จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดข้อมูลรายงาน “Future of Jobs 2025” ที่ร่วมทำกับ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งเป็นการเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี พ.ศ. 2568–2573 โดยรายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจ 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก
ศาสตราจารย์ วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผลการวิเคราะห์จากรายงานว่า ในอนาคตจะมีตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่งเกิดขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ 92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป เนื่องจากเข้ามาแทนที่ของระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ขณะที่การจ้างงานจะเติบโต 7% ของการจ้างงานทั้งหมด หรือเท่ากับ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นสายงานใหม่ทั้งหมด ดังนั้นแรงงานทุกคนต้องมีทักษะพร้อมที่จะรองรับงานใหม่
ปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานของไทยและทั่วโลกในปี 2573 ได้แก่
อันดับ 1 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน (Technological chang) ถือเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะ
อันดับ 2 การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม (Green trasitrion) การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
อันดับ 3 ความผันผวนทางเศรษฐกิจ (Conomic uncertainty) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ
อันดับ 4 การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร (Demographic shifts) ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน
อันดับ 5 การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Geoconomic Fragmentation) ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ
10 ทักษะจำเป็นในตลาดแรงงาน 2568
ทั้งนี้ทักษะสำคัญที่ต้องการในตลาดแรงงานของไทยจากรายงาน Future of jobs report 2025 คือ 1.ทักษะด้าน AI และ Big Data 2.ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ 3.ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ 4.ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล (เพิ่มเข้ามาใหม่จากรายงานครั้งก่อน) 5.มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้ 6.ปรับตัวไว ทำงานอย่างหยืดหยุ่น และคล่องตัว 7.มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง (เพิ่มเข้ามาใหม่จากรายงานครั้งก่อน) 8.มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน (เพิ่มเข้ามาใหม่จากรายงานครั้งก่อน) 9.ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร และ 10.มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
ในขณะที่ระดับโลก จะเน้น 1.ทักษะด้าน AI และ Big Data 2.ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล 3.ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี 4.ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ 5.การปรับตัวไว ทำงานหยืดหยุ่นและคล่องตัว 6.มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต 7.มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้ 8.ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร 9.ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และ 10.มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าทักษะที่ใช้มือได้หายไปแล้ว แต่ถูกแทนที่ด้วยทักษะที่เป็นเรื่องของความคิด หรือความฉลาดที่ต้องใช้สมองทั้งสิ้น ส่วนเรื่องทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน (Sotf Skill) เป็นเรื่องรองลงมา แต่ทั้ง 2 สิ่งนี้ยังคงต้องมีควบคู่กัน
สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาตลาดแรงงานของไทย คือ
- การเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นให้แก่พนักงาน ซึ่งนายจ้าง 85% มองว่ากลยุทธ์นี้มีความจำเป็น โดยเตรียมคนไทยให้พร้อมด้วยความรู้และทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
- สรรหาบุคลากรที่มีทักษะใหม่ ๆ โดยค้นหาและสนับสนุนผู้ที่มีศักยภาพในทักษะที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งผลสำรวจนายจ้าง 70% อยากจะจ้างพนักงานที่มีทักษะใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในอนาคต
- ยกระดับการทำงาน โดยใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ AI เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เพื่อปรับการทำงานของพนักงานให้ลดการทำงานด้วยมือและงานประจำ
- พนักงานเก่าที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือทำงานไม่ได้ ให้ย้ายไปทำงานด้านอื่นที่มีบทบาทและมีแนวโน้มที่งานดังกล่าวจะเติบโตได้มากขึ้น เช่น พลังงานทดแทน การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยี เป็นต้น
เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
อย่างไรก็ตามท่ามกลางยุคที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI กันมากขึ้น จากการสำรวจธุรกิจ 50% ต้องการใช้เทคโนโลยี AI อีก 40% ต้องการลดจำนวนพนักงานลง และ 10% ไม่ต้องการพนักงานเดิมที่มีทักษะเก่า ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่ามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทอย่างไรต่อไปนับจากนี้ เพราะหน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิตให้มีทักษะที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน
อธิการบดี จุฬาฯ ได้ยกคำพูดของบุคคลชื่อดังของโลก ที่ระบุไว้ว่า “ไม่จำเป็นที่จะต้องมีวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัยหรือแม้แต่ระดับมัธยมปลายเลย หากคุณมีประวัติความสำเร็จที่โดดเด่น” ซึ่งความคิดดังกล่าวมีทั้งถูกและผิด เพราะมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องผลิตหลักสูตรปริญญาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผลิตหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ด้วย ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่นอกเหนือจากภาคปกติ เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถให้กับผู้เรียน
สำหรับปี 2568 ตลาดแรงงานทั่วโลก ต้องการบุคลากรที่มีทักษะใหม่ ดังนั้นการศึกษาที่ให้ความรู้ จำเป็นจะต้องมีเรื่องทักษะ และที่สำคัญกว่านั้นเป็นเรื่องของ Soft Skill ที่ต้องเข้าใจถึงข้างในตัวผู้เรียน และเข้าใจพรสวรรค์ของผู้เรียน การเปลี่ยนผ่านการศึกษาตามรายงาน Future of Jobs 2025 จึงไม่ได้แค่สอนความรู้ แต่สอนความฉลาด เพราะความรู้ล้าสมัยได้
ดังนั้นทักษะที่ได้จากการศึกษา จะทำให้มีความฉลาด เกิดกลยุทธ์ทางความคิด พฤติกรรมก็จะดีขึ้น และผลลัพธ์ของการเรียนรู้นี้ก็จะเกิดขึ้นจากการคิดอย่างมีการวางแผนอย่างมีชั้นเชิง โดยบทบาทมหาวิทยาลัยวันนี้ เป็นเรื่องของ Inside incubator คือ การบ่มเพาะพรสวรรค์ของนักศึกษา พัฒนาทักษะ และทำให้นักศึกษาเข้าใจตัวตนของตนเองมากที่สุด
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- คนหนีหลักสูตรการศึกษาไทย แห่ส่งลูกเรียนอินเตอร์
- อิเล็กทรอนิกส์ไทยตามไม่ทันโลก เสี่ยงตกงาน 1.2 แสน
- ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท “ไม่ทั่วประเทศ” แค่ 4 จังหวัด 1 อำเภอ