ในอดีตที่ผ่านมาสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ผ่านโครงการโมเดิร์นไนซ์ ไทยแลนด์ และมีความพยายามครั้งที่สองในสมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น เสนอให้นำเงินทุนสำรองฯไปลงทุนซื้อกิจการพลังงาน เพราะเชื่อจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตร จนได้รับเสียงต่อต้านอย่างหนักและยอมถอนแนวความคิดนี้ไปในที่สุด
ล่าสุด ในรัฐบาลปัจจุบัน มี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า เงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินทุนสำรองฯสูงเกินไป ควรจะแบ่งออกมาบริหารจัดการ และยังมีแนวความคิดที่จะนำเงินทุนสำรองฯมูลค่า 4-5 ล้านล้านบาทนี้ นำออกมาใช้ช่วยเหลือประชาชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม แม้จะ “โยนหินถามทาง” มานาน แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ อีกทั้งในบางช่วง เกิดแรงต่อต้านและเป็นหนึ่งในประเด็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงการที่รัฐบาลมีแนวความคิดจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ ว่า ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองฯ จำนวนมากจริง แต่เป็นเงินที่มีเจ้าของ และอนาคตไม่แน่นอนว่าจะคงระดับมากไปเรื่อย ๆ ได้ เพราะประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงต่อเนื่อง ไม่เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างชาติเท่าไรแล้ว การนำเงินทุนสำรองฯไปใช้ ไม่ว่าเพื่อการใด ต้องระมัดระวังอย่างมาก
ทั้งนี้บริบททางการเมืองเอียงไปทางการใช้นโยบายประชานิยมชัดเจน และนักการเมืองไม่เข้าใจ (หรือแกล้งไม่เข้าใจ) ว่าต้องรับทั้งสินทรัพย์และหนี้สินที่เชื่อมโยงกับเงินทุนสำรองฯ ที่อยากเอาไปใช้ จึงเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงิน อีกทั้งมีการวางตัวคนของตนเองเข้าไปในธปท.แล้ว
ส่วนระดับธรรมาภิบาลและความเป็นมืออาชีพของการบริหารกองทุนภาครัฐของไทยเป็นอย่างไร คงทราบกันดี
เงินสำรองฯของใคร
การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ออกมาใช้ในรูปกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) สามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน เงินสำรองฯของใคร เอาไปทำอะไร เอาไปอย่างไร และบริหารอย่างไร
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ในโลกนี้แบ่งได้กว้าง ๆ คือ เงินของแผ่นดิน หรือ เงินที่เจ้าของเอามาฝาก โดยกรณีแรกมักเป็นเงินที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ซึ่งเป็นของทุกคนในประเทศ ซึ่งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ในประเทศนอร์เวย์ คูเวต ซาอุดีอาระเบียน เข้าข่ายลักษณะนี้
กรณีสองเป็นเงินสำรองที่พอกพูนขึ้น เพราะประเทศเกินดุลการชำระเงิน ไม่ว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ส่งออกสินค้าและบริการมากกว่านำเข้า) หรือเกินดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย (ต่างชาติเอาเงินมาลงทุนในประเทศมากกว่าคนในประเทศเอาออกไปต่างประเทศ) ถือว่าเป็นเงินที่เจ้าของเอามาฝากธนาคารกลางเป็นการชั่วคราว โดยเขามีสิทธิ์จะถอนไปเมื่อไรก็ได้ เช่น ถ้าดุลชำระเงินเกิดเปลี่ยนเป็นขาดดุล เงินสำรองส่วนนี้ก็จะลดลงตามการถอนออกไปจากธนาคารกลาง เช่น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน (CIC) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์ (GIC) และเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเกาหลีใต้ (KIC) เป็นต้น
