ถ้าหากทุกคนมีโอกาสเริ่มต้นอย่างเท่าเทียมที่จะเรียนรู้ มีหลักประกันสุขภาพที่ดี หรือได้รับสิทธิช่วยเหลือหลังตกงาน การพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีคงไม่ยาก และใครหลายคนอาจหลุดออกจากความยากจนได้ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำแล้วสร้างโอกาสที่ดีให้เกิดขึ้นคือ “รัฐสวัสดิการ”
สวัสดิการไทยอยู่ตรงไหนของโลก Policy Watch มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาสะท้อนปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบสวัสดิการไทยและลักษณะของนโยบายที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“รัฐสวัสดิการ” นโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน
ก่อนจะรู้ถึงพัฒนาการของระบบสวัสดิการไทย ควรรู้จักคำนิยามของ “รัฐสวัสดิการ” คือการมีรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- นโยบายเพื่อความมั่นคง ลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตให้ประชาชน เช่น นโยบายดูแลเมื่อยามป่วยไข้ ตกงาน หรือเผชิญปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ
- นโยบายเพื่อสร้างโอกาส เช่น การให้การศึกษากับประชาชน การให้โอกาสในการมีคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดีที่จะสามารถไปพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้าน
- นโยบายลดความยากจน
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าส่วนใหญ่รัฐบาลทั่วโลกต่างก็มีนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ เพียงแต่จะมากหรือน้อย หรือมีลักษณะอย่างไรเท่านั้น
รัฐ–ประชาชน ปัจจัยเกิด “รัฐสวัสดิการ”
ปัจจัยทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ คือพลังของรัฐและเสียงของประชาชนรวมกัน โดยมีผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนดสวัสดิการว่าจะมีอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างสวัสดิการในยุคแรกเริ่มที่เยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2426 เกิดสวัสดิการแรงงานขึ้นตาม “เสียงเรียกร้องของประชาชน” กลุ่มแรงงาน เพราะรัฐต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับตัวเองและเสริมความมั่นคงในการปกครอง
ต่อมาในปี พ.ศ.2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คนในหลายประเทศทั่วโลกเสี่ยงตกไปสู่ความยากจน รัฐบาลในประเทศตะวันตกจังหันมาให้ความสนใจกับ “การสร้างสวัสดิการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม” หลังสงคราม
พ.ศ.2488 – 2518 พลวัตการเมืองประชาธิปไตนหนุนเสริมการขยายตัวของ “ระบบสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย” ในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น ประเทศสวีเดน ซึ่งหลายคนมักหยิบยกให้เป็นต้นแบบของการจัดสรรสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ที่มีรัฐบาลจะสนับสนุนเสียงจากภาคแรงงานและประชาชน ทำให้นโยบายด้านสวัสดิการของเขาตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นธรรมและมีทิศทางที่ชัดเจนกว่าหลาย ๆ ประเทศ
จะเห็นได้ว่าถ้าประชาชนไม่สามารถส่งเสียง หรือรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสวัสดิการหรือความเท่าเทียม รัฐสวัสดิการก็อาจไม่เกิด
“รัฐบาล” มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการระบบสวัสดิการไทย
แต่ผู้มีส่วนสำคัญในการเกิดรัฐสวัสดิการไทยแตกต่างจากต่างประเทศ เพราะจากการศึกษางานวิจัยเรื่อง “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ : จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540” ของ รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า “การตัดสินใจของรัฐบาล” เป็นตัวแปรสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการระบบสวัสดิการไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ
- ระยะแรก เริ่มต้นขึ้นหลัง พ.ศ. 2475 รัฐบาลไทยเริ่มมีแนวคิด “การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชนคือหน้าที่สำคัญของรัฐ” จึงเกิดบทบาทของรัฐด้านสวัสดิการชัดเจนขึ้น เช่น สวัสดิการการศึกษาที่เริ่มกระจายตัวขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงเหมือนช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475
- ระยะที่สอง พ.ศ. 2502 – 2520 ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงเผด็จการเพื่อการพัฒนาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ รัฐบาลมีแนวคิดเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและ “ขยายสวัสดิการเพื่อรองรับการพัฒนา” โดยเน้นเป้าหมายไปที่กลุ่มข้าราชการและชนชั้นกลางในเมือง ทำให้เกิดสวัสดิการ เช่น การสร้างมหาวิทยาลัยและการสร้างการศึกษาระดับมัธยมให้เพิ่มขึ้นในเขตเมือง เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานให้ตอบโจทย์ และเกิดสวัสดิการราชการขึ้น เพราะเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจได้จะต้องมีรัฐที่เข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้สวัสดิการของข้าราชการ คนชนชั้นกลางจะขยายไปก่อนส่วนอื่น ๆ เพราะรัฐเชื่อว่าแรงงานในเมืองเป็น สิ่งสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ระยะที่สาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 – 2549 การเมืองของประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐบาลต้องตอบสนองเสียงประชาชนมากขึ้น จึงขยายสวัสดิการสู่ประชาชนในต่างจังหวัดและบางกลุ่มอาชีพ โดยปี 2536 เกิดระบบประกันสังคม และตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด ทำให้สวัสดิการตอบโจทย์ประชาชนได้ดีขึ้น และมีสวัสดิการเพื่อการเกษตร นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นบันใด เพื่อตอบสนองประชาชนซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้เสียงของประชาชนยังถือว่ามีอิทธิพลไม่มากนักในการเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย เพราะผู้มีอำนาจยังคำนึงถึงการรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ แต่ดีขึ้นในแง่ที่ว่าโจทย์ของรัฐและประชาชนมีความเชื่อมโยงผสมผสานกันมากขึ้น
ปัจจุบันจึงถือว่าระบบสวัสดิการไทยยังไม่หลุดออกจากระยะที่สาม เพราะพลวัตของผู้มีอำนาจยังอยู่ในฐานคิดที่ต้องรักษาฐานเสียง ซึ่งยังขาดภาพของสวัสดิการที่สะท้อนให้เห็นว่า “เป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐในการจัดสวัสดิการประชาชน” ดังนั้นแล้วเมื่อย้อนกลับไปดูคำนิยาม นั่นหมายความว่าประเทศไทยจัดอยู่ในระนาบหนึ่งของรัฐสวัสดิการที่กำลังพัฒนาอยู่
“รัฐสวัสดิการ” สำคัญสุดในการลดความเหลื่อมล้ำ
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในมุมมองของ ผศ.ดร.ธร มองว่า “รัฐสวัสดิการ” สำคัญที่สุด เพราะโอกาสมาจากสวัสดิการ และอีกด้านคือการกระจายผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นจากการลดการผูกขาดของทุนใหญ่ให้น้อยลง จะช่วยให้แรงงานได้รับส่วนแบ่งจากเจ้าของทุนมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง
ทุกคนมีศักยภาพอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะสามารถผลักดันให้เขาบรรลุศักยภาพได้ถึงขนาดไหน สวัสดิการจะช่วยดันโอกาสให้ทุกคนมีการศึกษา มีความมั่นคงในชีวิต รัฐสวัสดิการจึงสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำมาก – ผศ.ดร.ธร ปีติดล
อย่างไรก็ตามการจะผลักดันประเทศไทยให้ถึงรัฐสวัสดิการ ด้วยบริบทของสังคมในปัจจุบันภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย จึงต้องอาศัยพลังของทุกคนร่วมกันที่จะทำให้ “การเมืองไทยมีความเป็นประชาธิปไตยที่สูง” เพื่อให้รัฐบาลให้ความสนใจทุกข์สุขของประชาชนอย่างจริงจังและมีความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ต้องปรับแนวคิดสังคมจาก “สวัสดิการคือการช่วยเหลือคนยากจน” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยม ให้เป็น “สวัสดิการคือสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับ” เพราะปัจจุบันสังคมมีความผันผวนมากขึ้น จากเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น อย่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกคนสามารถตกงานได้แม้จะมีอาชีพที่ดูมั่นคงมาก็ตาม
รัฐให้สวัสดิการทุกคนได้ ไม่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ
รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการ เพียงแต่อยู่มุมมองว่าเรื่องไหนสำคัญและการจัดสรรมากกว่า ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าสวัสดิการจะเป็นเรื่องที่รัฐให้ทุกคนไม่ได้ หรือให้แล้วจะขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อไรที่คนมีโอกาสจากการได้รับสวัสดิการ เขาจะมีความมั่นคงในชีวิต และกลายมาเป็นกำลังสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ
แต่สวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะคือคำตอบเลยหรือไม่นั้น ผศ.ดร.ธร มองว่าคำตอบอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและความเจริญก้าวหน้าที่แปรเปลี่ยนไป แต่ ณ วันนี้มองว่าปัจจัยพื้นฐาน เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลักประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการแรงงาน ควรเป็นแบบถ้วนหน้า (ระบบสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย) เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครตกหล่นและเป็นตัวการันตีว่าต้องไม่มีใครที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่านี้
อย่างไรก็ตามการจะผลักดันสวัสดิการปัจจัยพื้นฐานให้สำเร็จได้ทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากนักและมุมมองที่อิงแบบเสรีนิยม จึงต้องผลักดันสวัสดิการอย่างเป็นค่อยเป็นค่อยไป เช่น การสร้างความมั่นคงให้แรงงาน ด้วยแรงงานไม่ได้มีประเภทเดียว ตอนนี้อาจต้องมีผลักดันหลาย ๆ นโยบายมาผสมผสานกันให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันก่อน
กว่า 92 ปีที่ผ่านมาจึงสะท้อนให้เห็นว่า ในบริบทสังคมไทย “เจตจำนงของรัฐบาล” อย่างจริงจังที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นตัวแปรสำคัญว่าประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปสู่ “รัฐสวัสดิการ” เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันได้หรือไม่