วิกฤตทางธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน ได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดยข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) พบว่า การจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,533 ล้านล้านบาท) หรือประมาณมูลค่าเทียบได้กับครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั้งโลก ขึ้นอยู่กับการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและระบบนิเวศ
ตัวเลขนี้ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจจะต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็สามารถมองหาโอกาสและปรับตัวเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ด้วย
ธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ
การประกอบธุรกิจต้องมีการพึ่งพาธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งทรัพยากรที่ได้จากธรรมชาติที่ระบบนิเวศเป็นผู้ให้แหล่งผลิต และบริการจากระบบนิเวศด้านอื่น ๆ เช่น การควบคุมอุณหภูมิจากผืนป่า การกรองน้ำและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากป่าชายเลน การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการ เป็นต้น
โดยการรักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงของระบบนิเวศนั้น ต้องอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้น ธุรกิจจึงพึ่งพาธรรมชาติไม่ว่าทั้งในทางตรงหรือผ่านทางห่วงโซ่อุปทานมากน้อยต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ
จากรายงานของ MSCI (Morgan Stanley Capital International) ระบุว่า ธุรกิจที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและมีความเสี่ยงสูงจากความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ ธุรกิจเกษตร ประมง อาหารและเครื่องดื่ม ป่าไม้ การผลิตความร้อน ธุรกิจก่อสร้าง และการผลิตไฟฟ้า ขณะที่บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเงิน แม้ว่าจะมีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับน้อย แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมาก อาทิ การให้สินเชื่อและการลงทุนในกิจการที่ไม่มีการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลจากรายงานที่ชื่อ Nature at a Tipping Point ที่จัดทำโดย Asia Investor Group on Climate Change ร่วมกับ PricewaterhouseCoopers (PwC) บ่งชี้ว่า บริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับสูง
และเมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า ร้อยละ 61 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับสูงและปานกลาง ซึ่งสัดส่วนการพึ่งพาในระดับนี้สะท้อนว่า ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในธรรมชาติซึ่งรวมถึง
โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ
นอกจากความสัมพันธ์ในเชิงของการพึ่งพาแล้ว ในการดำเนินธุรกิจอาจมีกิจกรรมที่ส่งผลเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของธุรกิจโดยตรง หรือเกิดในห่วงโซ่อุปทานก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้เหรียญมีสองด้านเสมอ แม้ความหลากหลายทางชีวภาพจะสร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เช่น การขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตหรือการให้บริการ การมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบที่หายากหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น การเสียชื่อเสียงหรือถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและผู้ลงทุนเนื่องจากธุรกิจทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
แต่ก็ยังเป็นโอกาสในการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ ธุรกิจอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือปรับโมเดลธุรกิจที่ตอบสนอง ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยา หรือแหล่งอาหารใหม่ ที่ค้นพบจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยศึกษามาก่อน การลดต้นทุนเนื่องจากนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเข้าใจและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนจากการที่ผู้ลงทุนและสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ดังนั้น ธุรกิจที่ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และเริ่มลงมือดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้ก่อน ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน หากธุรกิจใดลงมือช้าหรือเพิกเฉยต่อประเด็นนี้ แทนที่จะเป็นโอกาส ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงและอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาวอย่างรุนแรง
ตัวอย่างของธุรกิจที่มีความเสี่ยงในเรื่องของธรรมชาติและการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับ การกล่าวถึงบ่อย ๆ คือ ธุรกิจการผลิตน้ำมันปาล์มที่ถูกคาดหวังไม่ให้กระบวนการผลิตทำลายธรรมชาติ เช่น ป่า แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น
โดยผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ความเสี่ยงเรื่องชื่อเสียงและภาพลักษณ์จากการถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่ปลูก ความเสี่ยงจากกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นจากการที่รัฐบาลและหน่วยงานสากลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืน ความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากการสูญเสียพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำและส่งผลกระทบต่อการผลิตในระยะยาว และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอาจขยายผลไปสู่ประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อีกด้วย
บริษัท Wilmar International เป็นตัวอย่างของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกที่พยายามเปลี่ยนความเสี่ยงเหล่านี้เป็นโอกาส ซึ่งในอดีตบริษัทต้องเผชิญกับประเด็นเกี่ยวกับการทำลายธรรมชาติและความหลากหลาย ทางชีวภาพเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี 2556 บริษัทได้ออกนโยบายที่จะไม่ทำลายป่า
และเมื่อลงมาสู่การปฏิบัติ บริษัทมีการระบุและจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในสัมปทานปาล์มน้ำมัน ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งมีการทำงานร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นและ NGOs เพื่อให้เข้าใจปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง
การดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้นนี้ได้ส่งผลที่เป็นรูปธรรม คือ จำนวนเหตุการณ์ที่รายงานในปี 2556 – 2557 เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่อนุรักษ์ลดลงอย่างมากนอกจากนี้ การที่บริษัทมีนโยบายและมีการปฏิบัติที่ชัดเจน ก็แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อความคาดหวังของ ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้ลงทุน คู่ค้า ชุมชน และเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย
ที่มา: ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง