Policy Watch ชวนวิเคราะห์ปัญหาและทางออกที่เป็นไปได้ กับ รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ถึงโอกาสในการสร้าง “ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ” เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดที่มาจากการเผา “ทั้งในและนอกประเทศ” รวมทั้งข้อเสนอที่ “รัฐต้องดำเนินการ” เพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอย่างยั่นยืน เพื่อให้การนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ ไม่ต้องมีของแถมเป็น “ฝุ่นพิษ”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การขยายพื้นที่เกษตร จุดเริ่มต้นฝุ่นพิษในไทย ?
ฝุ่น PM 2.5 จริง ๆ แล้วมีมานานมาก แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนทุกวันนี้ รศ.วิษณุ กล่าวว่า ภาคเหนือสาเหตุสำคัญคือมาจากการเกษตร ที่ขยายพื้นที่และเป็นการปลูกเพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีบริษัทเอกชนที่รับซื้อพืชผลไปผลิตต่อในห่วงโซ่ ทำให้เกิดความต้องการที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่ตามมาคือการขยายพื้นที่เพาะปลูก จากเดิมปลูกในที่ดินแบบถูกกฎหมาย เริ่มลุกลามไปที่ภูเขา
ส่วนหนึ่งจูงใจให้เกิดการปลูก คือ ราคาสินค้าอาหาร จากวิกฤตราคาอาหารโลก (2007–2008 World Food Price Crisis) ที่สินค้าเกษตรราคาดีมาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนหันมาปลูกพืชธัญพืชมากขึ้น
“ผมมองว่ามันเป็นมิติความเหลื่อมล้ำความยากจน ทำให้เมื่อก่อนปลูกพืชในพื้นที่ถูกกฎหมาย แต่เมื่อที่ดินโดนยึด เกิดหนี้สิน ทำให้เกิดความกดดันอยากได้พื้นที่ทำกิน สุดท้ายแล้วหาที่ไม่ได้นำมาซึ่งการทยอยเผาป่า ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการให้ป่าเสื่อมโทรมเพื่ออนาคตจะหวังว่าภาครัฐจะมีการปลดพื้นที่นั้นจากพื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่ทำกินทางการเกษตร หรือหากยังไม่มีมีการปลดล็อก ดังนั้นก็จะมีการจับจองพื้นที่ บุกรุกเพื่อทำกิน เพื่อปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจหนักหน่วงมากยิ่ง ขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.วิษณุ กล่าวว่า มิติเศรษฐกิจ เรื่องของราคาสินค้าที่ดีขณะที่ความต้องการในตลาดก็สูงเช่นกัน ยิ่งส่งผลให้การปลูกพืชปลูกครั้งละมาก ๆ และเก็บเกี่ยวพร้อมกัน การจัดการแปลงด้วยการเผา ก็ยิ่งทำให้มลพิษสูงขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตชีวเพลิง ชีวมวล อย่าง เอทานอล ที่หนุนให้เกิดความต้องการสูงขึ้นไปอีก เพราะคนยังต้องการอาหารแต่พืชผลการเกษตรถูกนำไปใช้ในลักษณะของพลังงานเชื้อเพลิง เป็นที่มาที่เราจะเห็นป่าอเมซอนถูกบุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพดปลูกถั่วเหลือง ก็จะคล้าย ๆ กับประเทศไทย ที่เมื่ออาหารราคาอาหารดี การบุกรุกทำลายป่าก็เกิดขึ้น
นำเข้าข้าวโพด “ได้ฝุ่นเป็นของแถม”
เมื่อพูดถึง “ข้าวโพดอาหารสัตว์” ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งนอกจากข้าวโพดก็จะมีข้าวสาลี ประเทศไทยมีทั้งการปลูกภายในประเทศและนอกประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกาก็มีการปลูกเยอะพอสมควร แต่แน่นอนว่าการปลูกในพื้นที่ใกล้ ๆ ค่าขนส่ง ค่านำเข้าก็ถูกกว่า หรือบางครั้งเราได้สิทธิพิเศษในข้อตกลงทางการค้า ก็ยิ่งจูงใจให้ผู้ส่งเสริมหรือบริษัทเอกชนที่รับซื้อพยายามส่งเสริมในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำมาส่งเข้าโรงงานได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง
