ทุกวันนี้ สังคมไทยพยายามเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ยังคงใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 42 ที่ใช้มานานกว่า 26 ปี ขณะที่ทั่วโลกปฏิวัติการเรียนรู้ไปไกลถึง AI แต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่พยายามปรับแก้ไขมานาน ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ารับการพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.)
“คงไม่ทันรัฐบาลนี้” เสียงจากคนวงในกระทรวงศึกษาธิการออกมายอมรับว่า พ.ร.บการศึกษาแห่งชาติที่รอปรับแก้ไขฉบับใหม่ให้ทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลกยังไม่ได้เสนอเข้ารับการพิจารณาจากครม. เพื่อเสนอเข้ารับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
หากจะประมวลจากเวลาและขั้นตอนการดำเนินการ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ….ที่เสนอโดยสภาการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ระหว่างวันที่ 7 พ.ย. 66-21 พ.ย 66 โดยใช้เวลาประมาณ 15 วันและมีผู้เสนอความเห็นไม่มาก แต่ใช้เวลา 1 ปี ในการรวบรวมความเห็นและปรับปรุงกฎหมายเพื่อเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณา
“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯอยู่ระหว่างการสรุปรวบรวมความเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายยังไม่ได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นค่อยเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร ถ้าพิจารณาจากเวลาที่เหลือของรัฐบาล 2 ปี คิดว่าไม่น่าจะเสร็จทันในรัฐบาลนี้แน่นอน”
26 ปี ยังรอ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่
ที่ผ่านมามีความพยามแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปี 2542 ที่ใช้มานาน 26 ปี โดยที่ผ่านมา มีความพยายามเสนอร่างฯ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ฉบับใหม่ มาแล้วหลายครั้ง เพื่อให้ทันการการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยในปี 2562 มีความพยายามของภาคประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเช่นกัน
กระทั่งในช่วงปี 2564 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเสนอร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ แต่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความทันสมัยและความสอดคล้องกับอนาคตของการศึกษาที่แท้จริงหรือไม่ โดยมองว่าเนื้อหายังยึดติดกับอดีตมากเกินไป แต่พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 และวาระ 2 แต่ยุบสภาก่อนที่จะมีการพิจารณากฎหมายแล้วเสร็จ
ในปี 2566 กระทรวงศีกษาธิการภายใต้ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการนำร่างกลับมาพิจารณาและปรับปรุงใหม่ โดยเมื่อ 27 ธ.ค. 66 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการปรับปรุงร่างฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ร่างฉบับใหม่นี้ก็ยังคงถูกตั้งคำถาม เนื่องจากเป็นการนำเอาร่างพ.ร.บ.การศึกษา ปี 64 มา “ปัดฝุ่นใหม่” ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่ โดยยังคงยึดติดกับอดีตไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก โดยพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นว่าเนื้อหาอาจไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่พรรคประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายและข้อบังคับสำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งอาจเข้มงวดเกินไป
นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่าการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษาได้พิจารณาทบทวนร่างดังกล่าว โดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหลายครั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษาได้พิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าวฯ
มีการประชุมเชิงปฏิบัติการหลายครั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยผลการประชุมเชิงปฏิบัติการได้มีการทบทวนประเด็นหลัก ๆ คือ
- แนวทางการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของคนรุ่นใหม่
- การกำหนดเป้าหมาย บทบาท และหลักสูตรการศึกษา
- การออกใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งรวมถึงภาคอาชีวศึกษา
- การส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์ งบประมาณ และการบริหารงานบุคคล
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 15 พ.ค. 67 มีการนำเสนอร่างกลับสู่กระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง และ ผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ปัจจุบันร่างดังกล่าว ยังไม่ได้รับการเสนอเข้ารับการพิจารณาจากครม.
