จาก COP28 มาเป็น COP29
ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการผลักดันในประเด็นที่ต่อเนื่องจากการประชุม COP28 และครั้งก่อน ๆ เช่น ยกระดับเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDCs) ให้เป็น NDC 3.0 เพื่อให้ยังคงอยู่ภายใต้แนวทาง 1.5 องศาเซลเซียส โดยกำหนดแผนงานการดำเนินการของประเทศจนถึงปี 2035 เช่น
- รายงานผลการประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST)
- เป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Global Goal on Adaptation: GGA)
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาข้อกำหนดของกลไกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานตาม Core Carbon Principles ในกรณีการวัดการนับซ้ำ (Double-Counting) ที่กลไกของ Article 6.4 ตามข้อตกลงปารีสที่ยังไม่ครอบคลุม
แต่ที่สำคัญคาดว่าจะกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ประมาณ 1.1 – 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส และให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศเหล่านั้น จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดเพียงจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
โดยเริ่มกองทุนใหม่ ได้แก่ Climate Finance Action Fund (CFAF) ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรเงินทุนจากประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ และ the Baku Initiative for Climate Finance Investment and Trade (BICFIT) เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือทางการเงินเข้ากับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศต่าง ๆ
ประเด็นผลักดันใน COP29
การประชุม COP29 ครั้งนี้ จะมีการผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไฮโดรเจน การจัดการขยะและของเสีย และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้มีบทบาทด้านการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
การดำเนินการของไทย
ประเทศไทยจะนำผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024) ไปนำเสนอในการประชุมในฐานะที่เคยประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าผลของการผลักดันการดำเนินด้านสิ่งแวดล้อมคงจะมาจากการปรับตัวของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะส่งผลไปสู่บริษัทขนาดเล็ก รวมถึง SMEs ที่จะเป็นความเสี่ยงให้ต้องเร่งปรับตัวตาม
การประชุม COP29 คงจะส่งผลให้ทิศทางของทุกภาคส่วนเปลี่ยนไปมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดที่จะมีการผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน และประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการผลักดันในระดับภูมิภาคอาเซียน
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย