เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดประจำปีที่สำคัญของไทยที่ประชาชนมักถือเป็นโอกาสสำคัญในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากมีวันหยุดอย่างน้อย 3 วันตามเทศกาลและอาจขยายออกเป็น 5-6 วัน กรณีที่มีช่วงเวลาเทศกาลที่คาบเกี่ยวกับวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดพิเศษตามประกาศจากภาครัฐ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ในปี 2568 เทศกาลสงกรานต์ เป็นปีที่วันหยุดมีระยะที่สั้นเพียง 4 วัน สำหรับกลุ่มผู้ทำงานบริษัทเอกชน และ 5 วันสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตรงกันข้ามกับปีก่อนที่มีวันหยุดค่อนข้างเอื้ออำนวยที่จะส่งผลให้เงินสะพัดช่วงสงกรานต์มากเป็นพิเศษเนื่องจากมีวันหยุดพิเศษตามประกาศรัฐบาลให้มีวันหยุดยาวได้ถึง 5 วัน รวมถึงประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เม.ย. ก็จะสามารถจัดสรรช่วงวันหยุดได้ยาวถึง 11 วัน ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษ
ด้วยข้อจำกัดเรื่องกรอบเวลาที่สั้นกว่าที่คาดไว้จะกดดันให้เม็ดเงินที่สะพัดจากฝั่งของนักท่องเที่ยวไทย รวมถึงแรงกดดันจากประเด็นเรื่องความกังวลจากเหตุแผ่นดินไหวที่คาดมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จึงอาจส่งผลให้เม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลคาดว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สงกรานต์วันหยุดน้อย
การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาจากแหล่งงานในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงมีการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการเดินทางสูงกว่าปกติและในปี 2568 ด้วยกระแสการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังมีแนวโน้มเติบโตคาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 จะมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่าปี 2567 ที่ราว 5.2%
แต่ด้วยผลของราคาน้ำมันที่เปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันที่ต่ำกว่าเฉลี่ย 9.1% ส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดจากการเดินทางเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 9.4% ในขณะที่เม็ดเงินที่สะพัดจากค่าที่พักเฉลี่ยต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อนปรับเพิ่มขึ้นราว 6.2% จากผลของราคาห้องพักที่ในภาพรวมยังไม่ขยับเพิ่มมากนักจากที่มีการขยับราคาในภาพรวมในปี 2567
แต่อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นมากเป็นส่วนของค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ปรับเพิ่มจากปีก่อนหน้า 17.1% และ 14.2% ตามลำดับ ซึ่งเป็นปกติของเทศกาลสงกรานต์ที่มีการกลับภูมิลำเนาเพื่อสังสรรค์ พบปะญาติพี่น้อง ลูกหลาน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ทำงานภาคเอกชนจะมีโอกาสเพียง 4 วันส่งผลให้รายจ่ายที่วางแผนเพื่อใช้สำหรับค่าอาหาร ซื้อสินค้าต่าง ๆ ถูกจัดสรรต่อวันเพิ่มมากขึ้นจากกรอบวันที่สั้นลง
เมื่อมองในภาพรวมแล้วด้วยประชาชนส่วนใหญ่สามารถมีวันหยุดเทศกาลเพียง 4 วัน ttb analytics จึงประเมินว่า เม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยปี 2568 คาดอยู่ที่ 16,300 ล้านบาท จะลดลงจากปีก่อนที่ 17,200 บาท หรือลดลง 5.2%
คนจีนหาย-ต่างชาติกังวลแผ่นดินไหว
ในส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ในช่วง ม.ค. 68 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสูงกว่าที่คาดด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22.2% ซึ่งบางส่วนได้รับอิทธิพลจากวันหยุดยาว Golden Week ของชาวจีน ที่ในปีนี้เริ่มตั้งแต่ 28 ม.ค. 68
แต่ในเดือนก.พ. พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับพลิกหดตัว 6.9% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากกระแสนิยมที่อ่อนแรงรุมเร้าด้วยความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยในการท่องเที่ยวในไทยของชาวจีน กดดันให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงถึง 45% เหลือเพียง 0.37 ล้านคน จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าที่มีจำนวนถึง 0.67 ล้านคน อีกทั้งสถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนที่ (ยัง) ไม่กลับมาในเดือน มี.ค. ก็ดูเหมือนจะยังไม่ดีขึ้นด้วยนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเหลือเพียง 0.29 ล้านคน หรือลดลงถึง 49%
อีกทั้งสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน เม.ย. คาดยังได้รับแรงกดดันจากเหตุแผ่นดินไหวที่กระทบจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์จากความกังวลที่ยังไม่คลี่คลายในมุมมองของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติใน เม.ย. 68 จะมีจำนวนราว 2.24 ล้านคน ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 18.9% ( เม.ย. 67 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.76 ล้านคน) ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันสำหรับการท่องเที่ยวไทย อีกทั้งแรงกดดันอีกประการหนึ่งคือสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่ปกติรายจ่ายเฉลี่ยต่อวันค่อนข้างสูงมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือเพียงราว 11% จากที่เคยมีสัดส่วน 22% ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ก็นับเป็นอีกปัจจัยกดดันอีกประการหนึ่ง
ttb analytics คาดว่าเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 19,600 ล้านบาท ลดลง 24% จาก 24,300 ล้านบาทในปี 2567
เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 คาดว่าจะหดตัวเหลือเพียง 35,900 ล้านบาท หรือลดลง 13.5% เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2567 ด้วยสาเหตุหลักซึ่งประกอบด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการมาเที่ยวไทย
ทั้งเหตุการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์และสถานการณ์แผ่นดินไหว ประกอบกับนักท่องเที่ยวไทยมีช่วงวันหยุดน้อยกว่าปีก่อน ๆ ส่งผลให้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐอาจต้องหาแรงกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 และเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีความมั่นใจ และกลับมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง