28 มิถุนายน 2567 เป็นวันคิกออฟหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศผ่านยุทธศาสตร์ “ซอฟต์พาวเวอร์” โดยดึงตัวแทนจาก 11 อุตสาหกรรมมาร่วมกันออกแบบนโยบายตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย 4 ล้านล้านบาทต่อปี
แต่ภายใต้ฉากหน้าของนโยบายเพื่อยกระดับ 11 อุตสาหกรรมให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ยังมีเบื้องหลังของชุมชนที่ต้องการโอกาสในการมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับต้นทุนทางวัฒนธรรมไปสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านเวที “Connecting Soft Power Resources Forum” ที่ไทยพีบีเอสร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดพื้นที่ให้ชุมชนต่าง ๆ เข้ามาแสดงศักยภาพและอัตลักษณ์ในฐานะเจ้าของทุนท้องถิ่น นำเสนอและแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญตลอดจนตัวแทน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อหาทางต่อยอด โดยเฉพาะการนำอาหารพื้นถิ่นซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญ มาเนรมิตเป็นมื้ออาหารที่สร้างคุณค่าและมูลค่าในการเชื่อมต่อและสอดรับกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม
ประกาศปฏิญญา 5 ประการ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก
กางแผน 11 อุตสาหกรรม ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์
เปิดพื้นที่เชื่อม 5 ต้นทุนกับภาคนโยบาย ยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่น
“Co-Creation Workshop” เป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้เจ้าของต้นทุนอัตลักษณ์ในพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยจากจังหวัดเชียงใหม่ ตาก และ กาญจนบุรี , กลุ่มชาวเล มอแกน มอแกลน และอุรักลาโล้ย รวมถึงชาวชุมชนในพื้นที่เกาะเต่า และเกาะลันตา รวมถึงกลุ่ม OFOS หรือ หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีเยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และชุมชนวัดดวงแข กทม. จัดกลุ่มแลกเปลี่ยน ระดมความเห็นกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจาก 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อฉายภาพต้นทุนอัตลักษณ์ชุมชน และปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อน ก่อนสรุปเป็นข้อเสนอในการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นสู่ซอฟต์พาวเวอร์
อาหารไม่มั่นคง-ตัวตนไม่ได้รับการยอมรับ แล้วจะไปถึงซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร
ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ในเมื่อคนในชุมชนยังไม่รู้จัก แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ – กุลสุวารักศ์ ปู่ยี่ ชุมชาลาหู่
ประโยคที่ถูกเน้นย้ำในการนำเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย และไม่รู้ว่าพวกเขาจะสามารถเชื่อมโยงของดีที่มี ไปเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาอธิบายให้ชัด
แม้ว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพัธุ์บนดอยจะมีอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงอาหารท้องถิ่น ดนตรี และศิลปะของชุมชนทั้งการแต่งกายและผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ยังไม่แน่ใจว่าการพัฒนาสิ่งเหล่านี้จะใช่ซอฟต์พาวเวอร์ ตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ พร้อมสะท้อนถึงปัญหาการสื่อสารที่ยังไม่สามารถนำเสนอจุดแข็งที่มีอยู่ในชุมชนให้คนภายนอกเข้าใจได้มากพอ รวมถึงอุปสรรคในการผลักดันอาหารท้องถิ่น จากข้อจำกัดของกฎหมายที่ยังไม่ยอมรับสิทธิ “คนอยู่กับป่า”
ในท้องถิ่นเรามีทั้ง ชาป่า และชาอัสสัม ที่สามารถนำมาทำได้หลายเมนู เช่น ชาหมัก ชาเมี่ยง แต่ในช่วงที่เราเจอนโยบายห้ามเผา 60 วัน คนในท้องถิ่นไม่สามารถเข้าป่าได้ ถ้าคุณเข้าป่า คุณผิดกฎหมาย แต่ว่าอาหารของเราอยู่ในป่า ซึ่งเราก็เป็นคนปลูกไว้ แล้วจะมาเป็นซอฟพาวเวอร์ได้อย่างไร ในเมื่อนโยบายนี้มันมีข้อจำกัด
กุลสุวารักศ์ ปู่ยี่ ชุมชาลาหู่
อาหารยังไม่มั่นคง ตัวตนก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ สิ่งที่ต้องการคือ ความเข้าใจโดยปราศจากอคติ ในตัวตน วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพให้เห็น ได้เป็นที่ยอมรับ และขับเคลื่อนของดีชุมชนไปให้ถึงเป้าหมาย
ระบบนิเวศซอฟต์พาวเวอร์ เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม ต้องไปด้วยกัน
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล จากกลุ่มอูรักลาโว้ย มอแกน และมอแกลน และกลุ่มชาวเกาะ จากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี สะท้อนให้เห็นต้นทุนและอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ภูมิปัญญาทางทะเล และฐานทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการทำอาหารจากวัตถุดิบจากท้องทะเล โดยมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์คือการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการท่องเที่ยวแบบเดิม ที่เน้นการท่องเที่ยวเฉพาะจุดแลนด์มาร์ก ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ผลกระทบจากปัญหาขยะและมลพิษทางทะเลก็มากขึ้นตามไปด้วย
การท่องเที่ยวถ้าเราเน้นให้เติบโตตามยถากรรม ในอนาคตสิ่งที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ทางทะเล จะหายไปด้วย เพราะถ้าให้สังเกต ที่ไหนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วน้ำทะเลยังสะอาดอยู่บ้าง ซอฟต์พาวเวอร์จึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ เกาะลันตา จ.กระบี่
พวกเขายังมองว่าซอฟต์พาวเวอร์คือ “การต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น” ให้ส่งออกได้ จึงอยากให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เกิดมูลค่า และเสริมทักษะสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยียกระดับการท่องเที่ยวและขายสินค้าและบริการ ไปจนถึงการพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงตั้งแต่ภูเขาถึงทะเล ไปจนถึงระดับเมือง และระดับโลกด้วย
หาอัตลักษณ์ตัวเองไม่เจอ ไม่รู้วิธีเพิ่มมูลค่าให้ “ของดีชุมชน”
ด้านกลุ่มผู้มีทักษะวิชาชีพของตัวเองและชุมชนต่างๆ ที่มีตัวแทนกลุ่มลูกเหรียงจากจังหวัดชายแดนใต้ ที่ใช้ทักษะด้านอาหารบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่แทนภาพของความรุนแรง และกลุ่มคนรุ่นใหม่จากชุมชนวัดดวงแข จาก กทม.ที่ทำกิจกรรมท่องเที่ยวในแหล่งชุมชนเข้าร่วม ได้เข้ามาสะท้อนมุมมองต่อ “นโยบาย OFOS” หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์” โดยมองว่าศักยภาพที่พวกเขามี คือ
- ทักษะเฉพาะตัว เช่น การทำสินค้าโอท็อปของตัวเอง
- พหุวัฒนธรรม มีภาษาพื้นเมืองที่เป็นเสน่ห์
- ครอบครัวมีต้นทุน / มีกิจการดั้งเดิม เช่น ชุมชนปัตตานี มี “ไก่กอและ” เป็นอาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่อ
- ความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ จากทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายในชุมชน ที่สามารถนำไปต่อยอดได้
แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าอัตลักษณ์ของตัวเองหรือครอบครัวอยู่ตรงไหน และ ยังขาดพื้นฐานในการเผยแพร่ทักษะที่มีไปสู่ภายนอก ทำให้ไม่สามารถนำของดีท้องถิ่นที่มีอยู่ออกไปขายได้
รวมถึง การเข้าไม่ถึงการสื่อสารจากนโยบายของรัฐ เมื่อเกิดข้อสงสัย จึงไม่รู้จะถามใครหรือทำอย่างไรต่อดี โดยเฉพาะแผนงานรองรับนโยบาย “OFOS” ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ ควรเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อช่วยเสริมทักษะ สร้างการจ้างงาน เพิ่มรายได้ไปพร้อมกัน
ยกระดับชุมชนด้วย “Raw Power” ป้อนวัตถุดิบหนุนเสริม “Soft Power”
ในมุมมองตัวแทน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ มองว่าอัตลักษณ์ชุมชนเป็นต้นทุนที่สามารถต่อยอดได้ ซึ่งการได้เข้ามาพบเจอ และมองเห็นกัน ระหว่างชุมชน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นโอกาสที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม “ความเท่าเทียม” ที่มาจากความจริงใจและการยอมรับของรัฐในการคงอยู่ของชาติพันธุ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมกันต่อสู้
การจัดเวทีนี้ สะท้อนปรากฎการณ์การยอมรับการมีอยู่ของความหลากหลาย การยอมรับคุณค่าอัตลักษณ์แต่ละชุมชน แต่ละชาติพันธุ์ เป็นความรุ่มรวยที่เราต้องปกป้อง ส่งเสริม สืบสาน ให้เกิดความเข้มแข็งภายใน และนำอัตลักษณ์มาเป็นแรงบันดาลใจในความเป็นไทย ซึ่งก็คือรากลึกวิถีชีวิตและชุมชน
เสริมคุณ คุณาวงศ์
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเสนอจาก ดวงฤทธิ์ บุนนาค ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ ที่เห็นว่าการวางโจทย์ให้ชุมชนทำซอฟต์พาวเวอร์อาจดูยากเกินไป แต่หากเริ่มจากการให้ชุมชนเป็นผู้พัฒนาวัตถุดิบที่มี เรียกว่า “Raw Power” เช่น หากจะทำผ้า ก็ต้องพัฒนาด้าย หรือจะทำอาหาร ก็ต้องพัฒนาวัตถุดิบให้ดีเพื่อหนุนซอฟต์พาวเวอร์ จะทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมและใช้ศักยภาพได้เต็มที่
วันนี้ถ้าให้ชุมชนคิดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ อาจจะเครียดไป อยากให้คิดถึง “Raw Power” ดูว่าวัตถุดิบของเรามีอะไรบ้างที่จะผลิตไปสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ได้ จะได้ไม่เครียด ซึ่งในทุก ๆ วัตถุดิบจะมีเทคโนโลยี รากวัฒนธรรม และมีเรื่องราวของชุมชนอยู่ ซึ่งไม่เหมือนกัน และผมอยากเห็นอัตลักษณ์ของชุมชนฝังเข้าไปนโยบายของรัฐ
ดวงฤทธิ์ บุนนาค
เสียงชุมชนเหนือจรดใต้สู่ 9 ข้อเสนอผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย
วงเสวนามองว่า อาหาร ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือการท่องเที่ยว เป็นต้นทุนที่จะเสกให้เป็น “ของดี” ที่สร้างคุณค่าและมูลค่าในการเชื่อมต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ แต่การขับเคลื่อนนี้จะมองแค่การผลักดันด้านใดด้านหนึ่งคงไม่ได้ นำมาสู่ข้อเสนอที่ต้องพัฒนาหลายด้านไปพร้อมกัน ประกอบด้วย
- การสื่อสารนโยบายรัฐให้ทั่วถึงคนทุกระดับ
- การท่องเที่ยวต้องนำวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนเข้ามาใส่ เช่น การล่องเรือจับหอยหวานของชาวเล จ.พังงา ที่สอดแทรกวิถีชีวิตชาวเลเข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส รวมถึงการพาไปท่องเที่ยวในสถานที่อันซีน หรือการมีกิจกรรมปล่อยหอย ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชนที่จะไม่จับหอยในช่วงวางไข่
- ทุกการดำเนินงานต้องสอดแทรกเรื่อง “ความยั่งยืน” เช่น การจัดการขยะ การดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ อีกทั้งยังช่วยรักษาวัตถุดิบทางท้องถิ่นให้อยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
- พัฒนาทักษะสร้างสรรค์ให้เจ้าของทุนวัฒนธรรม โดยส่งผู้เชี่ยวชาญลงมาให้ความรู้ ให้พวกเขาหาอัตลักษณ์ของตัวเองให้เจอ พร้อมพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ที่พวกเขาสนใจ รวมถึงมีพื้นที่ต้นแบบเอาไว้ให้พวกเขาได้ศึกษา เพื่อให้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้ตอบโจทย์
- สร้างภาพจำด้านบวกต่อกลุ่มชาติพันธุ์และคนในชุมชนต่าง ๆ โดยต้องปลดล็อกกฎหมายที่ไม่ยอมรับ “คนอยู่กับป่า” สร้างมุมมองใหม่ว่าพวกเขาก็เป็นพวกเดียวกันกับเรา และบอกให้เขารับรู้ว่าพันธมิตรมีใครบ้าง เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนของดีชุมชนสู่ซอฟต์พาวเวอร์
- เปิดโอกาสให้เจ้าของทุนวัฒนธรรมมีส่วนร่วม ในการปรับแก้กฎหมาย ร่างนโยบาย และวางแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของชุมชน
- มีเครือข่าย/หน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดความต่อเนื่อง ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามกระบวนการดำเนินงาน พร้อมเช็กความพร้อมหน่วยงานท้องถิ่นว่ามีแผนงานที่รองรับนโยบายแล้วหรือยัง
- สร้างสตอรีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ โดยกำหนดธีมที่ต้องการผลักดันให้ทุกท้องถิ่น ทุกอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนไปพร้อมกันในทุกกระบวนการ เช่น กำหนดว่าใน 2-3 ปีนี้จะนำเสนอเรื่อง “อาหารที่มาจากปลาท้องถิ่น” ก็ให้แต่ละท้องถิ่นคิดกันต่อว่าจะขยับอย่างไรต่อไป เช่น นำไปผสมผสานกับอาหารท้องถิ่น หรือนำไปอยู่ในเกม ในภาพยนตร์ เป็นต้น เมื่อนักท่องเที่ยวมองมาก็จะเห็นภาพ “ปลาท้องถิ่น” เป็นเรื่องเล่าของปีนั้น
- กระจายงบประมาณให้ทั่วถึง
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่เสริมทักษะให้คนในท้องถิ่นสามารถสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนตัวเองได้อย่างยั่งยืน แต่ยังสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาเยี่ยมชมด้วย
เรื่องเล่าจากมื้ออาหาร เส้นทางสู่ซอฟต์พาวเวอร์
“อาหาร” จัดเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่เจ้าของต้นทุนในชุมชนต่าง ๆ มองว่ามีศักยภาพเป็นอันดับต้น ๆ แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นไม่ใช่แค่ “รสชาติ” และ “วัตถุดิบ” เท่านั้น แต่ยังมี “ภูมิปัญญา” ที่สามารถพาให้อาหารท้องถิ่น ต่อยอดมูลค่าได้
กิจกรรม “Lunch & Talk” เป็นอีกช่วงเวลาสำคัญ ที่เจ้าของต้นทุนด้านอาหาร ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย ชาวเล ชาวเกาะ และตัวแทนชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แสดงภูมิปัญญา รังสรรค์อาหารคาวหวานแบบ Fine Dining จำนวน 15 เมนู ถ่ายทอดคุณค่าอาหารและวัตถุดิบของชุมชน เพื่อเชื่อมต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
โดยเริ่มเสิร์ฟเมนูเรียกน้ำย่อยด้วย “ป็อปคอร์นดอย”, “กรือโป๊ะ” (ข้าวเกรียบปลา), “เงี้ยนปลาอินทรี โอมากาเสะ”, เห็ดคั่ว “รสชาติหลังบ้าน” และน้ำผลไม้ตามฤดูกาล “ฤดูอินฟิวส์” สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับตัวแทน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ว่าภูมิปัญญาก้นครัวจากคนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ไม่แพ้ชาวยุโรปหรือคนญี่ปุ่น
ก่อนจะเข้าสู่เมนูซุปที่ชาวบ้านได้นำเนื้อวัวมาต้มในเครื่องเทศตามแบบอิสลาม “ซุปใสชายแดนใต้” และอาหารจานหลักที่ประกอบไปด้วยสำรับพื้นถิ่นจากเหนือจรดใต้ 9 อย่างในชื่อ “มากินข้าวกัน” ตัดเลี่ยนกับเครื่องดื่ม “Charming Sunset” ซึ่งใช้ดอกอัญชัญที่มีความเป็นด่าง และมะงั่ว (เลมอนชาวปกาเกอะญอ) ที่มีความเป็นกรดมาผสมกัน ทำให้เมื่อดื่มเข้าไปสีของน้ำจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา คล้ายกับสีท้องฟ้าในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีน้ำเงินสดไปถึงม่วงเข้ม
ดับคาวต่อด้วย “ตูป๊ะซูตง” ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว เมนูที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า เพราะเปรียบความเข้าใจของผู้คนที่มองว่าชายแดนใต้คือความขัดแย้ง แต่ที่จริงแล้วยังมีของดีและวัฒนธรรมที่อบอุ่นซ่อนอยู่ เพียงแต่ไม่ค่อยมีคนเห็น ส่งผลให้หน้าตาอาหารที่ดูเหมือนไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่กลับทำให้ทึ่งด้วยรสชาติที่กลมกล่อมอย่างไม่น่าเชื่อ ก่อนจะปิดท้ายด้วย “กาแฟปกาเกอะญอดริปเชค” จากเมล็ดกาแฟในไร่ชุมชน และ “ชาพันปี” ที่เสิร์ฟลงในกระบอกไม้ไผ่
เมนูอาหารเหล่านี้ต่างสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาก้นครัวที่มีความหลากหลายและมีเทคนิคชั้นเชิงไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครได้รู้ เปรียบเหมือนเพชรที่กำลังรอคอยการเจียระไนให้เจิดจรัส แต่ไม่ใช่แค่ “มีดีแค่ฝีมือ-วัตถุดิบ” เท่านั้น ยังมีคุณค่าและความหมายที่แฝงอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย ที่จะสามารถเชื่อมต่อไปสู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์
ทราบไหมครับว่า ทำไมรสชาติอาหารไทยถึงดีที่สุด เพราะเรามีวัฒนธรรมหลากหลายและลงตัวกันได้ดีมากที่สุด
ชุมพล แจ้งไพร
ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่ขายของ แต่รวมถึงการสร้างสังคมที่โอบอ้อม
นอกจากการยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจะนำไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ได้ แต่หากมองซอฟต์พาวเวอร์ในอีกมุมหนึ่ง ธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้อาจไม่ได้หมายถึงการขายของอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความอ่อนโยนของสังคมที่ดีต่อกันในความหลากหลายหรืออัตลักษณ์ที่แตกต่าง เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่โอบรับทุกอย่างที่เข้ามาอยู่ในสังคม และนั่นอาจทำให้มีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ มากกว่าอาหารหรือผลิตภัณฑ์ แต่เป็นมนุษยสัมพันธ์ที่อยู่บนความเรียบง่ายและงดงามได้
ซอฟต์พาวเวอร์ที่เรากำลังพูดถึง อาจไม่ได้หมายถึงการขายผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่รวมถึงการสร้างสังคมที่อ่อนโยนต่อกันในความหลากหลายที่แตกต่าง ชวนให้คนที่อยากอยู่ในสังคมที่โอบอ้อม มาอยู่ที่เราก็ได้
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
อย่างไรก็ตามวงเสวนามองว่า เรื่องราวการสร้างสังคมที่อ่อนโยนยังขาดการเผยแพร่ให้ผู้คนได้รับรู้ในวงกว้าง หากตรงนี้ถูกสร้างเป็นสตอรีไลน์ (Storyline) ให้คนทั่วโลกได้รู้จักและรับรู้ถึงความอบอุ่นทางวัฒนธรรมที่โอบรับทุกความหลาก จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อีกทางหนึ่งที่ขายได้ของชุมชน