นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2559 เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในภูมิภาคเอเชีย ด้วยอัตราความสำเร็จในการให้บริการตั้งครรภ์สูงถึง 52% ตามข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
ตัวเลขที่น่าสนใจคือการสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 7,500 ล้านบาท จากการให้บริการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มากกว่า 20,000 รอบการรักษา และการผสมเทียม (IUI) กว่า 12,000 รอบการรักษา และการอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกว่า “อุ้มบุญ” จำนวน 754 คนสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
แก้กฎหมายขยายสิทธิเข้าถึงหลากหลาย
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (ผบส.) บอกว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2568 ว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. …. ฉบับที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ประเด็นที่น่าจับตามองคือการพัฒนาร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ที่มุ่งเน้นการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มผู้รับบริการที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การรองรับกลุ่มสมรสเท่าเทียม สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
การเพิ่มกลุ่มผู้รับบริการตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ในกลุ่มชาวต่างชาติ แสดงถึงความพยายามในการขยายตลาดบริการสู่ระดับนานาชาติ แต่ต้องระวังประเด็นทางจริยธรรมและการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิงไทย และการส่งออกซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายเซลล์สืบพันธุ์ข้ามประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ต้องมีการควบคุมที่รัดกุม
ปัจจุบันและอนาคต “การอุ้มบุญ” ในไทย
ปัจจุบัน การอุ้มบุญในประเทศไทยได้รับการรับรองตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ กฎหมายอนุญาตเฉพาะคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่สามารถใช้บริการอุ้มบุญได้
อีกทั้งยังมีเงื่อนไขว่าหญิงที่จะให้บริการอุ้มบุญต้องเป็นญาติสายตรงของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตแต่ต้องไม่มีการรับค่าตอบแทน
การเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่ 2 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงข้อจำกัดเหล่านี้ โดยเฉพาะการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มสมรสเท่าเทียม และการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถใช้บริการตั้งครรภ์แทนในประเทศไทยได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย
กลุ่ม LGBTQ+ โอกาสการเข้าถึง
สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ นั้น ร่างกฎหมายฉบับใหม่สร้างความหวังให้กับการเข้าถึงบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และการอุ้มบุญ แต่โอกาสดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
จากความคืบหน้าของกฎหมายสมรสเท่าเทียม การจะได้รับสิทธิในการใช้บริการอุ้มบุญตามกฎหมายใหม่ กลุ่ม LGBTQ+ จำเป็นต้องได้รับการรับรองสถานะการสมรสตามกฎหมายก่อน
แต่รายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่ 2 ก็ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดพิเศษสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ หรือไม่ เช่น สิทธิในการรับรองความเป็นพ่อแม่ตามกฎหมาย หรือการกำหนดแหล่งที่มาของเซลล์สืบพันธุ์ และถึงแม้จะมีกฎหมายรองรับ แต่การปฏิบัติจริงอาจเผชิญกับทัศนคติเชิงลบจากบางส่วนของสังคม รวมถึงอุปสรรคจากความเชื่อและค่านิยมดั้งเดิม
ขณะที่ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และการอุ้มบุญมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับการเข้าถึงบริการของทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย โดยปัญหาเรื่องการรับรองสถานะทางกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกรณีของพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ+
ความหวัง-ความท้าทายในอนาคต
รายได้มหาศาลจากการให้บริการทั้งแก่คนไทยและชาวต่างชาติ สอดคล้องกับนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปิดให้บริการอุ้มบุญแก่ชาวต่างชาติ คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะอัตราการมีบุตรยากที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และการเกิดขึ้นของครอบครัวรูปแบบใหม่ รวมถึงครอบครัว LGBTQ+ ทำให้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นที่ต้องการมากขึ้น การเติบโตของคู่สมรสข้ามชาติก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
ขณะที่ ไทยมีศักยภาพและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถให้บริการได้ทัดเทียมนานาชาติ โดยเฉพาะในด้านการทำเด็กหลอดแก้วและการอุ้มบุญที่มีอัตราความสำเร็จสูง
แต่ความท้าทายและข้อกังวลก็คือ บริการเหล่านี้มีราคาสูง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ยาก การขยายบริการในสถานพยาบาลของรัฐอาจช่วยลดช่องว่างนี้ได้ แต่ยังมีคำถามว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะสามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางจริยธรรม เพราะการตั้งครรภ์แทนและการส่งออกเซลล์สืบพันธุ์อาจนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิงไทย ต้องมีกลไกป้องกันที่รัดกุม โดยเฉพาะในกรณีของการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปิดให้บริการแก่ชาวต่างชาติ
ขณะเดียวกันการเปิดให้บริการแก่กลุ่มสมรสเท่าเทียมและชาวต่างชาติอาจเผชิญกับแรงต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม รวมถึงอาจมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับนิยามของ “ครอบครัว” ในบริบทสังคมไทย
ดังนั้นแม้จะมีการพัฒนาร่างกฎหมายฉบับที่ 2 แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะสิทธิทางกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ ทั้งในกรณีของพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ+ หรือชาวต่างชาติ เช่น
- เด็กมีสิทธิรู้จักผู้ให้กำเนิดหรือไม่?
- หากเกิดความขัดแย้งระหว่างแม่อุ้มบุญกับผู้ว่าจ้าง จะจัดการอย่างไร?
- เด็กในครอบครัว LGBTQ+ จะถูกกฎหมายยอมรับแค่ไหน?
ประสบการณ์จากอดีตแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจอุ้มบุญที่ผิดกฎหมายยังคงมีอยู่แม้จะมีกฎหมายห้าม การเปิดให้มีการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมายจึงต้องมีระบบตรวจสอบและติดตามที่รัดกุม
การพัฒนาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของไทยกำลังยืนอยู่บนทางแยกสำคัญ ระหว่างการเปิดกว้างเพื่อรองรับความหลากหลายและโอกาสทางเศรษฐกิจ กับความจำเป็นในการสร้างกรอบจริยธรรมและกฎหมายที่เหมาะสม
ด้วยประสบการณ์ 9 ปีภายใต้กฎหมายฉบับแรก ประเทศไทยได้พิสูจน์ศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แต่การก้าวต่อไปจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคม
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง