จากข้อมูลของศูนย์คอเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป ที่ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีฐานในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมโดยเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ตั้งแต่เดือนก.พ. 2566 -ม.ค. 2567
ในเดือนม.ค. 2567 โลกเพิ่งประสบกับเดือนม.ค.ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อุณหภูมิยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งศูนย์คอเปอร์นิคัส ระบุว่าอุณหภูมิในเดือนม.ค. 2567 ได้ทำลายสถิติเดือนม.ค.ที่ร้อนที่สุดก่อนหน้านี้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 จากการบันทึกสถิติที่ย้อนกลับไปถึงปี 2493
เอียน ดัฟฟ์ นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ สากล และหัวหน้าโครงการรณรงค์ Stop Drilling Start Paying กล่าวว่าจากข้อมูลดังกล่าวคือ เสียงเตือนอันน่าสะพรึงกลัวว่า ปฏิบัติการของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์อย่างแท้จริงนั้นเร่งด่วนกว่าที่เคยเป็นมา
“ทุกเศษเสี้ยวของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นคือสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงมากขึ้นและระดับน้ําทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านและสรรพชีวิตบนโลก”
นี่คือ เหตุผลที่เราต้องยุติโครงการแหล่งน้ํามันและก๊าซฟอสซิลใหม่ทั้งหมด และผู้ก่อมลพิษ เช่นบริษัทเชฟรอน(Chevron), เอ็กซอน(Exxon), เชลล์(Shell) และ โททาล(Total Energies) จะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และจัดหาเงินทุนในการเปลี่ยนผ่านจากยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
“ไม่มีความเป็นธรรมแม้แต่น้อยในขณะที่ยักษ์ใหญ่ฟอสซิลแถลงผลกําไรทางธุรกิจจำนวนมหาศาลในขณะที่พื้นที่ในประเทศชิลีกำลังเผชิญไฟป่าล้างผลาญ ประเทศต่างๆ ตั้งแต่สเปนและโมร็อกโกไปจนถึงเอธิโอเปียกําลังเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งที่ร้ายแรง ออสเตรเลียเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรง และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเผชิญกับอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ”
กลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ล่วงรู้ถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศมานานกว่าเจ็ดทศวรรษ และใช้เงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อปฏิเสธความจริงและถ่วงให้ปฏิบัติการกู้วิกฤตล่าช้าออกไป ขณะนี้ สายเกินไปแล้วในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสเพื่อปกป้องบ้านของเราและรักษาโลกที่น่าอยู่ด้วยการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจอย่างถึงรากถึงโคน
สิ่งที่เรารู้คือ อุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่จะไม่มีวันปฏิรูปตัวเอง คือ รัฐบาลทั่วโลกต้องมีบทบาทสำคัญเพื่อบังคับให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลหยุดการขุดเจาะน้ํามันและก๊าซฟอสซิลแห่งใหม่ และเริ่มจ่ายเงินให้กับความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลต่อโลกและผู้คน
ทั้งนี้ อุณหภูมิพื้นผิวโลกในเดือนม.ค. เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ปี 2566 ถูกจัดให้เป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลกตามบันทึกข้อมูลย้อนกลับไปถึงปี 2393 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกร้อนขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมา ทุก ๆ เดือนได้ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ๆ
ซาแมนธา เบอร์เจสส์ รองผู้อำนวยการศูนย์คอเปอร์นิคัส กล่าวว่าเดือนม.ค.นับว่าเป็นเดือนร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เราเพิ่งเผชิญกับช่วงเวลา 12 เดือนที่อุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความรวดเร็วเป็นหนทางเดียวที่จะสกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้
นักวิทยาศาสตร์ คาดว่ามีโอกาสราวหนึ่งในสามที่ปี 2567 จะร้อนกว่าปีก่อนหน้า และมีโอกาส 99% ที่จะติดอันดับปีที่ร้อนที่สุดในโลก 5 อันดับแรก แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มอ่อนกำลังลงเมื่อเดือนที่แล้ว และอาจพลิกผันกลายเป็นปรากฏการณ์ลานีญาแทน แต่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลโดยเฉลี่ยทั่วโลกเมื่อเดือนม.ค. ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์