รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา EARTH JUMP 2024 The Edge of Action ระบุว่า แนวทางและความคืบหน้าในการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกันตามแต่บริบท และความพร้อมของแต่ละประเทศ
ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีนโยบายและแผนงานเชิงรุกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เนื่องจากมีสภาวะที่พร้อมทั้งในด้านเงินทุนและพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีบริบทและพัฒนาการที่แตกต่าง โดยประเทศไทยต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังเป็น กลุ่มสีน้ำตาล คือ ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเก่า และยังพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง ในขณะที่ไทยยังเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อยู่ที่อันดับ 9 จากกว่า 180 ประเทศ และยังประสบปัญหาด้านมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
สำหรับแนวทางการปรับตัวของไทยจึงต้องให้ความสำคัญในสองมิติ โดยมิติแรกด้านการลดผลกระทบจากสภาพอากาศ (climate mitigation) คือ ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ และมิติที่สอง ด้านการปรับตัวต่อสภาพอากาศ (climate adaptation) ด้วยการสนับสนุนการลงทุนในนวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงผลกระทบจากการปรับตัวที่อาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ยังขาดความพร้อม และคำนึงถึงประเด็นด้านต้นทุน และความมั่นคงทางด้านพลังงานด้วย
เรามีเป้าหมายปลายทางที่จะไปสู่ net zero (ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์) ของไทยในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งต่างจากหลายประเทศสากลที่กำหนดในปี2050 สิ่งสำคัญสำหรับการปรับตัวอย่างยั่งยืนในบริบทของไทยที่ผมย้ำอยู่เสมอ ก็คือ เราสามารถเริ่มการปรับกิจกรรมที่ยังเป็นกลุ่มสีน้ำตาล ให้เป็น กลุ่มสีน้ำตาลอ่อน (less brown) ในส่วนที่ทำได้ก่อน ในช่วงจังหวะและเวลาที่ไม่เร็วเกินไปจนภาคธุรกิจปรับตัวตามไม่ทัน และไม่ช้าเกินไปจนทำให้ประเทศไทยตกขบวนการปรับตัวเป็นวงกว้าง และหลุดออกจากวงจรการค้าระหว่างประเทศที่นับวันจะมีมาตรฐาน หรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของงานในวันนี้ที่ผมอยากเน้นย้ำมากที่สุด ก็คือการเริ่มลงมือทำให้เกิด action (ปฏิบัติ) อย่างเป็นรูปธรรม และเริ่มเข้าสู่เส้นทางที่ less brown และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่ green (สีเขียว) ในที่สุด
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวต่อว่า การปรับตัวของภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ หรือเล็ก จะต้องความพร้อม 3 เรื่อง ได้แก่
- การตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการปรับตัว เป็นสิ่งที่องค์กรต้องพัฒนาก่อนอื่น ซึ่งผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ที่จะแสดงการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ภายในองค์กรอย่างชัดเจน
- การมีองค์ความรู้ และ Know how ที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความท้าทาย เนื่องจากต้องอาศัยความรู้เฉพาะในองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น วิธีการคำนวณ หรือประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแนวทางการลดการปล่อยมลพิษในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนเอง รวมไปถึงกำหนดเป้าหมายลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม
- การมีเงินทุน หรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการปรับตัว ซึ่งการปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มักใช้เงินลงทุนสูง หลายกรณีต้องอาศัยเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นต้นทุนระยะสั้น แต่กว่าจะเห็นประโยชน์จากการลงทุนปรับตัว อาจใช้เวลาในระยะยาว
ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้ง 3 ด้านดังกล่าว และได้มีความคืบหน้าของการปรับตัวไปค่อนข้างมากแล้ว แต่กลุ่มบริษัทขนาดกลาง และ SMEs ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้มีความพร้อมทั้ง 3 ด้าน ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของไทย จึงอยู่ที่การช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลุ่ม SMEs มีหนทางที่จะค่อย ๆ เริ่มปรับตัว โดยเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมองค์ความรู้พัฒนาศักยภาพในการเก็บข้อมูลการวัดและประเมินก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินงาน (Carbon Footprin) ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจึงค่อยยกระดับการปรับตัวที่สอดรับกับแนวปฏิบัติในระดับสากล
ด้านภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่ต้องปรับตัว โดยในปี 2566 ธนาคารขนาดใหญ่ได้มีการปล่อยสินเชื่อสีเขียว (Green loan) จำนวนประมาณ 1.9 แสนล้านบาท แม้เป็นสัดส่วนน้อยเทียบกับจำนวนสินเชื่อทั้งระบบ แต่ก็เห็นการเติบโตมากขึ้น และธนาคารหลายแห่งได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) รวมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มวงเงินสนับสนุนเงินทุนเพื่อความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียวในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งแสดงถึงความมุ่นมั่นของภาคการเงินที่พร้อมจะสนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
แต่เงินทุนที่จะสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังเป็นสีน้ำตาลให้กลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่สีเขียว (Green) นั้นยังมีน้อย จึงจำเป็นต้องจัดสรรเงินทุนมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมการปรับตัวที่มีนัยสำคัญ และสร้างผลกระทบได้อย่างตรงจุด
ดังนั้น ในระยะต่อไป ธปท.และภาคสถาบันการเงินจะให้ความสำคัญไปที่การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ สามารถปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอย่างจับต้องได้
อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่จะต้องตอบโจทย์ข้างต้นอยู่ ที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียวของธนาคารหลายแห่งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหลักการและเป้าหมาย net zero ของสากล จึงอาจยังไม่เอื้อต่อธุรกิจในกลุ่มสีน้ำตาล ที่ต้องการเริ่มปรับตัวในก้าวแรกให้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มี KPI ให้รองรับการปรับตัวในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ต้องใช้ข้อมูลหรือวิธีการที่ซับซ้อน ที่บริษัทขนาดเล็กอย่าง SMEs สามารถปฏิบัติได้
ในส่วนของภาครัฐต้องผลักดันกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ และภาคการเงิน เข้าใจและสามารถนำเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการ และแผนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (transition plan) ของตนเองได้ ตลอดจนมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ หรือลดภาระในการปรับตัว เช่น มาตรการทางภาษี และกลไกการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) และการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ
ขณะที่ภาควิชาการและเทคโนโลยีต้องเร่งศึกษาวิจัยพัฒนาวิธีการแก้ปัญหา (solutions) และถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาให้มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับ กลุ่ม SMEs
สำหรับภาคธุรกิจ SMEs ควรตระหนักและตื่นตัว ให้ความสำคัญกับการเริ่มปรับตัว ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กลุ่ม SMEs ต้องเริ่มตระหนักและเข้าใจเช่นกัน พร้อมกับการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพด้านข้อมูล
ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเริ่มให้เกิด action (ปฏิบัติการ) เพื่อสร้างการปรับตัวความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงกับประเทศไทย เนื่องจากกระบวนการปรับตัวไม่ได้สำเร็จเห็นผลทันที แต่เป็น journey (การเดินทาง) ที่ต้องใช้เวลา และยังต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วน ซึ่งไม่ว่าเป้า net zero ของไทยจะกำหนดไว้ปี 2050 หรือ 2065 แต่ถ้าทุกคนไม่เริ่มวันนี้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คงไม่ต่างกัน
เป็นไปได้แค่ไหน? ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065