เอาไปใช้ทำอะไร
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ส่วนใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินสำรองให้มีผลตอบแทนระยะยาวสูงขึ้น ผ่านการบริหารกองทุนอย่างมืออาชีพ เช่น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ เทมาเส็ก (Temasek) ของสิงคโปร์ โดยการใช้เงินแบบนี้มีความเสี่ยงอย่างเดียว คือ ผลตอบแทนการลงทุนติดลบ ซึ่งในภาวะปกติจะไม่ค่อยเกิดขึ้น ผลตอบแทนมักเป็นบวกแล้วแต่มากน้อย ดังนั้นต่อให้เป็นกองทุนที่มีเจ้าของเป็นคนอื่นก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินคืนให้เขา
แต่บางประเทศก็เอาเงินในกองทุนไปใช้ในลักษณะใช้แล้วหมดไป เช่น ไปแจกเงิน (ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เวเนซูเอลา), อุดหนุนสินค้า (เวเนซูเอลา), ให้การศึกษาฟรี (คูเวต), รักษาฟรี (คูเวต) โดยสังเกตได้ว่ามักเป็นประเทศที่เงินสำรองมาจากทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการคืนเงินให้เจ้าของตัวจริง
อย่างไรก็ตามการใช้เงินสำรองแบบสุรุ่ยสุร่าย และเป็นประชานิยมเกินไปก็ทำให้ประเทศชาติล่มจมได้อยู่ดี ตัวอย่างเช่น เวเนซูเอลา
เอาเงินตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯอย่างไร
ในกรณีเงินมีเจ้าของ ธนาคารกลางที่รับฝากเงินไว้จะบันทึกเงินสำรองในฝั่งทรัพย์สินของงบดุล แต่เนื่องจากตอนได้เงินมานั้น ไม่ใช่ได้มาฟรี ธนาคารกลางก็จะมีรายการฝั่งหนี้สินของงบดุลในยอดเท่ากัน ซึ่งมักอยู่ในรูปของพันธบัตรธนาคารกลาง เพราะต้องดูดซับเงินสกุลท้องถิ่นออก
หากฝ่ายการเมืองต้องการเอาเงินทุนสำรองฯออกไปใช้ โดยหลักการก็ต้องรับเอาหนี้สินไปด้วย เช่น ออกพันธบัตรรัฐบาลมาแลกพันธบัตรธนาคารกลาง แต่นักการเมืองที่ไม่เข้าใจ (หรือแกล้งไม่เข้าใจ) ก็อาจไม่อยากรับภาระหนี้สินนี้ไป เพราะจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม ขัดกับความหวังแต่แรกที่จะได้ใช้เงินฟรี ๆ ซึ่งถ้ารัฐบาลบีบคอธนาคารกลางเอาเงินออกไปโดยไม่รับภาระ (อาจผ่านมติกรรมการธนาคารกลางที่ตัวเองส่งคนเข้ามาคุม) ก็จะมีผลเสมือนธนาคารกลางพิมพ์เงินให้รัฐบาลเอาไปใช้ จะทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อเงินเฟ้อ นโยบายการเงินขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ และอาจถึงวิกฤตเศรษฐกิจได้
กองทุนความมั่งคั่งฯบริหารอย่างไร
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่จัดตั้งอย่างรอบคอบ มีวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมในการเพิ่มผลตอบแทนระยะยาว หรือส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ (โดยไม่ใช่ลงทุนให้ฟรี) ก็จะบริหารกองทุนอย่างมืออาชีพ มีผู้บริหารที่ไม่อิงการเมือง มีกรรรมการที่มีความเป็นอิสระ มีระบบตรวจสอบและประเมินผลที่ดี ในทางตรงกันข้ามกองทุนที่ตั้งโดยหวังผลทางการเมืองระยะสั้นก็มักจะไม่มีภาพที่ควรเป็นข้างต้นนี้
และแม้เป็นกองทุนที่ตั้งเพื่อเพิ่มผลตอบแทนระยะยาว ไม่ใช่เพื่อใช้จ่ายประชานิยม ก็มีงานวิจัยที่พบว่ากองทุนที่ผู้บริหารมีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมือง มักลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศตอนที่ราคาสูงเกินไป ทำให้กองทุนมีความเสี่ยงจะขาดทุน แต่เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม
ทุกท่านคงสรุปได้นะครับว่านโยบายเรื่องนี้สำหรับประเทศไทยควรเป็นอย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง:
เตือนหายนะ! หากธปท.ฟังรัฐบาล จนขาดมาตรฐานวิชาชีพ