กองทุนที่ให้หลักประกันและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตน ให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต รวมทั้งการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งทั้งหมดเรียกว่า “การประกันสังคม” ถือเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐในการจัดการบริการด้านสวัสดิการสังคม เพื่อคุ้มครองให้กับประชาชนที่มีรายได้ประจำ
สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
ปัจจุบันการประกันสังคม ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน 3 รูปแบบ แบ่งเป็น
ผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน
ผู้ประกันตนมาตรา 39 คนที่ลาออกจากบริษัทเอกชนแล้วไม่เกิน 6 เดือน และเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อนไม่น้อยกว่า 12 เดือน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้อยู่ จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบ (ฟรีแลนซ์) จะได้รับความคุ้มครอง 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ
เงื่อนไขสิทธิคลอดบุตร ม.33, ม.39
สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะแตกต่างจากผู้ประกันตนมาตรา 40 ตรงที่มีสิทธิคลอดบุตร กรณีคลอดบุตร ค่าตรวจ และค่าฝากครรภ์ ที่ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนทั้งผู้หญิง หรือผู้ชาย (สามารถเบิกค่าคลอดบุตรให้กับภรรยาได้ในกรณีที่ภรรยาไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39)
ผู้ประกันตนสามารถยื่นผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมบนระบบ e-Self Service ยื่นได้ทั้งกรณีคลอดบุตร ค่าตรวจและค่าฝากครรภ์
สิทธิคลอดบุตร มีเงื่อนไขดังนี้
1. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
2. ค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ เท่าที่จ่ายจริง จำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
3. ค่าคลอดบุตร สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท (เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)’
4. เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
เอกสารยื่นคำขอกรณีคลอดบุตร
1. ใช้แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอสำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
2. ผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมีธนาคาร ดังนี้
- พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ม.33
อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนมาตรา 33 จะมีสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน แตกต่างจากผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จะไม่ได้รับสิทธินี้ โดยมีเงื่อนไข คือ
1. เป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน ไม่ว่าจะลาออกเอง เลิกจ้าง หรือว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (กรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19)
2. ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
3. ขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
4. รายงานตัวออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง
5. มีความพร้อมและสามารถทำงานที่จัดหาให้ได้
6. ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
7. ไม่ถูกเลิกจ้างในกรณีต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน
- ขาดงาน 7 วันติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
8. ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
9. ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน ตามเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทนประกันสังคม ว่างงาน ดังนี้
1. กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 180 วัน/ปี
2. กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน/ปี
สำหรับการคำนวณเงินทดแทนทั้ง 2 กรณี ให้คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- หาก 1 ปี มีการขอรับเงินทดแทนมากกว่า 1 ครั้ง เพราะถูกเลิกจ้าง หรือถูกเลิกจ้างและลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถรับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 180 วัน
- หาก 1 ปี มีการขอรับเงินทดแทนมากกว่า 1 ครั้ง เพราะลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถรับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนว่างงาน
ผู้ประกันตน ม.33 ที่ว่างงานสามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเอง โดยต้องทำตามขั้นตอนทั้งช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์กรมการจัดหางาน และ จุดบริการของสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ประกันสังคม ม. 40 มีแต่บำเหน็จ ไม่มีบำนาญ
บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ม.33-ม.39 คิดอย่างไร?
ความต่าง “กองทุนเงินทดแทน-กองทุนประกันสังคม”
เงื่อนไข-สิทธิประโยชน์ล่าสุด ประกันสังคม ม.33-39-40
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม