กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change (ร่าง พ.ร.บ.ฯ) ซึ่งเปิดให้รับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้วระหว่าง 14 ก.พ. – 27 มี.ค. 2567 ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกลางปี
ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวจะยกระดับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องมีการร่าง พ.ร.บ.ฯ เพื่อบังคับใช้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะส่งผลดีต่อภาพรวมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสามารถบรรลุเป้าหมายในปี ค.ศ. 2065 อย่างไรก็ดีจะกระทบโดยตรงต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
จัดทำบัญชี GHG ภาคบังคับ
จากเดิมที่การตรวจวัด GHG ตามความสมัครใจและเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อย GHG ของกิจกรรม 5 ประเภท ในอุตสาหกรรมที่กำหนด ประกอบด้วย 15 อุตสาหกรรม คือ 1.ผลิตไฟฟ้า 2.ก่อสร้าง 3.ขนส่ง 4.เหมืองถ่านหิน 5.น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 6.อโลหะ 7.เคมี 8.โลหะ 9.ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง 10.อิเล็กทรอนิกส์ 11.การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน 12.การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 13.กระดาษและเยื่อกระดาษ 14.อาหารและเครื่องดื่ม 15.เกษตรและปศุสัตว์
ในประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์กร (CFO) เพื่อให้ได้ปริมาณ GHG จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวัดและรับรองปริมาณ GHG เป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท ขณะที่ประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ผลิตภัณฑ์ (CFP) ประเมิน 2 ปี 1 ครั้ง (ใช้ระยะเวลาประเมิน 2 วัน หากมีโครงสร้างธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประเมินมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น) ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยการให้เงินสนับสนุนหรือนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้
สำหรับ 5 กิจกรรมที่ต้องรายงาน GHG ได้แก่
- การใช้เชื้อเพลิง
- การผลิต
- การเกษตร
- ป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
- การจัดการของเสีย
กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการลด GHG ที่ในปัจจุบันหน่วยงานรัฐทำโดยสนับสนุนได้เฉพาะเครื่องมือที่อยู่ในอำนาจของตนเอง เช่น
• การยกเว้นภาษีผ่าน BOI
• การให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของกรมสรรพสามิต
• สนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐ
กองทุนฯ จะทำให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านการลด GHG ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทุกอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่นโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทการปลูกป่าที่ไม่เคยมีการสนับสนุนทางการเงิน การตรวจวัดและรับรองคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ เป็นต้น รวมถึงบทบาทของกองทุนฯ ในการสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะมีส่วนสำคัญในการลด GHG ของประเทศ ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 68% ในปี ค.ศ. 2040 และ 74% ปี ค.ศ. 2050
กลไกกำหนดราคาคาร์บอน
คือ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และภาษีคาร์บอน
• ETS เป็นตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ใช้ในสหภาพยุโรป ที่จะให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG ที่กำหนดจะต้องส่งมอบสิทธิในการปล่อย GHG ต่อรัฐบาลทุกปี โดยสิทธิมาจากการจัดสรร ประมูล หรือซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการ
• ภาษีคาร์บอน เป็นการเก็บภาษีตามปริมาณ GHG ที่ประเมินจากวัฏจักรของสินค้า สามารถจัดเก็บได้ทั้งสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เหมือนมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU-CBAM) ในปัจจุบันประเทศไทยมีภาษีที่คำนวณจากปริมาณการปล่อย CO2 ในภาษีสรรพสามิตรถยนต์
อย่างไรก็ดีมาตรการ ETS หรือภาษีคาร์บอน หากนำมาใช้ควบคู่กันจะก่อให้เกิดต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ทับซ้อน ควรกำหนดให้ค่าใช้จ่ายจาก ETS หรือภาษีคาร์บอนสามารถนำไปลดหย่อนค่าใช้จ่ายในอีกมาตรการได้ เนื่องจากมาตรการ ETS จะรวมการปล่อย GHG จากทั้งการผลิตสินค้าและการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ ซึ่งหากมีการเก็บภาษีคาร์บอนด้วย ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีจากการปล่อย GHG ของสินค้าอีกรอบ
ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP โดยการบังคับใช้คาดว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (รูปที่ 2)
• ระยะที่ 1 อุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG สูง และอุตสาหกรรมที่อยู่ใน EU-CBAM ภายในปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569) ได้แก่ ภาคขนส่ง สาธารณูปโภค โลหะ และอโลหะ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 1.71 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
• ระยะที่ 2 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะอยู่ใน EU-CBAM ระยะที่ 2 ได้แก่ สาขา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก การขุดเจาะปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เหมืองถ่านหิน และ กระดาษและเยื่อกระดาษ คิดเป็นมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
• ระยะที่ 3 อุตสาหกรรมในประเทศอื่น ๆ ที่มีการปล่อย GHG เข้มข้นสูง ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่า 3.02 ล้านล้านบาท หรือ 17% ของ GDP
ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมอย่างไร
1. การประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการตรวจวัด GHG จะเป็นการดำเนินการภาคสมัครใจ แต่แนวโน้มในอนาคตการตรวจวัด GHG ขององค์กรจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของที่จะต้องมีการรายงานเช่นเดียวกับการรายงานงบการเงิน มีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ในปัจจุบันประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนนาดา และออสเตรเลียกำลังศึกษาแนวทางในการนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้
2. การลด GHG ในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแนวโน้มนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ที่ปล่อย GHG สูงเพิ่มขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งกันต่อผู้ประกอบการที่ปล่อย GHG ต่ำ ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อลด GHG ทั้งในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการอื่น ๆ
• ระยะสั้น ผู้ประกอบการสามารถลด GHG ได้ด้วยการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานรองรับ เช่น T-VER (องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก) VCS (VERRA) Gold Standard เป็นต้น หรือซื้อใบรองรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพิลงฟอสซิล
• ระยะยาว ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนเผื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการใช้พลังงานหรือเทคโนโลยีเพื่อลด GHG ได้แก่
o เปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ไฟฟ้า
o เปลี่ยนการขนส่งเป็นรถยนต์ Hybrid หรือรถยนต์ไฟฟ้า
o ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนโดยการติดตั้ง Solar Roof หรือทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากภาคเอกชน (Power Purchasing Agreement: PPA)
o ใช้วัสดุทดแทนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อย่างวัสดุ Recycle วัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
o เทคโนโลยีขั้นสูง Carbon Capture Utilization and Storage เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
3. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา ผู้ประกอบการควรติดตามพัฒนาการของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ นโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น มาตรการ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาที่อาจส่งผลต่อความสามารถในรแข่งขันของผู้ผลิตในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ จะต้องใช้ระยะเวลา 1 – 2 ปี เพื่อพิจารณาในรายละเอียด แต่ผู้ประกอบการควรรีบดำเนินการ โดยเริ่มจากการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ทั้งในระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล โดยธุรกิจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปแสดงในรายงานของกิจการหรือแสดงในฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการได้
ทำไมต้องตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ปี ค.ศ. 2015 ในการประชุม COP21 ประเทศฝรั่งเศส สถานการณ์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ที่ประชุม มีการเจรจาข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนกลายมาเป็นข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การรักษาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น เกินกว่า 1.5 – 2.0 องศาเซียลเซียส ในปี ค.ศ. 1850 – 1900 รวมถึงทุกประเทศจะต้องมีข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด Nationally Determined Contribution (NDC) ซึ่งแสดงถึงนโยบายและมาตรการในประเทศเพื่อลด GHG ที่จะต้องจัดส่งทุก 5 ปี
โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ออกรายงานฉบับที่ 6 ซึ่งประเมินว่าหากทั่วโลกจะบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 – 2.0 องศาเซียลเซียสจะต้องลดการปล่อย GHG อย่างน้อย 22% ในปี ค.ศ. 2030 เทียบกับปี ค.ศ. 2015
ปริมาณการปล่อย GHG จะต้องลดลง 67% ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส
ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) (รูปที่ 4) อีกทั้งเตรียมรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น เป็นต้น รวมถึงการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่สำคัญในอนาคต
เส้นทางการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย ปี ค.ศ. 2065
ผู้เขียน:
กฤษฎิ์ แก้วหิรัญ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
grid.k@kasikornresearch.com