องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ระบุวาอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยในปี 2023 เป็นปีที่อบอุ่นที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา โดยอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2.1 องศาฟาห์เรนไฮต์ หรือ 1.2 องศาเซียลเซียส เหนือระดับค่าเฉลี่ยในช่วงที่เป็นฐานการเปรียบเทียบระหว่างปี 1951-1980
นาซ่าระบุว่าประชากรนับพันล้านคนเผชิญกับสถานการณดังกล่าวในปีที่ผ่านมา และเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติ ตั้งแต่การเกิดไฟป่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เรากำลังเห็นโลกกำลังเปลี่ยนแปลง”
แผนที่โลกในปี 2023 แสดงให้เห็นอุณหภูมิพื้นผิวโลก โดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยจาก 1951-1980 ซึ่งอุณหภูมิปกติแสดงให้เห็นเป็นสีขาว สูงกว่าปกติคือสีแดงและสีส้ม และอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นสีน้ำฟ้า โดยอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ย้อนกลับไปถึงปี 1880
ที่มา: องค์การนาซา
ในปี 2023 ประชากรนับพันล้านคนทั่วโลกประสบกับความร้อนสุดขั้ว ในช่วงเดือนมิ.ย.-ธ.ค. เป็นช่วงอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น โดยเดือนก.ค. เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดทุบสถิติ จากอุณหภูมิทั่วโลก เพิ่มขึ้น 2.5 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1.4 องศาเซียลเซียส จากค่าเฉลี่ยศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการบันทึกสมัยใหม่
อุณหภูมิกำลังเพิ่มสูงขึ้น เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ โดยเกิดจากการเผาพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งที่ตามมาคือผลกระทบจากคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และน้ำท่วมชายฝั่ง
แม้ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมาจากกิจกรรมของมนุษย์มากมาย แต่การแปรเปลี่ยนของอุณหภูมิในแต่ละปีก็ขึ้นกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญ (El Niño) และ ลานิญา(La Niña) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยในช่วงปี 2020-2022 จะพบปรากฏการณ์ลานิญา ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลง และในเดือนพ.ค. 2023 ได้เปลี่ยนจากลานิญา ไปเป็นเอลนิโญ ซึ่งจะเป็นปีที่ร้อนที่สุด
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิสูงสุดทุบสถิติเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง 2023 ก่อนถึงช่วงสูงสุดของวัฏจักรเอลนิโญ ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเห็นผลกระทบจากเอลนีโญในเดือน ก.พ. -เม.ย. 2024
เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนพุ่งขึ้นทั่วเอเชีย
ทั่วโลกเผชิญกับความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีไม่มากนักที่กล่าวถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดมาจากภาวะโลกร้อน จนกระทั่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 มีการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 50 ประเทศ คู่ขนานไปกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 (COP28) ที่มหานครดูไบ
การเสียชีวิตจากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นกำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ โดยในเดือน เม.ย. 2566 ระดับความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติใน 4 ประเทศ คือ อินเดีย บังคลาเทศ ลาวและไทย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในอินเดีย เผชิญกับอุณหภูมิพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 44 องศาเซียลเซียสในบางพื้นที่ โดยผู้คนเสียชีวิตมากถึง 264 รายเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. สูงสุดตั้งแต่ปี 2017 แต่ปกติแล้ว เดือนที่ร้อนที่สุดในอินเดียคือเดือน เม.ย.
เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุว่าในช่วงปี 2017-2021 มีผู้เสียชีวิต 1,134 ราย เพิ่มขึ้นจาก 229 รายในช่วงปี 1997-2001 และกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า 85% ที่เสียชีวิตในปี 2021 เป็นคนที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนที่ลดการเสียชีวิตจากฮีทสโตรก หรือโรคลมร้อน ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ที่ป้องกันความร้อน หรือ ติดแอร์ในที่อยู่อาศัย
ภัยร้ายจากยุง ไข้เลือดออกและมาลาเรียระบาดหนัก
ระดับอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นพบได้ในหลายประเทศของเอเชีย อย่างกรณีประเทศไทย อุณหภูมิสูงสุด วัดได้ถึง 44 องศาเซียลเซียสที่ จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 43 รายจากสภาพอากาศร้อนจัด
แต่ความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตทางอ้อม ๆ ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ คือ โรคภัยที่มาจากยุงชุกชุม เพราะปรากฏว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกและมาลาเรีย สูงมากในปี 2566 ในพื้นที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี
แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข จะสามารถควบคุมไข้มาลาเรียได้มานานแล้ว แต่กลางปี 2566 พบคนไข้มากถึง 2,500 ราย และคนที่เป็นไข้เลือดออกได้เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน
เมื่อถึงเดือนพ.ย. 2566 มีคนเป็นไข้เลือดออก 127,838 ราย เมื่อเทียบกับ 46,755 รายในปี 2565 และสิ้นปี 2566 ผู้เป็นไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นทุบสถิติปี 2562 ที่มีผู้ติดเชื้อ 131,157 ราย
อ่านเพิ่มเติม: ผู้ป่วยไข้เลือดออก ยอดพุ่งข้ามปี
ไข้เลือดออกและมาลาเรีย มีการแพร่ระบาดในหลายประเทศในเอเชีย และจะเกิดการระบาดในวงกว้างเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ฝนชุกและความชื้นสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับยุงเพาะพันธุ์ นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นทำให้ไวรัสที่อยู่ในน้ำแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบและโรคท้องร่วงได้ง่ายตามแนวชายฝั่งทวีปเอเชีย
ในมาเลเซีย พบการระบาดของไข้เลือดออกเช่นเดียวกัน จากสถิติเมื่อวันที่ 10 พ.ย. มีผู้เป็นไข้เลือดออก 100,936 ราย เพิ่มขึ้น 96.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 78 ราย จาก 35 รายในปีก่อน
ในบังคลาเทศ ก็เผชิญกับปัญหาเดียวกัน พบว่ามีผู้ป่วยจากไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น และ ปีที่ผ่านมา เสียชีวิต 1,500 ราย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกมาเตือนในช่วงปีที่ผ่านมาว่าระบบสาธารณสุขเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ปากีสถาน เป็นอีกประเทศที่เผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2022 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ในปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 1.6 ล้านคน
วันที่อากาศเลวร้ายในรอบปี
อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันและถ่านหิน แต่ยังเกิดจากการเผาพืชไร่และไฟป่าในแต่ละปี โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย มีการถางป่าเพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาครึ่งศตวรรษ ส่งผลให้สภาพอากาศในเอเชียหลายประเทศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ออกรายงานในปี 2565 ระบุว่ามีประชากรราว 4 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิก เสียชีวิตก่อนวันอันควรทุกปี
เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก 10 แห่ง พบว่าอยู่ในเอเชีย 9 แห่ง และในจำนวนนี้อยู่ในอินเดีย 6 แห่ง ทำให้ประชากรในประเทศเอเชียมีปัญหาสุขภาพอันเกิดจากมลพิษทางอากาศสูงขึ้น ซึ่งหลายเมืองในเอเชียมีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจสูงขึ้น
สภาพอากาศเลวร้ายอย่างมากในเมืองใหญ่ อย่างกรณี จาการ์ตา เป็นเมืองที่ติดอันดับมีมลพิษมากที่สุดในโลกในช่วงเดือนส.ค. เกิดจากการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกทั้งเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ระหว่างเดือนก.ค.-ต.ค. ทำให้สถานการณ์ในจาการ์ตาเลวร้ายขึ้นจนรัฐบาลต้องประกาศให้ข้าราชการครึ่งหนึ่งทำงานจากที่บ้าน
อย่ามัวแต่เสียเวลา ต้องรีบแก้ปัญหา
องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวเตือนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ในปี 2567 อาจจะเป็นปีที่ร้อนกว่าปี 2566 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์คลื่นความร้อนรุงแรงขึ้น ฝนตกหนักและสภาพอากาศสุดขั้วในบางพื้นที่ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากเอลนีโญ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นทิศทางที่ไม่เปลี่ยนไปอย่างอื่นได้ และจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องหามาตรการลดคาร์บอน ปัญหาก็คือ การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นเร็วในระดับที่ใหญ่กว่าที่ระบบนิเวศน์จะรับได้”
อย่างไรก็ตาม ทุกคนตระหนักว่าความท้าทายในการรับมือการเปลี่ยนสภาพภูมิกาศยากขึ้นเรื่อย ๆ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้เรารู้ว่าโลกกำลังมุ่งสู่ระดับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม และอุณหภูมิอาจสูงกว่านั้น หากไม่เริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง
ที่มาข้อมูล: