ในปี 2567 นับเป็นปีที่เอเชียเผชิญกับคลื่นความร้อน “รุนแรง” ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แต่ภัยพิบัติรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและคาดการณ์ได้ยาก
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศแบบ “สุดขั้ว” กำลังรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ทั้งคลื่นความร้อน สภาพอากาศหนาวเย็น ปริมาณน้ำฝนมากผิดปกติทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ความแห้งแล้งรุนแรง รวมถึงการเกิดพายุทอร์นาโดและใต้ฝุ่นในแขตร้อน
อ่านเพิ่มเติม: โลกร้อนทุบสถิติ เกิน 1.5 องศาก่อนยุคอุตฯนาน 12 เดือน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติของธรรมชาติ แต่กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและสร้างความสูญเสียและอันตรายต่อธรรมชาติ รวมทั้งตัวมนุษย์เอง
เหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือความรุนแรงและขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้นทุกปี อีกทั้งยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง กินระยะเวลายาวนานกว่าปกติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา สามารถส่งผลให้เกิดภาวะอากาศแบบสุดขั้ว แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องความถี่ของสถานการณ์ ความรุนแรง พื้นที่ในวงกว้าง ความยาวนานและช่วงเวลาของสภาพอากาศสุดขั้ว บางครั้งไม่อาจคาดการณ์ผลกระทบว่าจะกินระยะเวลายาวนาน หรือ รุนแรงแค่ไหน
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ยกตัวอย่างเช่น อากาศอุ่นขึ้นทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ประมาณ 7% ทุก ๆ 1 องศาเซียลเซียส ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ฝนตกหนักรุนแรงขึ้น โดยสถานการณ์จากสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อนรุนแรง และฝนตกอย่างหนักกว่าปกติ ทำให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก
ยิ่งกว่านั้น อิทธิพลของมนุษย์ได้เพิ่มโอกาสเกิดเหตุการณ์ “สุดขั้ว” ทับซ้อนมากขึ้น นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 รวมทั้งการเกิดทั้งคลื่นความร้อนและภัยแล้งในคราวเดียวกันบ่อยขึ้น
น้ำท่วม นับเป็นการแปรผันตามธรรมชาติจากอัตราการไหลของน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความเสียหายจากน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากน้ำฝนตกหนักบ่อยขึ้น โดยส่งผลกระทบรุนแรงในเขตที่มีประชากรอยู่หนาแน่นและการกระุจุกตัวของที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นยังเป็นความเสี่ยงในพื้นที่ชายฝั่ว เพราะมีความเสี่ยงจากคลื่นพายุซัดฝั่ง และน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่เกาะบางแห่ง
ดังนั้น จากคลื่นความร้อนในไทยในปี 2567 เป็นที่ปรากฏชัดว่าประเทศไทยเจอกับภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีความรุนแรงและบ่อยขึ้น อีกทั้งไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งการเตรียมรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญนับจากนี้ไป