ภาระหนี้ของรัฐบาลกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากรายจ่ายขยายตัวรับสังคมสูงอายุ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประเด็นเสถียรภาพทางการคลังยังอยู่ในความสนใจของบรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง
ภาระหนี้ต่องบประมาณของไทยขยับขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดในงบประมาณปี 2568 ภาระหนี้ต่องบประมาณประจำปี คิดเป็น 10.93% จากงบประมาณ 3.75 ล้านล้านบาท หรือกว่า 4.1 แสนล้านบาทต้องนำไปชำระหนี้ ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 68 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Rating and Investment Information, Inc. (R&I) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
แต่ประเด็นสำคัญคือการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่ง R&I มีความเห็นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ
R&I คาดว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตอยู่ที่ 2.6% ในปี 2567 และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2568 อันเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
แม้ว่าการขาดดุลทางการคลังจะยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 4.3% ในปี 2567 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ในปี 2568 แต่จะเริ่มทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2569 จนอยู่ที่ 3% ในปี 2572 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public Debt to GDP) อยู่ที่ 63% ในปี 2567
R&I เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกินกรอบกฎหมายที่กำหนด อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ ซึ่งตลาดการเงินยังคงมีสภาพคล่องสูงเพียงพอที่จะสามารถรองรับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น จึงไม่มีความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินทุนของภาครัฐ
R&I มองว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมกับการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investments) ผ่านการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่หลากหลายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความแข็งแกร่งและทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 2.5% ต่อ GDP ในปี 2567 และคาดว่าในปี 2568 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลอยู่ในระดับเดียวกันที่ร้อยละ 2.5 จากการมีเสถียรภาพของราคาพลังงาน และการเติบโตของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า (Goods Exports) เป็นสำคัญ
ปัจจัยสำคัญที่ R&I จะติดตามสำหรับพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัยที่อาจจะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของเงินงบประมาณ และมาตรการสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่และการยกระดับมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
เช่นเดียวกับ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
S&P มีมุมมองที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้
S&P คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็น 2.8% และ 3.1% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ อันเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) จะเติบโตเฉลี่ย 3.0%ในช่วงปี 2567 – 2570 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3% ในช่วงปี 2568 – 2569
S&P มองว่ารัฐบาลไทยจะยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติรวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private-Partnerships) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการลงทุนอย่างต่อเนื่องดังกล่าวจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
หนี้ภาครัฐบาลสุทธิต่อ GDP (Net General Government Debt to GDP) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในปี 2568 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย S&P คาดว่าการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวจะทำให้การบริโภคของภาคเอกชนเติบโต
ภาคการเงินต่างประเทศ(External Finance) แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 1.4% ในปี 2566 และคาดว่าตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลเฉลี่ย 2.3% จากการฟื้นตัวของภาคการบริการ (Services Exports) เป็นสำคัญ
สหรับ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีข้างหน้าโดยนับตั้งแต่ม.ค.-ต.ค. 67 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 29.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลในการยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย
ปัจจัยสำคัญที่ S&P จะติดตามสำหรับพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน (Peers) รายได้ต่อหัว (Income per Capita) และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
กองทุนประกันสังคม: ถึงเวลาปรับใหญ่ก่อนเผชิญวิกฤต