รศ.วิษณุ อ้างถึง สถิติของ Trade Map ที่บันทึกข้อมูลข้าวโพดนำเข้าเพื่อการผลิต พบว่า ไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปยังเมียนมา เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย กล่าวคือ เอกชนไทยส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไปให้เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านปลูก จากนั้นก็นำเข้าข้าวโพดเพื่อการผลิตอาหารสัตว์และใช้ประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งการนำเข้าที่ว่านี้ สัดส่วนการนำเข้าของไทยจากเมียนมา ถือ เป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นประมาณ 89% ของปริมาณการนำเข้าข้าวโพดทั้งหมด
“ถือว่าเยอะขึ้นนะ เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ปี 2552 ประเทศไทยไม่เคยนำเข้าจากเมียนมา แต่มันเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยเริ่มมีการตระหนักรู้เรื่องเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งต่างจากเมื่อก่อน ในปี 2561 เราแทบจะไม่ทราบเรื่องนี้เลย แต่พัฒนาของเทคโนโลยี เรามีสมาร์ตโฟนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศได้ สามารถเข้าถึงดาวเทียมได้ สามารถเช็กจุดความร้อนได้ สุดท้ายมันถึงคำตอบที่ว่า อดีตเราไม่เคยเจอแต่ปัจจุบันเราเจอปัญหา ทั้งที่จริงแล้วเป็นปัญหาที่มีแต่เราไม่รู้ว่ามี แต่ข้อมูลไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ แม้ประเทศไทยบรรจุ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ไว้ในรายการสารมลพิษที่ต้องตรวจวัดและควบคุม ตั้งแต่ปี 2553 แต่การสร้างความตระหนักรู้ยังถือว่าน้อยมาก รวมถึงการไม่เคยจัดเก็บข้อมูลเรื่อง PM 2.5 มาก่อน จนกระทั่งเริ่มเก็บในปี 2561″
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
ข้าวโพดอาหารสัตว์ ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่พอ
รศ.วิษณุ กล่าวว่า อุปสงค์ หรือ ความต้องการใช้ข้าวโพดอาหารสัตว์ของไทยปัจจุบันมีมากกว่าความสามารถในการปลูกภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการนำเข้าเพื่อที่จะช่วยปิดช่องว่างอุปสงค์ส่วนเกินที่มีอยู่ ซึ่งการนำเข้าสามารถทำได้หลายรูปแบบ และการนำเข้าจากเพื่อนบ้าน เป็นทางเลือกที่ต้นทุนที่ถูกที่สุด และข้อมูลการผลิตข้าวโพดนำอาหารสัตว์ไทย มีการปลูกในประเทศ 75% นำเข้ามา 25%
“โดยนำเข้าจากเมียนมาเกือบทั้งหมด เพราะจากสถิติที่ไปตรวจสอบดู สถิติการนำเข้าจากกัมพูชาหรือ สปป.ลาวยังมีน้อยมาก อันนี้พูดถึงสถิติการนำเข้าที่เป็นทางการ แต่ที่ยังไม่เป็นทางการอาจจะมีลัดเลาะเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนอยู่ ซึ่งยากที่จะสรุปได้ว่ามีปริมาณที่แท้จริงเท่าไหร่ ซึ่งต้องยอมรับว่าแนวชายแดนความยาวหลาย 100 กิโลฯ อาจจะมีตกหล่นไปบ้าง”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
ภาษี 0% ทำไมยังลักลอบนำเข้า ?
รศ.วิษณุ บอกว่า ตามนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อย่างข้าวโพด ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ แต่ก็ยังมีการนำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากราคาข้าวโพดที่ขายในไทยดีกว่า รัฐบาลไทยมีการประกันราคาสินค้าเกษตรที่สูงกว่าราคาตลาดโลก จึงอาจเป็นแรงจูงใจที่อาจจะทำให้เกิดธุรกิจหัวใสนำเข้าข้าวโพดที่จะนำมารับสิทธิ์ในราคาที่สูงในประเทศไทย ดังนั้นมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ จะทำให้เกิดข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าที่แท้จริงได้
“การตรวจสอบย้อนกลับคือหัวใจสำคัญของทุกอย่าง” ไม่ใช่แค่เรื่องของการลดมลพิษหรือลดการเผา รวมไปถึงการตรวจสอบการนำเข้าที่ถูกต้อง การสวมสิทธิ์ ถ้าหากเกิดการตรวจสอบย้อนกลับทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ
แต่เมื่อถามว่าประเทศไทย มีการตรวจสอบย้อนกลับมากน้อยแค่ไหนนั้น ในการประชุม กมธ.ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ครั้งที่ 12 วันที่ 5 เม.ย. 67 ได้เชิญตัวแทนภาคธุรกิจเข้ามาให้ข้อมูล บางรายชี้แจงว่า มีการทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาอยู่แล้ว
แล้วมีการตรวจสอบครบทุกกระบวนการหรือไม่ ? อ.วิษณุ ชี้ว่า เราต้องไม่ลืมว่าการค้าเวลามีการส่งสินค้าต่อกัน ไม่ได้มีพ่อค้าคนกลางคนเดียว ไม่ใช่การที่เกษตรกรมาขายตรงกับบริษัท แต่มีไซโล (พ่อค้ารับซื้อข้าวโพด) ที่รับซื้อระหว่างทาง ซึ่งอาจมีการรับซื้อต่อกันเป็นช่วง ๆ คำถามที่ตามมา คือ เรามีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ละเอียดถึงขนาดนั้นหรือไม่? แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ภาคเอกชนลงทุนในระบบตรวจสอบย้อนกลับ แต่มองว่าเป็นกลไกของภาครัฐเช่นกัน เพราะหากจะทำให้เกิดความละเอียดในการตรวจสอบทุกอย่างคือ “ต้นทุน” ดังนั้นการเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐจะทำให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับมีความครอบคลุมมากขึ้น
ไม้ขีดก้านเดียวถูกที่สุด
เมื่อถามว่าทำไมเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ถึงเลือกวิธีการเผา รศ.วิษณุ มองว่า เหตุผลคงไม่ต่างกับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะความตระหนักรู้ ทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เท่าที่ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับบุคคลจากธนาคารโลก เขาบอกว่าเรื่องของความตระหนักรู้ยังตามหลังประเทศไทยอยู่ ยังทำการเกษตรแบบเป็นวิถีชาวบ้าน ยังไม่มีองค์ความรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ ที่มาจากการเผาแปลงเกษตร
“รวมถึงมิติของโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้ออำนวยให้ไม่เผา คือ ไม่เผาจะทำอะไร? เศษวัสดุทางด้านการเกษตรเอาไปเผาได้ไหม? คือไม้ขีดก้านเดียวถูกที่สุด เพราะถ้าไม่ใช้ไม้ขีดก็ต้องใช้เครื่องจักร คำถามคือเกษตรกรเพื่อนบ้านมีเครื่องจักรไหม”
วิษณุ อรรถวานิช
เสนอภาครัฐไทย ส่งเสริมตลาด – เครื่องจักรทางการเกษตร
รศ.วิษณุ เสนอว่า ประเทศไทยต้องส่งเสริมการช่วยเหลือเกษตรกรประเทศเพื่อนบ้าน หรือ การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข เช่น ขอให้ห้ามเผาแล้วไปใช้เครื่องจักร เราต้องให้ต้นทุนและองค์ความรู้
“เรื่องนี้ประเทศไทยในฐานะที่พัฒนาสูงกว่า ถ้าเราไม่ช่วยอะไรเลย โอกาสที่จะแก้ปัญหานี้ยากมาก เพราะทุกอย่างเดินด้วยปากท้อง ผมว่าเราควรเสนอ เช่น การให้ความช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข ถ้าหากเขาสามารถลดการเผาได้ตามเป้า ปีถัดไปเราก็จะให้เงินต่อเนื่อง จนกระทั่งมั่นใจว่าเงินจำนวนนี้สามารถช่วยให้เกษตรกรเพื่อนบ้านสามารถปรับตัวได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องให้องค์ความรู้เพิ่มด้วย”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
ประเด็นต่อมาที่เป็นหัวใจสำคัญมาก คือ เมื่อปรับตัวได้แล้วเครื่องจักรเครื่องมือมีพร้อมหรือไม่ จากการลงพื้นที่ในไทยก็เห็นปัญหาเดียวกัน คือ หลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรได้ ไม่มีเครื่องอัดก้อนฟาง ไม่มีรถไถกลบตอซัง หรือหากจะจ้างแรงงานก็ไม่มีงบประมาณ สุดท้ายก็ต้องจบด้วย “การเผา”
ซึ่งมาตรการข้างต้นทำคู่ขนานกับไทย คือ การส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ทำอย่างไรให้มีบริษัทเอกชนมาลงทุนให้บริการจัดเก็บแปลงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ลดการเผาอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่
“ปัจจุบันมีพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงเพราะอะไร เอกชนก็ไม่อยากลงทุนเพราะทำแล้วไม่มีกำไร หรือกำไรน้อย เพราะฉะนั้นภาครัฐควรเข้าไปช่วยส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้เอกชนอยากจะลงทุน เช่น สแกนดูแล้วว่าทุกจังหวัดมีพื้นที่ไหนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรได้ สิ่งที่ตามมาคือแพ็คเกจในการช่วยเหลือยกตัวอย่าง การเสนอยกเว้นภาษีเงินได้ หรือ ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นมาตรการเพื่อจูงใจให้คนทำมีกำไรมากขึ้น และในแต่ละพื้นที่ก็ต้องให้ความช่วยเหลือที่ไม่เหมือนกัน พื้นที่ไหนที่ขาดแคลนก็ต้องให้แพ็คเกจเงินที่จูงใจเยอะหน่อย ที่ไหนที่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องช่วยที่ไหนต้องการช่วยเหลือบ้างก็ช่วยกันไป”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มลพิษ ลด-ธุรกิจได้กำไร
รศ.วิษณุ กล่าวว่า การแก้ปัญหาโครงสร้างของตลาดผูกขาด ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแข่งขัน ทำให้มีคู่แข่ง ซึ่งการแข่งขันกันให้บริการ จะเกิดบริการที่ดี เกษตรกรได้ประโยชน์ ค่าเช่าก็จะถูกลง และเมื่อทำในประเทศไทยเสร็จแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้บริษัทเอกชนไปลงทุนเครื่องจักรการเกษตรใน เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ที่มีการเผา พร้อมกับการส่งเสริมบริษัทเอกชนที่ไปลงทุน เช่น มาตรการยกเว้นภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจ
อัดฟางแล้วไปขายที่ไหน? สิ่งสำคัญที่รัฐต้องดำเนินการคือ “สร้างตลาด สร้างความต้องการ” ให้กับซากตอซังเหล่านี้ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ เช่น เอาไปใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นเชื้อเพลิง เป็นอาหารสัตว์ หรือจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลร่วมกับนักลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะทำให้ ฟางข้าว ตอซังข้าวโพก มีมูลค่า เมื่อไม่มีมูลค่าเขาก็จะไม่อยากเขาเพราะเขาอยากได้เงิน
“ผมลงพื้นที่มาเกษตรกรเค้าบอกว่าถ้าเศษวัชพืชเหล่านี้สามารถขายได้เค้าก็จะไม่เผาซึ่งหากมีตลาดก็จะดีปัจจุบันบ้านเราก็มีตลาดอยู่บ้างแต่ยังมีน้อย ดังนั้นจะต้องขยายให้กว้างมากขึ้น”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
สร้างระบบตรวจสอบ โปร่งใส เข้าถึงได้
รศ.วิษณุ กล่าวว่า การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้จะมีเอกชนพยายามทำเองอยู่แล้ว แต่ยังขาดการเข้าถึง ยังขาดความร่วมมือ ซึ่งอาจจะเกิดจากข้อจำกัดอย่างเรื่องการลงทุน รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามามาช่วย ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ต้องทำร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันเรามีดาวเทียมที่สามารถดูได้เลยว่าปลูกพืชอะไร จะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันเรายังสามารถส่งงเสริมให้มีการวิจัยในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าภาพถ่ายดาวเทียมกับพื้นที่จริงตรงกันหรือไม่ เพื่อลดอคติที่จะเกิดขึ้น
“ระบบตรวจสอบย้อนกลับคือหัวใจทั้งหมด ถ้าเราไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ดีที่สามารถตรวจสอบได้ กฎหมายอากาศสะอาดก็ยากที่จะขับเคลื่อน มลพิษทางอากาศก็ยากที่จะลดลง เพราะเวลาถ้าเราเกิดมีการเผาแล้วเราไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นคนเผา เราไม่มีหลักฐาน ก็จะเป็นการกล่าวหา ทำให้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น สิ่งที่พูดมาทั้งหมดมีเรื่องเดียวเลย คือ เรื่องของหลักฐานเชิงประจักษ์ เรามีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าฝุ่น PM2.5 ทำให้คนไทยเกิดอาการเจ็บป่วยสุขภาพแย่ลง ผมว่าถ้ามันพิสูจน์ได้ซึ่งในเชิงการแพทย์นั้นพิสูจน์ได้อยู่แล้วในส่วนนี้”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มองว่า “ไม่ควรใช้ไม้แข็งห้ามนำเข้า” แม้ว่าอาจจะแก้ปัญหาฝุ่นได้ แต่อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ความไม่พอใจ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการส่งสัญญาณ การขอความร่วมมือ และแทนที่จะห้ามการนำเข้า อาจจจะต้องไปจัดการกับบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ที่ก่อมลพิษ
รศ.วิษณุ ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มีหน่วยงานติดตาม ว่าเกษตรนั้น ๆ ก่อให้เกิดการเผาและสุดท้ายฝุ่นกลับเข้าสู่ประเทศสิงคโปร์หรือไม่ ซึ่งเราก็ต้องมีหน่วยงานของประเทศไทย เข้าไปติดตามว่ามีบริษัทอะไรที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้ส่งข้าวโพดมายังประเทศไทยก็ตาม แต่สุดท้ายถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าย้อนกลับมา แล้วกระทบคนไทยก็จะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ใช้ไม้นี้ในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับบริษัทเอกชนในต่างประเทศเพื่อให้เกิดการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเผา
ให้ทั้ง “แคร์รอต-ไม้เรียว” มาตรการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์
อีกส่วน คือ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ก่อนที่เราจะแบนหรือห้ามนำเข้า สิ่งที่ทำได้ก็คือ “มาตรการทางภาษี” เป็นการเตือนในระยะแรก อาจจะเป็นการกำหนดภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก ภายใต้สมมติฐานว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับสามารถตรวจสอบได้และสามารถตั้งกำแพงภาษีได้
“ผมว่า เราควรตั้งกำแพงภาษี เหมือนกับภาษีภาษีสรรพสามิต สมมติว่า สินค้านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนแรกก็คือการตั้งภาษีนำเข้าให้สูง และมีไทม์ไลน์ว่าภาษีนำเข้านี้จะสูงเรื่อย ๆ โดยมีการแจ้งล่วงหน้า ให้เกิดการปรับตัว เชื่อว่ามาตรการทางภาษีจะเป็นมาตรการที่ดีกว่าการห้ามนำเข้าเลย เพราะมาตรการทางภาษีจัดว่าเป็นมาตรการจูงใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ แทนที่เขาจะเสียภาษีเอกชน หรือ เกษตรกร เขาอาจจะมีทางเลือกอื่นถ้าไม่อยากจะเสียภาษี เขาอาจจะอยากลงทุนเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวจัดการแปลงแบบไม่เผา เพราะการลงทุนในส่วนนั้นจะถูกกว่าการจ่ายภาษี สุดท้ายเกิดการเปลี่ยนให้เขาไปลงทุนในการเกษตรแบบลดฝุ่นได้ แต่มาตรการทางภาษีก็ต้องดูด้วยว่า อัตราระดับไหนที่จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งของเกษตรกร และของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปลงทุนเพื่อจัดการแปลงและนำไปสู่การไม่เผา”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.วิษณุ กล่าวอีกว่า หากมาตรการทางภาษีไม่เป็นผล อาจจะมีการกำหนดระยะเวลาภายใน 10 ปี 2-3 ปีแรก เก็บภาษีในระดับต่ำเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ คือเรียกว่าต้องให้ “แครร์รอต” โดยการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข ส่งเสริมตลาดรับซื้อวัสดุตลาดการให้เช่าเครื่องจักร ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ที่มีการหมุนเวียนและนำไปสู่ความยั่งยืน หากเราออกแบบได้ดีก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย รวมถึงคาร์บอนเครดิต ไทยอาจจะถือโอกาสนี้ ในการที่จะบอกว่าเราไปลงทุนแล้วทำให้เกิดการลดการเผา ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เรายังสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตกลับคืนมาได้ ถ้าออกแบบดีวิกฤตจะกลายเป็นโอกาสได้
“ผมมองมุมบวก เชื่อมั่นในเอกชนว่าไม่มีใครอยากเผา เพราะเทรนด์ของโลก ที่สนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในอนาคตความเข้มข้นของมาตรการมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เอกชนเขาก็อยากจะปรับ แต่หลัก ๆ คือต้องมาคุยกัน และหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่การผลักภาระทุกอย่างให้เป็นของเอกชน เพราะรัฐบาลก็ได้ประโยชน์เพราะอากาศที่มันเกิดขึ้นมันทำให้สังคมไทยทุกคนสุขภาพดี ทุกคนได้ประโยชน์รัฐต้องแบ่งภาษีส่วนหนึ่งมาช่วยให้เอกชนขับเคลื่อน”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช