ปัจจุบัน แรงงานของไทยมีหลากหลาย บางกลุ่มมีหลักประกัน หากมีการเลิกจ้างหรือว่างงานเกิดขึ้น แต่บางกลุ่มไม่มีหลักประกันกรณีการเลิกจ้าง หรือ บางกรณี นายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
แม้ว่าปัจจุบัน แรงงานส่วนใหญ่จะมีหลักประกันทางสังคมดีขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะประกันสังคมที่มีการขยายรับสมาชิกประกันสังคม ทั้งผู้ที่ทำงานประจำและไม่ได้เป็นผู้ทำงานประจำ หรือ ฟรีแลนซ์ โดยมีการเปิดรับสมัครสมาชิกประกันสังคม 3 ประเภท คือ มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40
อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือจากสมาชิกประกันสังคม กรณีมีการเลิกจ้าง หรือ ให้ออกจากงาน มีเฉพาะประกันสังคม มาตรา 33 เท่านั้น ส่วนมาตรา 39 และ 40 ไม่มีการคุ้มครองกรณีการว่างงาน
สำหรับเงื่อนไขประกันสังคม ตามมาตรา 33 มีดังนี้
- กรณีว่างงาน มีการจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่ว่างงาน และว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
- ถูกเลิกจ้างได้เงิน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 180 วันต่อปี
- ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน ได้เงิน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (ซึ่งผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน)
นอกจากประกันสังคมแล้ว ลูกจ้างอาจได้รับความช่วยเหลือกรณีถูก “เลิกจ้าง” จาก “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย หรือในกรณีอื่นตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
ตามกฎหมาย มาตรา 130 กำหนดให้ลูกจ้างสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และมาตรา 131 กำหนดให้นับแต่วันที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม โดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ต้องไม่เกิน 5% ของค่าจ้าง
แม้ความว่าลักษณะของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกับประกันสังคม จะคล้ายกันในหลายด้าน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ พอสมควร ซึ่งประกันสังคมมีรูปแบบสวัสดิการ 7 กรณี คือ 1) กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2) ทุพพลภาพ 3) ตาย 4) คลอดบุตร 5) สงเคราะห์บุตร 6) ชราภาพ และ 7) ว่างงาน โดยในกรณีลูกจ้างตาย ชราภาพ และว่างงาน ส่วนกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีออกจากงานหรือตาย
นอกจากนี้ แม้จะมีการเรียกเก็บเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างเหมือนกัน แต่ประกันสังคมจะได้รับเงินสมทบจากภาครัฐ ซึ่งรัฐไม่ได้สมทบให้กับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
เงินสงเคราะห์จ่ายให้ใคร
เงินสงเคราะห์ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะจ่ายให้กับลูกจ้างซึ่งได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย หรือนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง หรือเงินอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ไม่รวมถึงทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ได้ยื่นคำร้องทุกข์ไว้
เมื่อใดลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
- เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างและนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและ นายจ้าง มิได้จ่ายเงินตามคำสั่งภายในกำหนด ซึ่งนายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาล (พ้นระยะ 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง)
- เมื่อนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้เมื่อพนักงาน ตรวจแรงงาน ได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินและนายจ้างมิได้จ่ายเงินตามคำสั่งภายในกำหนด
- การยื่นขอรับเงินกองทุนฯ ต้องยื่นคำขอภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ 2 กรณี
1.เงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โดยจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้บางส่วน หรือไม่เต็มสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คือจ่ายให้ ลูกจ้างผู้ขอรับเงินสงเคราะห์ในอัตราดังต่อไปนี้
- สามสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ หนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหกปี
- หกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ หกปีขึ้นไป
2.เงินสงเคราะห์ในกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ฯลฯ จะให้การสงเคราะห์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ลูกจ้าง สำหรับอัตราเงินที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จะจ่ายในอัตราไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของลูกจ้างที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
บัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ซึ่งแสดงได้ว่าระบุถึงตัวผู้นั้นพร้อมสำเนา
สถานที่ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ สกล.1) ต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน
- ส่วนกลาง ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ ทุกพื้นที่
- ส่วนภูมิภาค ยืนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัด
การรับเงินสงเคราะห์
ลูกจ้างมารับเงินด้วยตนเองภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอรับเงินสงเคราะห์พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแสดงด้วย หากไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเองได้ สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับเงินแทนได้ ผู้รับมอบอำนาจต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และตนไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับเงิน หากไม่มารับเงินภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย สิทธิในการขอรับเงิน สงเคราะห์เป็นอันระงับสิ้นไป หากลูกจ้างผู้ถูกระงับสิทธิ์ไปแล้ว มีความประสงค์จะรับเงินกองทุนฯ อีกต้องยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์ใหม่
อ่านเพิ่มเติม:
ยกเว้นภาษีเงินชดเชยเลิกจ้าง มีผลย้อนหลัง 1 ม.ค. 66
ความต่าง “กองทุนเงินทดแทน-กองทุนประกันสังคม”
ที่มา: