เพศวิถีศึกษาในโรงเรียน อาจจะเป็นวัคซีนคุ้มกัน “เบื้องต้น” จากปัญหาอันเนื่องจากเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น ทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือท้องไม่พร้อม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเกิดขึ้นในไทย แต่หลายประเทศก็ประสบปัญหามาแล้ว
อีกปัญหาที่ตามมาคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งหากมีความรู้ในการดูแล ก็จะทำให้การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่เป็นปัญหามากนัก
สำหรับสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นทั้ง 5 โรคในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สาเหตุอาจมาจากการที่เยาวชนขาดความรู้เรื่องการป้องกันตนเอง หรือขาดความรู้ด้านดูแลอย่างถูกต้อง
แสงจันทร์ เมธาตระกูล จากองค์กร path2health foundation บอกว่า “การที่โรคติดต่อเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าเด็กไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เด็กยังไม่เข้าใจหรือมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา”
ในส่วนของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณะสุขตั้งไว้ ในปี 2022 อัตราการตั้งครรภ์ในเด็กผู้หญิงอายุ 10 -14 ปี ลดลงไปที่ 0.8 ต่อ 1000 คน จาก 0.9 ต่อ 1000 คนในปี 2021 โดยในปี 2026 กระทรวงสาธารณะสุขตั้งเป้าอัตราการตั้งครรภ์ในเด็กอายุ 10-14 ปีอยู่ที่ไม่เกิน 0.5 ต่อ 1000 คน
มากไปกว่านี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือ แนวโน้มของเด็กไทยที่มีทิศทางการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่เร็วขึ้นหรือเด็กลง ทั้งชายและหญิง ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดเพศสัมพันธ์ในวัยประถมศึกษาที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นแล้วเราควรคำนึงถึงการนำเพศวิถีศึกษาเข้ามาสอนในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
มีการศึกษาในหลายประเทศในยุโรปว่า หากมีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีรอบด้าน หรือ Comprehensive Sexuality Education (CSE) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา อัตราการเกิดขึ้นของการท้องในวัยรุ่นและอัตราการป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะลดลง แต่ทว่าก็ยังมีหลายประเทศที่ขาดการพัฒนาครูให้มีความพร้อมในเรื่องนี้ รวมถึงประเทศไทย
ห้องเรียนเพศวิถีศึกษา ผลตอบรับ ‘ดี’
มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการนำวิชาเพศวิถีศึกษาเข้าไปสอนในระดับชั้นประถมศึกษาในบางโรงเรียนภายในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งจากนักเรียนและครู
ครู
- งานวิจัยพบว่าครูมีแรงผลักดันในการสอนเพศวิถีศึกษาจาก 2 ประการหลัก ข้อแรกคุณครูเห็นถึงความสำคัญของวิชานี้ที่มีต่อตัวเด็กนักเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ ทางเพศ และการไม่ถูกละเมิดทางเพศ เป็นต้น
- ข้อสอง ครูมีความกังวลจากการที่นักเรียนอาจซึมซับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องผ่านสื่อออนไลน์ และนักเรียนอาจขาดความสามารถในการคัดกรองข้อมูลเท็จและจริง ดังนั้นครูจึงมองว่าการให้ข้อมูลแก่เด็กด้วยตนเองจะนำมาซึ่งความปลอดภัยและเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีกว่า
นักเรียน
- มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อตัวเด็กนักเรียน เช่น เด็กที่ได้รับการเรียนการสอนเพศวิถีจะมีความมั่นใจในตัวเองที่เพิ่มขึ้น และมีความเข้าใจต่อตัวเองและเพศมากขึ้น หรือการกลั่นแกล้งที่น้อยลง
- เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ สังเกตได้จากคำถามในห้องเรียนที่เกิดขึ้น ซึ่งความกระตือรือร้นตรงนี้เป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้ครูอยากสอนและอยากพัฒนาตนเองในด้านนี้มากยิ่งขึ้น
ความท้าทายที่ยังเจอ
ถึงแม้จะมีการตอบรับที่ดี แต่การนำเพศวิถีศึกษามาใช้ในห้องเรียนยังมีความท้าทายอยู่ในหลายด้าน
- มีอิสระในการสอน แต่อาจขาดมาตราฐานที่ชัดเจน เนื่องจากมีข้อกังวลว่าการบรรจุวิชาใหม่เข้าไปจะกระทบต่อการเรียนรู้ของวิชาหลัก 8 วิชา ข้อนี้อาจส่งผลให้ครูมีข้อจำกัดในการเลือกหยิบเนื้อหาเพศวิถีศึกษามาสอน และไม่สามารถสอนเนื้อหาที่สำคัญได้อย่างครบถ้วน
- เนื่องจากรัฐบาลมีความหละหลวมในการบรรจุวิชานี้เข้าไปในโรงเรียน และไม่ได้มีการระบุที่ชัดเจนในเรื่องของจำนวนชั่วโมง ครูจึงเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นจริง ครูเองต้องมีความสนใจและความกระตือรือร้นต่อความสำคัญของเพศวิถีศึกษา เพื่อนำวิชาเข้ามาอยู่ในห้องเรียน
- มีโอกาสที่การเรียนรู้เรื่องนี้จะขาดความต่อเนื่อง ด้วยความที่เพศวิถีศึกษาไม่ใช่วิชาหลักระบุอยู่ในหลักสูตรแกนกลางปี 2551 ทำให้การบรรจุวิชานี้เป็นเรื่องของนโยบายแต่ละโรงเรียนว่าจะมีการเรียนการสอนหรือไม่ ฉะนั้นแล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโรงเรียนหรือ ผอ. นโยบายใหม่ๆ อาจจะเข้ามาและทำให้เพศวิถีศึกษาหายไปหากผู้บริหารคนใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญจุดนี้
- บริบทสังคมและทัศนคติเก่า ที่ไม่ได้มีความเข้าใจต่อเพศวิถีศึกษาอาจรั้งการเรียนรู้เรื่องนี้เอาไว้ ยังมีครูที่อยู่บนความเชื่อเก่าๆ ที่คิดว่าการพูดคุยเรื่องเพศเป็นสิ่งไม่ดี ไม่เหมาะสมต่อประเพณีไทย จึงไม่ควรนำเรื่องเพศหรือความสัมพันธ์ทางเพศมาพูดให้เด็กนักเรียนได้รับรู้ นี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องแก้ไข
ขาดการ “พัฒนา-สนับสนุน”ครู
ว่ากันตามความเป็นจริง ครูในไทยที่สอนเรื่องเพศวิถีศึกษาไม่ได้รับการเรียนรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้องมาก่อน เพราะฉะนั้นแล้วครูต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกหัดการสอน แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูอย่างเท่าที่ควร
- ถูกถอนออกจากครุศาสตร์
ก่อนหน้านี้ได้มีการบรรจุวิชาเพศวิถีศึกษาเป็นหน่วยกิจให้นักศึกษาสาขาครุศาสตร์ได้เรียนในบางมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะครูในมหาวิทยาลัยเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญ แต่ทว่าการนำวิชานี้เข้าไปสอนยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเป็นบางกรณี ไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะฉะนั้นมาตราฐานที่นักศึกษาจะได้รับการเรียนการฝึกฝนยังไม่เกิดขึ้น
- แพลตฟอร์มออนไลน์
สำหรับครูประจำการหรือครูที่ถูกบรรจุแล้ว จะมีให้เรียนเพศวิถีศึกษาออนไลน์ 22 ชม. เพื่อเป็นพื้นฐาน และมีการเรียนรู้ 8 หน่วยด้วยกัน การเรียนรู้เน้นให้ผู้เข้าเรียนหันกลับมาคิดทบทวน โดยการสอบไม่มีคำตอบที่ตายตัว ถูกหรือผิด แต่ทว่า 22 ชม. นั่นเป็นเวลาที่น้อยมาก
แสงจันทร์บอกว่า “ไม่ได้มีวิชาเพศวิถีศึกษานี้มาก่อนในสายครู เพราะฉะนั้นครูต้องการการเรียนรู้ การพัฒนา โจทย์สำคัญคือเรื่องทัศนะ” ซึ่งการเรียนรู้ การปรับตัวเข้ากับทัศนะใหม่ๆ นั้นใช้เวลาในการทำให้เกิดขึ้น บางครั้งครูอาจจะยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร
การฝึกอบรม: ช่วยครู-นักเรียนได้
การมีการฝึกอบรม (Training) จะช่วยทำให้ครูเปลี่ยนมุมมองต่อ ‘เพศวิถีศึกษา’ ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ แต่วิชานี้จะเป็นอีกตัวช่วยให้เด็กดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัย และเมื่อครูได้รับการฝึกฝน ครูจะมีความมั่นใจและสบายใจที่จะพูดหัวข้อเหล่านี้ในห้องเรียนมากขึ้น
ซึ่งการ Training นั้นควรมีให้ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะมาเป็นครู
ระบบการช่วยพัฒนาครู ‘ระหว่างทาง’ ปัจจุบันไม่ได้มีระบบช่วยสนับสนุนที่เป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การมีเครื่องมือช่วยครูสอนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง วิชาเพศวิถีศึกษาไม่มีอะไรที่ตายตัว เนื้อหาและการเรียนรู้เกิดจากการพูดคุย หรือการมี Dialogue ในห้องเรียน ฉะนั้นแล้วบางครั้งครูอาจจะเจอกับคำตอบหรือคำถามที่ทำให้ตั้งตัวไม่ถูก เนื่องจากครูเองอาจจะขาดประสบการณ์ในการสอน หรือเป็นชุดทัศนคติใหม่ๆ ที่ครูเองก็ไม่คุ้นเคย
ที่ผ่านมา องค์กร path2health foundation ได้เข้าไปทำหน้าที่ Coaching ผ่านการให้คำแนะในการเลือกใช้คำศัพท์ และเสนอแนะเรื่องเนื้อหา เป็นต้น
นอกจากนี้ จัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้ต่อ ก็สำคัญ เช่นหลังจากที่ครูได้เรียนและรับรองผลจากการเรียนออนไลน์แล้ว ครูนำไปสอนจริงไหม เนื้อหาที่พูดคุยนั้นเหมาะสมเหมือนที่ควรจะเป็นหรือไม่ และ คุณสายไหมชี้ว่า “มันจะเป็นประโยชน์ถ้ามีการจัดเก็บข้อมูล และนำมาใช้จริง ปัจจุบันตอบไม่ได้ว่าเด็กเรียนไปแล้วผลเป็นอย่างไร” ถ้าเรามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือตรงนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาเนื้อหาวิชาให้ก้าวไปข้างหน้า
ที่มา: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/PRIJNR/article/view/264799