คงดอกเบี้ย 2.25%
ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวัน 18 ธ.ค. 67 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้าโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น
คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.9%
ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 และ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องจักรที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี
ธปท.ประมาณเศรษฐกิจล่าสุด 18 ธ.ค. 67
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่ธุรกิจ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการแย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง มองไปข้างหน้า แนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการลงทุนของไทยในระยะต่อไป
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และ 1.1 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สินเชื่อธุรกิจชะลอลง
สำหรับสินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง อาทิ สินเชื่อของภาคท่องเที่ยวและบริการขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้และรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่สินเชื่อของธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น ยังหดตัวตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อและนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลของมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ของภาครัฐที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน ตามการปรับคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มผันผวนจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย
พร้อมปรับนโยบายหากเศรษฐกิจมีปัญหา
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ขณะที่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย เช่น ทิศทางนโยบายการค้าโลก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น จึงจะติดตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ กนง. ระบุว่า การที่ กนง.รักษาพื้นที่ Policy space (ช่องว่างของดอกเบี้ยที่จะลดลงได้ เพื่อดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ) เพราะมองเห็นว่าในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง แม้ในระยะสั้นจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้าไปได้จนถึงไตรมาส 1 ปี 68 แต่ความไม่แน่นอนก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น และยังประเมินไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก หากมีการกีดกันเกิดขึ้น ก็คงจะเกิดการตอบโต้กัน
เพราะฉะนั้นจึงขอรอความชัดเจนในการประเมินก่อน ถ้าเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจมีปัญหาชัดเจน กนง.ก็พร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสม
“ตอนนี้ในแง่ความเป็นกลาง แต่ถ้าเกิดเราเห็นว่ามีแนวโน้มที่ทำให้ตัวนโยบายการเงินเปลี่ยนไป เราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน”
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนนโยบายนั้นก็จะพิจารณาว่าปัจจัยที่มากระทบและผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มาจากปัจจัยอะไร และจะขยายเป็นวงกว้างมากแค่ไหน อีกทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าผลกระทบดังกล่าว ประสิทธิภาพของดอกเบี้ยจะมีความสามารถมากขนาดไหน
คาดประชุม ก.พ. 68 ลดดอกเบี้ย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่าการประชุม กนง. ในครั้งต่อไป 26 ก.พ. 68 คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป หากสถานการณ์โดยรวมไม่ดีขึ้นจากปัจจุบัน
ในครั้งนี้ กนง. แสดงท่าทีว่าต้องการรอประเมินสถานการณ์และรักษาขีดความสามารถด้านนโยบายการเงินไว้ในกรณีที่อาจมีความจำเป็นต้องรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลกระทบของมาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง โดย กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังคงคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป หากสถานการณ์โดยรวมไม่ดีขึ้นจากปัจจุบัน
คาดกนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้นปี 68
SCB EIC มองความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า โดยสถานการณ์ในปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง.จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก
แต่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในประเทศเอง และความท้าทายจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือ
1) ความเปราะบางจากภายในประเทศ สถานการณ์สินเชื่อชะลอลงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยในไตรมาส 3/2024 ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัวทุกหมวด แม้ กนง. จะประเมินว่าสินเชื่อที่ชะลอลงนี้ยังไม่ได้ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
แต่หากมองในทางกลับกัน ภาวะสินเชื่อชะลอลงเช่นนี้กำลังสะท้อน“อาการ” ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย โดยในด้านสินเชื่อครัวเรือนที่หดตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เข้มงวด จากความเปราะบางภาคครัวเรือนและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
ในด้านสินเชื่อธุรกิจ อาจต้องติดตามว่าความต้องการสินเชื่อที่ลดลงสะท้อนความต้องการลงทุนใหม่ของภาคธุรกิจที่ลดลงเพียงใด โดย SCB EIC มองว่าอาการความเปราะบางของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มเห็นนี้จะทวีความรุนแรงขึ้น จนท าให้น้ำหนักในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองอุปสงค์ในประเทศของ กนง. เริ่มมีมากขึ้น
2) ความท้าทายจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump จะทำให้การแข่งขันในภาคการผลิตทั่วโลกรุนแรงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตของไทยที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว และอาจกดดันให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปอีก
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้บ้างภายใต้ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นโดยในช่วงต้นปี 2025 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีพัฒนาการสำคัญ 2 ประการ คือ
- การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐฯ
- นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นหลังจาก Donald Trump สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะทำให้ กนง. ประเมินความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้น พัฒนาการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป
SCB EIC จึงประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีหน้าไปอยู่ที่ 2% ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเผชิญกับความเปราะบางจากภายในและความท้าทายจากภายนอกมากขึ้น
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง