เริ่มตั้งแต่
1.) หากลไกสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณ ผู้กำหนดนโยบายต้องเข้าไปพูดคุยหรือถอดบทเรียนจากผู้ปฏิบัติงานชีวาภิบาล เช่น หากเขาร้องเรียนว่าขาดกำลังคน ให้เข้าไปสอบถามว่าขาดแบบไหน ต้องการอย่างไร แทนที่จะออกตัวชี้วัดที่คิดว่าควรจะเป็น
2.) งบประมาณ
- ไม่สามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น เมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนสถานะทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะใช้สิทธิ รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หรือจะรับเงินแทน ขณะเดียวกันกุฏิชีวาภิบาล พระจำเป็นต้องดูแลฆราวาสหรือไม่ เพราะระเบียบของสงฆ์บางข้อ ทำให้มีข้อจำกัดในการดูแล
- มีหลายกองทุนแต่ไม่มีกรอบการใช้ที่ชัดเจน คนในหน่วยบริการสับสนต้องของบฯจากกองทุนใด และหากขอกองทุนนี้ไปแล้วไม่เพียงพอ ต้องทำเรื่องขอจากอีกกองทุนใหม่ ทำให้เป็นภาระงานที่ยุ่งยากขึ้นอีกนอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วย เช่น สปสช.มีทั้งกองทุนท้องถิ่น กองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว และกองทุนฟื้นฟู หากมีความเชื่อมโยงระบบให้รู้ว่าสามารถขอกองทุนไหนได้เลยจะดีมากยิ่งขึ้น
- งบประมาณสนับสนุนโรงพยาบาลด้านชีวาภิบาลยังไม่ชัดเจน
- งบประมาณสนับสนุนผู้ดูแล (Caregiver) ไม่เพียงพอ ควรพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องจากถ้าขอ สปสช. อย่างเดียวอย่างไรก็ได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ
- มีช่องทางหางบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจาก สปสช. โดยอาจระดมทุนจากเศรษฐี หรือการบริจาคของผู้คนในสังคม เป็นต้น
3.) พัฒนากำลังคนทั้งระบบ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ดูแล และ ญาติ ให้มีความรู้ความสามารถ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อไม่ให้คนทำงานด้านชีวาภิบาลหมดไฟในการทำงาน เช่น มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม หรือมีสิทธิลา
4.) พัฒนาให้การวางแผนช่วงสุดท้ายของชีวิตหรือการเขียนพินัยกรรมตายดี ตามมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติปี 2550 เป็นระบบ กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำกันและเข้าถึงได้
5.) ให้ญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีสิทธิการลา โดยไม่เสียผลประโยชน์และไม่จำเป็นต้องลาออก
6.) สร้างจินตนาการใหม่ในการคลี่คลายความสับสนจากนโยบายชีวาภิบาล เช่น การสร้างจินตนาการใหม่ต่อสังคมสูงอายุ ว่าควรจะมีระบบบูรณาการอะไรและทำอย่างไรต่อไป เพราะทั้งหมดที่เสนอแนะมานี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีมากกว่านี้ได้
สิทธิการตายดีเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรจะร่วมกันกำกับติดตามนโยบายชีวาภิบาล เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อและตอบสนองความต้องการของหน่วยบริการทั้งระบบ