สหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) กับหลายประเทศทั่วโลกที่เกินดุลการค้า ตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะมองว่าประเทศเหล่านี้เอาเปรียบสหรัฐฯ และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ถูกสหรัฐฯตั้งกำแพงภาษี 36% แต่ต่อมา ทรัมป์ ได้ประเลื่อนกำแพงภาษีออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดทางให้นานาประเทศเข้ามาเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ
ในงาน Media Briefing หัวข้อ “วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย” โดย สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การที่สหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีในหลายประเทศ เป็นเรื่องช็อคใหญ่ของโลกที่จะมีผลระยะยาว ทำให้การค้าโลกเปลี่ยนใหม่ และกว่าสร้างสมดุลย์ใหม่ได้จะใช่เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน ส่วนไทยเริ่มเห็นสัญญาณการผลิต การค้า และการลงทุนบางส่วนเริ่มชะลอลงแล้ว เพื่อรอดูความชัดเจนของการเจรจากับสหรัฐฯ ในช่วง 90 วัน
ภาพรวมผลกระทบเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น ธปท.ประเมินว่าจะปี 68 จะเติบโตลดลงต่ำกว่า 2.5% แน่นอน (คาดการณ์เดิม 2.8% รวมผลกระทบภาษีทรัมป์ 10%) โดยความชัดเจนของตัวเลขจะออกมาหลังจากประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 เม.ย. 68 ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลงตามเช่นกัน
“ตัวเลขที่เรามองไว้ ผลกระทบจะไม่ได้น้อย แต่คงไม่ได้ลงไปแบบรุนแรงเหมือนช่วงโควิด” สักกะภพ กล่าว

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ภาษีทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยส่งผ่านทางตั้งแต่ ตลาดการเงิน โดยหลังสหรัฐฯ เริ่มประกาศมาตรการภาษี สกุลเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้สกุลเงินอื่น ๆ รวมถึงไทยพลิกแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นยังคงสอดคล้องไปตามภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะมีหนี้ในต่างประเทศน้อย และมีสภาพคล่องที่สูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค ส่วนภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ยังเป็นปกติ ทั้งนี้ยังต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ในส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ธปท. มีการประเมินความเสี่ยงและปรับปรุงการลงทุนตลอดเวลา โดยได้กระจายความเสี่ยงอยู่แล้วในสกุลเงินประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเครดิตเรทติงที่ดี รวมถึงลงทุนในสินทรัพย์อื่นด้วย เช่น ทองคำ
ด้านการลงทุนในไทย พบว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนที่เริ่มชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป เนื่องจากความไม่แน่นอนที่ยังสูง จึงต้องรอดูความชัดเจนก่อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์ ทั้งนี้การย้ายฐานการผลิตต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับอุตสากรรม
สำหรับการส่งออก เป็นส่วนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ โดยจะส่งผลเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯอยู่ที่ 18.3% ของการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 2.2% ต่อจีดีพี คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย (ส่งออกไปผลิตที่อื่นเพื่อส่งต่อไปสหรัฐฯ)
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ได้ยกตัวอย่างผลกระทบจากการส่งออก โดยหากส่งออกไทยลดลงคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกไปสหรัฐฯทั้งหมด จากการคำนวณจะกระทบการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี ) ไทยคิดเป็น 0.4% อย่างไรก็ตามสิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างประมาณการเท่านั้น ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนของผลเจรจาก่อน และขนาดของภาษีที่ไทยจะได้รับ
นอกจากนี้สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง และหันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทย รวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม เพราะหลังจากปี 65 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การบริโภคของเอกชนเติบโตต่อเนื่องทุกปี แต่กลับไม่ส่งผ่านไปยังภาคการผลิตที่ยังคงเติบโตลดลง
ด้านเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง โดยนอกจากจะกระทบการส่งออกของไทยแล้ว จะส่งผลไปถึงภาคการท่องเที่ยวในแง่ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอย่างน้ำมันก็จะปรับลดลงด้วย ส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยทยอยปรับลดลงจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่ในไตรมาส 2 และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
แต่ ธปท.มองว่าเงินเฟ้อที่ลดลง อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่ง จะทำให้ต้นทุนการผลิต และการนำเข้าลดลง เพราะไทยนำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก แต่ต้องติดตามต่อว่าปัจจัยที่กดดันเงินเฟ้อให้ลดลงนั้นจะส่งผลนานขนาดไหน อย่างไรก็ตามถ้าหากเริ่มเห็นผลของเงินเฟ้อที่เกิดจากจากฝั่งอุปสงค์อ่อนแอ และราคาสินค้าปรับลดลงในวงกว้าง ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลเงินเฟ้อ แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณความเสี่ยงดังกล่าว
สำหรับแนวทางการรับมือของ ธปท. โดยจะติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และจับตาโอกาสเกิดดิสรัปชั่น (disruption) ในกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้า โดยจะติดตามข้อมูลที่เร็วขึ้นในด้านการค้า เช่น
- ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า
- การผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม ม.75 พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ
- ภาวะการเงิน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชน
- Sentiment (ความเชื่อมั่น) การลงทุน เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน และการขอขยายเวลาการออกบัตรฯ เพื่อเลื่อนการลงทุนออกไป
นอกจากนี้จะดูแลการทำงานของกลไกตลาดการเงินให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง
อย่างไรก็ตามนโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ถือเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างถาวร ทำให้ต้องเร่งปรับตัว โดยในระยะสั้น นอกจากเรื่องการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (transshipment) เช่น กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าและความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ การเร่งรัดกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาด ๆ (AD/CVD และ AC) ข้อพิพาทกับต่างประเทศ การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม เป็นต้น
ในระยะยาว ไทยควรกระจายความเสี่ยงหาตลาดใหม่อื่นเพิมเติ่ม และสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) กับประเทศในภูมิภาค และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันได้ในระดับโลก โดยยกระดับภาคการผลิตและภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม ทักษะแรงงาน และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
อ่านเนื้อหาอื่น
- สงครามการค้าเพิ่งเริ่มต้น ไทยมีเวลาเตรียมตัว 90 วัน
- นโยบายภาษีทรัมป์: คว่ำภูมิทัศน์การค้าโลก ทำเศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย
- สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระอุ เศรษฐกิจปั่นป่วนอีกนาน