รัฐบาลยังไม่สามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่ประกาศไว้ได้ปรับขั้น 400 บาททั่วประเทศ โดยอ้างเหตุผลค่าครองชีพและโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้เพียง 4 จังหวัดและ 1 อำเภอ ที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ขณะที่หัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่และสงขลาขยับขึ้นวันละ 30-35 บาทเฉพาะเขตอำเภอเมือง
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดของประเทศ ปรับขึ้นวันละ 9 บาท หรือ ประมาณเดือนละ 270 บาท
คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อ 23 ธ.ค. 67 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7 – 55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุด คือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุด คือ วันละ 337 บาท ดังนี้
- กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5)
- กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0
โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 เป็นต้นไป
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ จำนวน 3,760,697 คน
สำหรับ ปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง
- กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง
- กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะได้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ขึ้นค่าแรงดันต้นทุนธุรกิจเพิ่ม 2%
อิศราวดี เหมะ เจ้าหน้าที่วิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ น่าจะทำให้ต้นทุนแรงงานของธุรกิจปรับเพิ่มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2% (กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่) และอาจกระทบมาร์จิ้นธุรกิจ (กำไร/อัตรากำไรธุรกิจ) ให้ลดลง ท่ามกลางปัจจัยด้านเศรษฐกจิที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเรื่องกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ระดับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาจแตกต่างกันไป ดังนี้
1. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คาดว่าจะกระทบภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูง เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มักจะจ่ายค่าจ้างอิงตามค่าจ้างขั้นต่ำ (น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน) โดยเฉพาะธุรกิจเกษตร 76% ของการจ้างงานทั้งหมด โรงแรมและร้านอาหาร 46%, ก่อสร้าง 46%, การผลิต 36% และค้าปลีก-ค้าส่ง 35%
อย่างไรก็ดี ผลสุทธิของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นอกเหนือจากการมีสัดส่วนการใช้แรงงานที่อิงกับค่าจ้างขั้นต่ำสูงแล้ว คงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสร้างรายได้และบริหารจัดการต้นทุน การปรับราคาขายสินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการปรับตัว เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบการ SMEs จากการกระจายความเสี่ยงด้านต้นทุนสามารถทำได้ดีกว่า รวมถึงธุรกิจการผลิตอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสามารถปรับไปใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานได้คล่องตัวกว่าภาคบริการหรือภาคเกษตร เป็นต้น
2. ในมิติด้านพื้นที่ การปรับเพิ่มค่าจ้างรอบนี้ตั้งแต่ 7-55 บาท ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานของแต่ละจังหวัดจะเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นมากอาจมีต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงกว่ากิจการประเภทเดียวกันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นมากที่สุดถึง 15% รวมถึงอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ปรับเพิ่ม 9-10% จากอัตราเดิม
ส่วนในจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง แม้จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 8-14% จากอัตราเดิม แต่คาดว่าผลกระทบอาจจำกัดในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากปัจจุบันกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มักจะเป็นธุรกิจผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่มีการจ้างงานแรงงานวิชาชีพที่มีระดับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ สะท้อนจากค่าจ้างสำหรับแรงงานระดับ ปวส. และอนุปริญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 20,368 บาท/เดือน รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีทุ่นแรงอย่างระบบ ระบบอัตโนมัติ (Automation) หรือ วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) ทำให้ธุรกิจผลิตในพื้นที่ดังกล่าวอาจไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก
สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ปัจจุบันต้นทุนแรงงานของไทยสูงกว่าบางประเทศที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged Society) เร็วกว่าหลายประเทศในอาเซียน อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่า ทำให้ในระยะข้างหน้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติของไทย จำเป็นต้องอาศัยทักษะแรงงานมีฝีมือและปัจจัยพื้นฐานด้านอื่น ๆ เป็นหลัก