ร่างฯ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ นับว่ามีความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกด้าน ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พระราชบัญญัติอาชีวศึกษา รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาอื่น ๆ ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม และพรรคประชาชน
แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวฯพูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับ “การเงิน” จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี
สาระสำคัญ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ที่เสนอโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนำเอา ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติปี 64 มาปรับปรุงใหม่ มีวัตถุประสงค์ให้สอดรับกับประเด็นการปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดไว้ในตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 258 โดยมีเเนื้อหาที่สำคัญ 4 เรื่อง
- การพัฒนาเด็กปฐมวัย
- การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- การคัดกรอง ผลิตพัฒนาครูและคณาจารย์ให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
- การจัดการเรียนการสอนและโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายแม่บททางการศึกษาตามเป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ยกระดับคุณภาพการศึกษา 2) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 4) ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบ เพื่อมุ่งหวังที่จะยกระดับและผ่าวิกฤตทางการศึกษาให้ตอบสนองสภาพการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับ 660-2564
ข้อถกเถียง “ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่”
หากประมวลข้อถกเถียง และเสียงวิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ”ฉบับใหม่จะพบว่าต้องให้ทบทวน แนวทางการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเนื้อหาไม่ทันสมัย ขาดจิตนาการเรียนรู้ แต่มีกลไกในการบริหารงานมากกว่าเน้นเนื้อหาหลักสูตร
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 มีรายละเอียดจำนวนมาก แต่มีเนื้อหาที่เข้าใจได้ยาก ไม่สามารถสื่อสารกับคนอ่านได้เลย ขณะที่มีมาตราที่เป็นเรื่องของกลไกการบริหารมากถึง 110 มาตรา ขณะที่เนื้อหาสวนใหญ่ยังไม่พูดถึงการเรียนรู้ในอนาคต
“เนื้อหาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในหลายประเด็นยังเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในอดีต และปัจจุบัน แต่ไม่ได้พูดถึงอนาคต ทำให้ หาก พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ประกาศ และจะใช้ไปอีก 20 – 30 ปีจะทำให้ไม่เท่าทันโลกในอนาคต ซึ่งหัวใจของการการศึกษาต้องมีจินตนาการถึงอนาคตอยู่ในนั้นด้วย”
ขณะที่สภาผู้บริโภคเสนอให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ อาทิ
- เรียนฟรี 15 ปีอย่างแท้จริง โดยไม่ให้มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงและต้องเป็นการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
- มีพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน
- เปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและมีบทบาทในการกำหนดทิศทางด้านการศึกษา
- ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลาง โดยให้มีการสะท้อนเสียงของผู้ใช้งานจริง
- พัฒนาหลักสูตรให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับบริบทของโลกที่
- ผลิตและพัฒนาครูให้มีความเชี่ยวชาญและเหมาะสม
ส่วนข้อคิดเห็นของการศึกษาทางเลือก นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย บอกว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ได้ตัดมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ออกไป โดยมาตร 12 ได้กำหนดให้สิทธิ องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน ครอบครัว เอกชน และสถาบันศาสนา มีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและมี 6 กฎกระทรวงฯ ออกมารองรับ ทำให้มีการศึกษามาทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
“ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการศึกษาภาคประชาสังคมเลย นี่คือหัวใจสำคัญที่หายไป สมาคมฯ ของเราทำงานด้านการศึกษากับชุมชนกับสถานประกอบการมานาน มีศูนย์การเรียนประเภทนี้ 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์การเรียนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เราหางบประมาณจ้างครูกันเอง นี้คือความเจ็บปวดของภาคประชาสังคมและในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ไม่มีการศึกษาภาคประชาสังคมเลย ประเทศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นกัน แต่การศึกษาของเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงยังอยู่ในจิตนาการเดิมเราจะไปสู่จิตนาการใหม่ได้อย่างไร”
แม้ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ได้ผ่านการรับฟังความเห็นไปแล้ว และต้องรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่จากความพยายามผลักดันที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีความไม่แน่นอน ทั้ง ๆ ที่ ทุกฝ่ายจะพูดถึงปัญหาและความจำเป็นของการปฏิรูป แต่มักจะ “ปฏิบัติ” ไปอีกทาง
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง