เมื่อได้ยินประโยคที่ว่า “การศึกษาล้าหลัง” รัฐบาลและกฎหมายมักจะเป็นสิ่งแรกที่ถูกโยงทันทีว่าล่าช้า ไม่ทันสมัย ไม่ตอบโจทย์ แต่ทว่าหากเรามองลงไปที่ตัวกฎหมายต่างๆ การศึกษาไทยก็มีความคืบหน้าหลายด้าน ถึงแม้จะยังขาดการปฏิรูปเชิงระบบ หรือ ขนาดใหญ่ก็ตาม
การเดินทางของการศึกษาไทย
การปฏิรูประบบการศึกษาของไทย ตามพรบ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีความ Inclusive หรือครอบคลุมมากขึ้น โดย พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 พยายามเข้าถึงการศึกษาทุกช่วงวัยและคนทุกกลุ่ม ซึ่งตอนนี้มีอายุประมาณสองทศวรรษแล้ว
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงและแก้ไขนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น การเกิดขึ้นของ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปี 2562 และ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ปี 2562 ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุธ จันทร์โอชา เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ออมสิน จตุพร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า “ในแง่หนึ่ง นโยบายมีความครอบคลุม และพยายามเปิดโอกาสให้เขตพื้นที่การศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดการการศึกษาและตีความ พรบ.” และ “ในการทำ พรบ. ฉบับปรับปรุง ได้มีการทำประชามติในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเท่าที่ควรจะเป็น”
แต่ถ้ามองในอีกด้าน “การศึกษาเราเคลื่อนตัวไปเยอะ มีผู้เล่นหลากหลาย นักกิจกรรม ครูสอน ที่พยายามเข้ามาจัดการศึกษาแบบที่รัฐไม่เป็นผู้ผูกขาดอีกต่อไป จึงมาเป็นที่วิพากษ์กันว่า พรบ. การศึกษาแห่งชาติปี 62 ครอบคลุมผู้เรียนแล้วหรือยัง“
นอกจากนี้ ออมสิน ชี้ว่า ในมุมของคนทำงานและผู้ปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นครู โรงเรียน Homeschool หรือศูนย์การเรียนรู้อื่นๆ พรบ. การศึกษา เป็นประตูที่เปิดโอกาสค่อนข้างมาก ไม่ได้มีการปิดกั้นใดๆ เพียงแต่คนทำงานจะต้องมาตีความและปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่
ออมสิน จตุพร
พรบ. ที่มีอยู่ยังไปต่อได้?
ในมุมมองนักวิชาการและคนที่ทำงานด้านการขับเคลื่อนการศึกษา มีความเห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ยังไปต่อได้ รวมถึงหลักสูตรแกนกลางปี 51 ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดเล็กน้อย พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงก็มีการพัฒนามากกว่าเดิม และ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เข้ามาเปิดโอกาสที่กว้างขึ้น
ตัวบทกฎหมายของนโยบายมีความครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้ว “ถ้ามองในมุมของรัฐ เขาเปิดโอกาสให้กับคนทั่วไปได้มีการตีความ แต่ถ้ามองจากภาคประชาชน มันอาจยังไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควร”
นอกจากนี้ยังเห็นชอบว่า “ตั้งแต่เกิด พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี 62 ทำให้เกิดความอิสระเสรีมากขึ้น ช่วยให้สิ่งต่างๆ ปลดล็อคมากขึ้น ช่วยให้ครูทำงานได้ดีขึ้น บริหารบุคคล พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม”
“การที่รัฐพยายามสร้างนวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ มันเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม คนกลุ่มเล็กได้มีอิสระในการจัดการศึกษา”
มองระดับผู้ปฏิบัติ ยังขับเคลื่อนไม่พอ?
ผู้ปฏิบัติหรือ Actor นั้นสำคัญมาก และมองว่าในบางครั้งผู้ปฏิบัติกฎหมายนั้นสำคัญกว่านโยบายเสียอีก การที่หลายๆ อย่างขยับไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้าจะโทษแต่ฝั่งรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่ได้
“การเมืองทั้งเกื้อหนุนและเป็นอุปสรรคบางอย่าง แต่อย่าลืมว่าสังคมมีการเคลื่อนตัว คนมีการศึกษาที่มากขึ้น ชาวบ้าน คนรากหญ้า กลายเป็นคนชั้นกลางมากขึ้น”
วิธีคิดของคนในท้องถิ่นมีการพัฒนาตลอดเวลา อยากให้ลูกได้เรียนดี ๆ เพราะฉะนั้นเราจะโยนหรือโทษฝ่ายรัฐอย่างเดียวอาจจะไม่ถูก รัฐบาลทำงานด้านนโยบายซึ่งอยู่หน่วยกลาง ฉะนั้นแล้วผู้ปฏิบัติต้องมองเห็นว่าตัวเองนั้นมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วย
นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติมีหลายระดับและบทบาทที่ต่างกัน กระทรวง หรือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ส่งเสริมให้ครูได้สามารถจัดการศึกษาที่ครอบคลุมผู้เรียนทุกกลุ่ม และควรจะมีความยืดหยุ่นในเชิงนโยบาย
ในการปฏิบัติจริง อาจจะมีข้อจำกัดตามมา เช่น พรบ. ฉบับใหม่อาจจะขัดแย้งต่อข้อบังคับใน พรบ. ฉบับอื่นที่มีอยู่แล้ว แต่ทว่า เมื่อ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมมการศึกษา เข้ามา สามารถเป็นตัวช่วยปลดล็อคการทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและเสรีมากขึ้น
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สำเร็จ ที่มีการเปลี่ยนหลักสูตรหรือการพัฒนาครู เกิดขึ้นได้เพราะผู้อำนวยการ ครู และชุมชนมีความเข้มแข็ง “คนเล็กคนน้อยมีความสำคัญมาก อาจจะมากกว่านโยบายด้วยซ้ำ เพียงแต่เขาอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือยังขับเคลื่อนไม่เพียงพอ หรือไม่ต้องเนื่องหรือยังไม่ยั่งยืน”
ประเด็นที่ต้องเน้น ‘การสื่อสาร การส่งต่อ’
ระหว่างการพูดคุย ได้มีการเน้นย้ำหลายครั้งถึงเรื่องการสื่อสาร ออมสิน เห็นด้วยกับการผลักดัน พรบ. ฉบับใหม่ แต่ต้องเคร่งครัดเรื่องการสื่อสาร การเชื่อมโยงเข้าหางานมากขึ้น
“รัฐทำงานผลักดันในการออกนโยบายได้ดีระดับหนึ่ง เพียงแต่การสานต่อ เชื่อมต่อนโนบายให้มาถึงการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงนั้นต้องทำให้ดีขึ้น คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการ ครู ชุมชน นักเรียนก็ควรจะทำงานให้เป็นระบบด้วย”
นอกจากนี้ ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสองฝ่าย ระหว่างผู้ปฏิบัติและผู้ออกนโยบาย มาจากการขาดตอน ขาดการต่อยอด และขาดความต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้นแล้วประเด็นที่จะต้องขยับต่อคือ ‘การสื่อสาร’ ว่าจะทำอย่างไรให้เขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการ และครู เข้าใจว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งที่จะสร้างนโยบายการศึกษาให้มีความครอบคลุม เสมอภาค และเท่าเทียมมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. ออมสิน จตุพร สอนและวิจัยที่ สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีความสนใจด้านหลักสูตรและการสอน ซึ่งสามารถติดตามงานวิชาการได้ ที่นี่
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
รู้จักหลักสูตรสมรรถนะ บทเรียนจาก”โรงเรียนแม่คือวิทยาเชียงใหม่” ไม่ต้องรอปฏิรูปก็ปรับเปลี่ยนได้
ชำแหละการศึกษาไทย: “การเมือง”ฉุดปฏิรูป ทำอันดับรั้งท้ายโลก
เพศวิถีศึกษา: สะท้อนกระทรวงศึกษาธิการ “ล้าหลัง” ตามไม่ทันปัญหา