ประโยคคุ้นหู “การศึกษาย่ำอยู่กับที่” เป็นลักษณะของความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยมีหลายแบบและหลายมิติ ยกตัวย่างเช่น มีกลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากการสอบวัดระดับต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีโรงเรียนอีกจำนวนมากที่ตามหลัง ทั้งเรื่องคุณภาพของโรงเรียนและคุณภาพนักเรียน
หนึ่งในสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำมาจากการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง และเกิดการกระจุกตัวของทรัพยากร เช่น ครู ผู้ช่วยสอน หรืออุปกรณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มักจะกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนที่นักเรียนมีสมรรถภาพที่ดี โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมืองมักจะได้รับทรัพยากรมากกว่าโรงเรียนที่อยู่นอกเมือง และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไปในชนบทอาจไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรตามความต้องการที่แท้จริง
เครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน ไม่สะท้อนความเป็นจริง
พรบ. การศึกษาปี 2542 มาตรา 49 ระบุว่าให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพภายนอกของสถานการศึกษาทุกแห่ง อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 5 ปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และให้มีการนำเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน แต่เครื่องมือตรวจประเมินที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีปัญหาในหลายด้าน
- ความไม่เชื่อมโยงระหว่างการประเมินของ สมศ. และ คุณภาพของการศึกษา
World Bank พบถึงความไม่สอดคล้องของการตรวจประเมิน ตามรายงานประจำปี 2023 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระบุว่าจากการตรวจประเมิน 7,970 โรงเรียน พบว่าโรงเรียนส่วนมากหรือคิดเป็น 99.86-99.96% มีผลลัพธ์อยู่ในเกณฑ์ที่ “ดี” หรือมากกว่า และมีโรงเรียนเพียงส่วนน้อย หรือคิดเป็น 0.04-0.14% ที่ “ต้องพัฒนา”
การประเมินแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ คุณภาพนักเรียน การบริหารภายในโรงเรียน และการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Student-Centric Learning Management)
ผลการประเมินจาก สมศ. ขัดแย้งต่อความเป็นจริงในเรื่องคุณภาพนักเรียนไทย เพราะผลสอบ PISA ของเด็กไทยในปี 2022 บ่งว่า 46% ของเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี อยู่ในเกณฑ์ “Functionally illiterate/ Innumerate” หรือแปลได้ว่าอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และคะแนนของทั้ง 3 ภาควิชา อังกฤษ การอ่าน และคณิตศาสตร์ มีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะในขณะที่คุณภาพนักเรียนไทยลดลงเรื่อย ๆ แต่กลับมีโรงเรียนที่ผ่านมาตรฐานเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
- ผลลัพธ์ไม่ถูกนำมาใช้
มากไปกว่านี้ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจประเมินคุณภาพโรงเรียนไม่ได้นำมาใช้และผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการศึกษาก็ไม่ได้นำมาใช้ต่อ หรือนำมาประกอบในการพูดคุยเพื่อจัดทำงบประมาณด้านการศึกษา เพราะฉะนั้นฟังดูเหมือนว่าข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นข้อมูลขยะ ที่ไม่มีฝ่ายไหนเข้ามาทำงานต่ออย่างจริงจัง
- ข้อมูลขาดความละเอียด
World Bank ชี้ว่าเครื่องมือปัจจุบันขาดการหาข้อมูลเชิงลึกและความละเอียด เพราะไม่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ไม่มีการแยกข้อมูลหรือการตรวจสอบที่ระบุชัดเจนว่าเป็นชุดข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่ โรงเรียนในเมืองหรือนอกเมือง ความไม่เป็นระเบียบของข้อมูลทำให้การพัฒนาโรงเรียนมีข้อจำกัดมากขึ้น
ด้วยความไร้ประสิทธิภาพและข้อจำกัดต่างๆ จึงมีการนำเสนอให้ใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพโรงเรียน Fundamental School Quality Levels (FSQL) เพื่ออุดรอยรั่วต่างๆ
World Bank ร่วมมือ กสศ. พัฒนาเครื่องมือ FSQL
โครงการวิจัยมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน หรือ Fundamental School Quality Levels (FSQL) เป็นการร่วมมือระหว่าง World Bank และ กสศ. เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินคุณภาพโรงเรียนและวัดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาภายในโรงเรียน โดยเครื่องมือชิ้นนี้พัฒนามาจากการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น บริบทของประเทศ จากการทดลองและปรับแก้ งานวิจัยในประเทศไทย และนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้ร่วมด้วย
FSQL ตรวจสอบและประเมิน 3 มิติหลัก คือ
- School leadership ความเป็นผู้นำและการบริหาร
- Teaching quality คุณภาพของการสอน
- School Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียน
ยังอยู่ในช่วงวิจัย – ทดลอง
การพัฒนาเครื่องมือนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2020 และได้มีการทบทวนและปรับวิธีการประเมินมาเรื่อย ๆ ผ่านการทำ Focus Group ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักการเมือง และนักวิชาการ ได้มีการเริ่มทดลองจริงครั้งแรกกับโครงการ ครูรักษ์ถิ่น โดยมี 275 โรงเรียนเข้าร่วม
ในการทดลองครั้งแรกเจอข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การประเมินคุณภาพการสอนเพราะในเบื้องต้นได้ให้ครูทำการ Self-Evaluation หรือการประเมินตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อมูลที่บิดเบือน และพบว่าต้องการข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนมากกว่านี้
จากปัญหาที่พบจึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งที่สอง การให้ครูประเมินตัวเองถูกเปลี่ยนเป็นการให้มีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมณ์มานั่งการสังเกตุการสอนในห้องเรียนแทน และมีการกำหนดแนวทางการประเมินในห้องเรียนที่ชัดเจนมากขึ้น
ส่วนการประเมินโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียน มีการกำหนดให้เพิ่มหลักฐานเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการให้คะแนน และขยายเกณฑ์การวัดเพื่อให้ครอบคลุมโรงเรียนในหลายบริบท เป็นต้น
เครื่องมือใหม่ มีประสิทธิภาพ?
โดยรวม การพัฒนาเครื่องมือ FSQL อยู่ในแนวโน้มที่ดี เพื่อเป็นการทดลองความแม่นยำของตัวชี้วัด นักวิชาการได้ทำการวิเคราะห์ Regression Analysis เพื่อดูความเชื่อมโยงของตัวแปรต่างๆ โดนกำหนดให้ Student Learning Outcome หรือ ผลการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นตัวแปรอิสระ (Dependent Variable)
โดยผลการวิเคราะห์ครั้งนี้มาจากการเก็บข้อมูลจากการทดลองรอบที่สองทั้งหมด 162 โรงเรียน แบ่งเป็น 134 โรงเรียนจากจังหวัดราชบุรี 17 โรงเรียนจากจังหวัดปทุมธานี และ 11 โรงเรียนจากจังหวัดตาก
- Model 1: ดูความสัมพันธ์ระหว่าง ผลการเรียนรู้ของนักเรียน กับอีกสองปัจจัย 1) คุณภาพของการสอนและ 2) โครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ทั้งสองปัจจัยนั้นมีผลต่อผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างมาก โดย คุณภาพของการสอนเป็นปัจจัยที่จะส่งต่อผลการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่าปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียน
- Model 2: มีการเพิ่มปัจจัยความเป็นผู้นำภายในโรงเรียนและการบริหารเข้าไปในการวิเคราะห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยความเป็นผู้นำภายในโรงเรียนและการบริหาร เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด (มากกว่าสองปัจจัยแรก) สองปัจจัยยังคงมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ทว่ามีอิทธิพลที่ลดลง
ข้อมูลจากการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ นั้นเชื่อมโยงกับข้อมูลเรื่องความเป็นผู้นำในโรงเรียนในงานวิจัยโดยกว้างว่า การมีผู้นำที่ดีจะช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินการโดยรวมของโรงเรียนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ความเป็นผู้นำที่มีสมรรถภาพนั้นจะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในตัวนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านคุณภาพในการสอนและการบริหารโรงเรียน
เวียดนามทำสำเร็จ
การศึกษาของเวียดนามพิสูจน์ได้ว่า หากมีข้อมูลที่ดีและแม่นยำ จะช่วยให้นักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและเท่าเทียมมากขึ้น และจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนได้
ข้อมูลของ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) จะทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาของเวียดนามระหว่างปี 1985 – 2005 มีความเหลื่อมล้ำและมีการขาดแคลนสูงในเชิงทรัพยากร รัฐบาลเวียดนามจึงร่วมมือกับธนาคารโลกเพื่อทำงานวิจัย FSQL เพื่อพัฒนานโยบายระดับประเทศ
ในบริบทของประเทศเวียดนาม FSQL มีเกณฑ์การประเมิน 5 ด้าน
- บริหารจัดการโรงเรียน – บุคลากรระดับผู้บริหารทุกคนต้องผ่านการอบรมเรื่องการจัดการโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับการขยายความรู้ด้านการบริหารสถานศึกษาให้ครอบคลุมกับบริบทของพื้นที่อื่นๆ นอกจากส่วนกลาง
- การพัฒนาบุคลากรครู – ครูต้องผ่านการฝึกฝนการสอนในหลายรูปแบบรวมถึงฝึกสอนเด็กพิการ และโรงเรียนที่มีกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ต้องสามารถจัดการเรียนการสอนภาษาเวียดนามได้ดี
- โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การเรียนการสอน – สิ่งแวดล้อมต้องเอื้อต่อการเรียนรู้เช่น ความสงบเงียบ โรงเรียนต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของนักเรียนทุกคนรวมถึงเด็กพิการ
- การดำเนินการตามนโยบายระบอบสังคมนิยม – เน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและทุกโรงเรียนต้องมีสมาคมผู้ปกครองเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ปกครองและชุมชนช่วยพัฒนาโรงเรียน
- ผลลัพธ์ทางการศึกษา – หลักสูตรต้องออกแบบโดยเน้นความจำเป็นของผู้เรียน
ขั้นต่อไปและข้อควรพิจารณา
ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องมือสร้างผลประโยชน์และใช้งานได้จริงในระยะยาว จำเป็นต้องมีการพัฒนาและร่วมมือกับหลาย ๆ ฝ่าย ในหลายประเด็น เช่น
- เครื่องมือยังต้องอาศัยการพัฒนาต่อและจะต้องใช้เวลานานในการฝึกฝนผู้ประเมินการสอนในห้องเรียนให้มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรในปริมาณมากเพื่อพัฒนาจุดนี้
- ต้องมีการให้คำมั่นสัญญาในระยะยาวถึงการสนับสนุนในการจัดสรรทรัพยากร สำหรับการฝึกฝนบุคคลากร การควบคุมมาตรฐาน และการตรวจสอบข้อมูล
- การพัฒนาระบบพิสูจน์ความจริงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อนำมาตรวจสอบข้อมูลที่ทางโรงเรียนให้มาเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือใช้งานได้จริงและมีความแม่นยำ
- การเมืองต้องมีส่วนช่วยกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับโรงเรียนในการให้ความร่วมมือในเรื่องการให้ข้อมูลต่างๆ และต้องมีการปรับตัวเข้ากันระหว่างเครื่องมือวัดคุณภาพใหม่และเก่า
- การติดตั้งและการนำเครื่องมือมาใช้กับทุกโรงเรียนทั่วประเทศจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา: https://documents.worldbank.org/en/publication/documents-reports/documentdetail/099021025000545560
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ รอมานาน 26 ปี..ยังต้องรอต่อไป
ตีกรอบทิศทางวิจัยการศึกษาแห่งชาติ แก้ปัญหางานวิจัย “ขึ้นหิ้ง”
โพลชี้คนไทยกังวล ปัญหา-คุณภาพการศึกษา