มีรายงานพื้นที่ได้รับความเสียหายครอบคลุม 18 จังหวัด รวมถึงพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ยังสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่คือ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ “สตง.” ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนั้น เกิดการถล่มลงมา ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับวิกฤตแผ่นดินไหวครั้งนี้ และส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนต้องหยุดชะงักลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในวิกฤตนี้เต็มไปด้วย ข่าวลือ ความโกลาหลมากมายที่ซ้อนทับกัน และแม้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ในอดีตผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยมักออกมาพูดถึง ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การป้องกัน การเตือนภัย หรือวิธีการรับมือ การมองข้ามว่าภัยจะไม่เกิดขึ้นในตอนนั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนเผชิญอยู่ตอนนี้…… อะไรที่คิดว่าไม่เกิด มันเกิดขึ้นแล้ว…”
หากเราได้เพ่งพินิจลึกลงไปในมิติเชิงความรู้และทักษะของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในการรับมือแผ่นดินไหวครั้งนี้ จะพบว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นคือการส่งต่อความรู้และพัฒนาศักยภาพในการรับมือให้กับประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ตลอดจนการตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นว่า ภัยที่เกิดขึ้นในเขตเมืองไม่ได้มีแค่ไฟไหม้ น้ำท่วม เราต้องคิดให้รอบด้านทุกภัยและทุก ๆ ความเสี่ยง
การจัดการภัยพิบัติในครั้งนี้เป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาสำคัญที่สะท้อนถึงหลักการใช้กฎหมายเกี่ยวกับ “พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2550” และ “แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2564 – 2570” ที่แทบจะกางตำราการจัดการภัยพิบัติออกมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นขั้นตอน อย่างมืออาชีพ ลำดับขั้นตอนตามมาตราฐานการปฏิบัติงานเป็นฉาก ๆ ตามมาตรฐานสากล เปรียบได้กับการนำแนวทางในตำราออกมาสู่การปฏิบัติในสถานการณ์จริง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานสากลและเป็นมืออาชีพ คือ “บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (พนักงาน ปภ.) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลแรกที่ต้องเผชิญเหตุและเป็นที่พึ่งของประชาชนในสถานการณ์วิกฤตในทางกลับกันสัดส่วนของบุคลากรด้านการป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท มีสัดส่วนบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวสูงกว่าสัดส่วนบุคลากรที่เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ เนื่องจาก ข้อจำกัดของอัตรากำลังที่จำกัด ความก้าวหน้าในสายงานที่มีความก้าวหน้าน้อยและไม่มีตำแหน่งให้เติบโตในสายอาชีพนี้ ผนวกกับกรอบอัตรากำลังที่ถูกกำหนดไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 40 ของพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ.2542
นั่นทำให้พนักงาน ปภ. มีจำนวนที่น้อยมากและในบางพื้นที่ อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็กภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยถูกฝากไว้กับฝ่ายงายด้านช่างหรือฝ่ายงานด้ารสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม น่าตกใจและชวนสงสัยว่า “ภารกิจที่สำคัญที่อยู่กับความเป็นและความตายของคน กลับถูกมองข้ามไปหรือเปล่า”
แน่นอนว่าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (พนักงาน ปภ.) บุคคลกลุ่มนี้ควรจะได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนกับความเสี่ยงทุกภัยในพื้นที่ของตนเอง เพราะการพัฒนาขีดความสามารถในการเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายหลังจากสถานการณ์ภัยพิบัติ จำเป็นจะต้องมีผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน พนักงาน ปภ. เป็นบุคลากรกลุ่มนี้เป็นกลไกในการประสานความช่วยเหลือและการบริหารจัดการเพื่อเผชิญเหตุ ที่สำคัญที่สุด เป็นกลุ่มแรกที่เผชิญเหตุและประชาชนเรียกหาเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ทว่าความไม่เชื่อมโยงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันที่พัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้หลักสูตรของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของพนักงาน ปภ. และหลักสูตรส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ภัยจากไฟไหม้มากกว่าการออกแบบการอบรมให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในพื้นที่นั้นๆ
นอกจากนั้นงบประมาณในการอบรมที่แพงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถสนันสนุนการอบรมของพนักงาน ปภ. ได้อย่างทั่วถึง สม่ำเสมอ ปัจจุบันสภาพในการพัฒนาเป็นการพัฒนาด้วยกันเองผ่านระบบครูฝึกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการถ่ายทอดความรู้ของพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เท่านั้น
ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวปี 2568 ครั้งนี้นอกจากพนักงาน ปภ. แล้วในเขตเมืองกลุ่มคนที่ประชาชนเรียกหาและขอความช่วยเหลือคือ “ผู้นำ”ผู้รับผิดชอบด้านอาคารและสถาน นิติบุคคล ตลอดจนหน่วยงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งในอนาคตต้องมีการพิจารณาในการเพิ่ม สมรรถนะ หรือ คุณสมบัติให้เพียงพอต่อการเผชิญเหตุแผ่นดินไหว ดังนี้
1) การให้คำแนะนำด้านโครงสร้างบ้านและอาคาร นอกจากพนักงานปภ.ที่จะต้อง ต้องมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานและให้คำแนะนำในการซ่อมแซมและเสริมสร้างความแข็งแรงของอาคารและบ้านเรือนของประชาชน เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้แล้วนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบด้านอาคารและสถานที่จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบและต้องมีความรู้พื้นฐานเพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และหน่วยงานของตนเองเพื่อสร้างความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างให้สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวและอาคารถล่มได้ ตลอดจนต้องมีการตรวจสอบอาคารอย่างสม่ำเสมอ
2) การจัดทำแผนที่และอพยพประชาชนในพื้นที่ กล่าวคือ ในพื้นที่ชุมชน พนักงานปภ. จะต้องมีการเตรียมการในการจัดทำแผนที่ชุมชนในพื้นที่ และการวางแผนในการอพยพประชาชนในพื้นที่ไปในที่ที่ปลอดภัย
เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวและอาคารถล่มโดยจะต้องเป็นการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล โดยจะต้องเข้าใจระบบบัญชาการสถานการณ์ และประสานงานสนับสนุนเครื่องมือในกาปฏิบัติงาน โดยจะต้องสามารถจัดทำแผนที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในพื้นที่และเมื่อเกิดเหตุสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ผู้ที่รับผิดชอบด้านอาคารสถานที่ก็จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมในการอพยพ ลูกบ้าน พนักงานออฟฟิศ หรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยการจัดทำแผนอพยพหรือพื้นที่ปลอดภัยนั้นไม่ควรจะเป็นแค่การตรวจตามมาตรฐานสากลเท่านั้นแต่จำเป็นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์และซักซ้อมเมื่อเกิดเหตุ
3) การปฏิบัติค้นหาและกู้ชีพในสถานการณ์แผ่นดินไหว กล่าวคือ พนักงาน ปภ. ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและกู้ชีพในสถานการณ์แผ่นดินไหวและอาคารถล่มตามมาตรฐานสากล หรือ การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search And Rescue: USAR) ความรู้และทักษะในด้านนี้เป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ปภ. โดยตรงบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยควรจะได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถให้ครบทุกภัยและครบทุกความเสี่ยง อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของผู้นำในหน่วยงานสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือการกู้ชีพและความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
4) การประเมินสถานการณ์และประสานข้อมูลสารสนเทศด้านแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม หากเป็น พนักงาน ปภ. แล้ว ต้องสามารถวางแผนและการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มด้วยการประเมินสถานการณ์และประสานข้อมูลสารสนเทศด้านแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม เพื่อให้สามารถเตรียมการในการ เผชิญเหตุแผ่นดินไหวและอาคารถล่มและลดผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวได้
แต่หากเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและจะต้องนำประชาชนของตนเองแล้ว การไม่ตื่นตระหนกและการเช็คความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนที่จะประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆและส่งผลกระทบต่อความตื่นตระหนกและจิตใจของประชาชนเป็นอย่างมากจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีข่าวลือ หลายครั้งไม่ว่าจะเป็น After Shock ที่เกิดข่าวลือได้เรื่อย ๆ ทักษะของการประเมินและ ใช้ข้อมูลสารสนเทศและข้อมูลที่เป็นทางการจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
5) การสื่อสารสาธารณะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม เมื่อเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่เผชิญเหตุแต่ยังต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการควบคุมสถานการณ์ในขณะนั้น จำเป็นจะต้องมีการสื่อสารระหว่างผู้บัญชาการสถานการณ์และพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นั่นรวมไปถึงการสื่อสารให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความรู้ ทักษะ ที่ต้องมี
นั่นก็คือ ทักษะและความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้กับประชาชนในพื้นที่เข้าใจถึงความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมการที่จะรับมือรวมถึงการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชนเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว และการสื่อสารในสภาวะฉุกเฉิน
ในมิติการพัฒนาความรู้ทักษะที่กล่าวมามีข้อจำกัดตามเมื่อบริบทแวดล้อมต่างกันและมีทรัพยากรทางการบริหาร ตลอดจนรูปแบบของการบริหารที่แตกต่างกัน แล้วควรมีการประยุกต์เอาไปใช้ตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม สิ่งหนึ่งที่ทุกๆ พื้นที่ควรต้องมีคือ บุคลากรที่มีคุณสมบัติพื้นฐานในการให้คำแนะนำด้านโครงสร้างบ้านและอาคาร และ การสื่อสารสาธารณะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการทำงานของผู้ปฏิบัติอย่างมืออาชีพและลดทอนความตื่นตระหนกของประชาชน
ในช่วงที่ผู้เขียนได้ศึกษาในรายวิชาการจัดการภัยพิบัติ กับอาจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน มีคำกล่าวที่ผู้เขียนไม่เคยลืมเลยว่า “ต่อให้เรามีเจ้าหน้าที่ที่เก่งมากแค่ไหน เครื่องมือที่ดีที่สุดในการเผชิญเหตุอย่างไร คนที่เจอเหตุการณ์คือ “พวกเรา” …. เอาตัวให้รอด ไม่เป็นภาระของเจ้าหน้าที่” (ทวิดา กมลเวชช ,2554) ดังนั้น พวกเรา ประชาชน ผู้ประสบภัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติภารกิจของภาครัฐราบรื่บด้วยเช่นกัย
ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอชวนทบทวนและพิจารณา คือ ความสำคัญของการมีความรู้และมีทักษะการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยของสังคมไทยเป็นความท้าทายของสังคมไทย หากทำได้สำเร็จนอกจากประชาชนจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลดภัย ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถเป็นไปตามมาตราฐานสากลแล้วนั้น สังคมไทยยังสามารถพัฒนาอาสาสมัครที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่จะสามารับมือกับสถานการณ์ด้านประชากรที่จะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
การพัฒนาความรู้ ทักษระ ของผู้ปฏิบัติงาน ของประชาชน ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคนในปัจจุบันที่พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่และการปรับตัวจะเป็นแนวทางในการพัฒนาคนเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากภัยพิบัติได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
ผวาความปลอดภัย ฉุดท่องเที่ยวสงกรานต์ซบ
ยกระดับ “ข้อมูล” รับมือภัยพิบัติ
ยกเครื่องระบบเตือนภัยพิบัติ เพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วมดินถล่ม