พร้อมเน้นย้ำว่าซอฟต์พาวเวอร์คือยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญที่สุดของรัฐ ซึ่งไม่ใช่การมาหาคำนิยาม หรือไม่ใช่เป้าหมายทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ทุกคนต้องได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ และต้องไม่มีใครถูกทิ้ง การฝึกฝนทักษะ ฝีมือระดับสูง จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะระดับสูงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือมีคน 20 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์นี้
- อ่าน ประกาศปฏิญญา 5 ประการ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก
- อ่าน ครั้งแรก!! เปิดพื้นที่ เชื่อมชุมชน จากภูเขา-ทะเล กับตัวแทน 11 อุตสาหกรรม
โดยตัวแทนจากทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้ขึ้นเวทีประกาศแผนของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการกรอบทิศทางการทำงาน วิธีการที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนที่สุดตั้งแต่รัฐบาลประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มตั้งแต่
ส่งเสริมงานเขียน-อีเวนต์ สลัดภาพคนไทยอ่านหนังสือน้อยสุดในอาเซียน
จรัญ หอมเทียนทอง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ เปิดเผยแผนที่จะดำเนินงานต่อจากนี้ คือ “โครงการอบรมนักเขียน” ซึ่งคอร์สแรกได้ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะทำต่อเนื่องไปอีก
หากใครได้มาเดินงาน THACCA SPLASH จะเห็นว่าหนังสือที่เรานำมาโชว์ คือหนังสือที่ได้รับการแปลทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมานักเขียนเราทำกันเอง แต่จากนี้ไปถ้า “โครงการแปลหนังสือ” ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ผ่าน และได้รับงบประมาณปี 68 เข้ามาช่วย วรรณกรรมไทยจะได้รับการแปลมากขึ้น
อีกทั้ง “งานสัปดาห์หนังสือ” ที่กำลังจะมีขึ้นในตุลาคมนี้ เราจะได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยอย่างไรก็ตามถ้าทั้งหมดนี้สำเร็จ เราจะหลุดพ้นจากกับดักคนอ่านหนังสือน้อยที่สุดในอาเซียน
อัดฉีดงบ-คน ให้หนังไทยโกอินเตอร์
หม่อนราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และ แอนิเมชัน เปิดเผยแผนการดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ด้วยว่า ทุกกระบวนการและทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของอุตสาหกรรม จะต้องได้รับงบประมาณสนับสนุน ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร สารคดี และแอนิเมชัน ต้องได้รับอย่างน้อย 10-20% และอุตสาหกรรมซีรีส์ ต้องได้รับอย่างน้อย 5-10%
นอกจากนี้ ยังควรมีการสนับสนุนให้ภาพยนตร์ไทยได้ไปเทศกาลภาพยนตร์ทั้งหมด เช่น รัฐสนับสนุนค่าเดินทางและค่าที่พัก ซึ่งวันที่ 12 ก.ค. 67 จะมีการฉายภาพยนตร์ไทยในนิวยอกร์ก และ “หลานม่า” เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะเข้าไปฉายและถูกส่งประกวดด้วย รวมถึงรายการต่อไปที่ต้องสนับสนุนคือ “สุพรรณหงส์” และ “ซีรีส์วาย” ขณะเดียวกันก็ควรแก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์ คือต้องหยุดแบน และต้องมีสภาภาพยนตร์เกิดขึ้นด้วย
ส่วนหลักสูตร OFOS คาดว่าอีก 2 เดือนผู้ที่สนใจจะได้เรียนและได้มีพื้นที่ได้ลองทำผลงานของตัวเองออกมา โชว์ศักยภาพให้เห็นได้และเรื่องสำคัญที่จะต้องทำอีกอย่าง คือการลดหย่อนภาษีให้เอกชน เพื่อให้เอกชนมีทุนมาสนับสนุนในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชันตามมา
สร้างเชฟ-ดันสมุนไพรไทย พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร
ชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เปิดเผยถึงแผนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารที่จะเริ่มทำเลยว่าสิ่งที่เราพร้อมที่จะทำเลยคือ “โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย” และ “โครงการร้านอาหารเชฟชุมชน 100 ร้าน” ตั้งเป้าระยะแรกปีนี้พัฒนาเชฟ 6,500 คน และปีหน้าเพิ่มเป็น 15,000 คน ซึ่งในงาน THACCA SPLASH ตลอด 3 วัน มีคนสมัครไปแล้วราว 2,000 – 3,000 คน
นอกจากนี้ ในปีหน้าจำเป็นที่ประเทศไทยจะปลูกสมุนไพร พัฒนาให้เป็นยา และใช้เป็นวัตถุดิบอาหารพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยต่อไป
“อาหารไทยเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ขอให้ท่านมอง แล้วเห็นว่าจะทำอย่างไรให้มีประโยชน์ต่อทั้งตัวท่าน ชุมชน และสังคม”
ผลักดันนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก
ดวงฤทธิ์ บุนนาค ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ เปิดเผยถึงแผนซอฟต์พาวเวอร์การออกแบบว่าหลังจากนี้จะเริ่ม “โครงการฟร้อนท์” โปรโมตนักออกแบบไทย 100 คน ปรากฏสู่สายตาคนทั่วโลก โดยจะคัดเลือกคนที่จะมาทำหนังสือและเผยแพร่ผลงานฟร้อนท์ออกไปทั่วโลก ซึ่งภายใน 3-4 เดือน หนังสือจะออกมาเป็นรูปธรรม และภายในต้นปีหน้าจะเริ่มเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ออกไปในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก พร้อมจัดงานเปิดตัวหนังสือในเมืองเหล่านั้น เช่น โตเกียว ลอนดอน ซึ่งระหว่างการเดินทาง จะพานักออกแบบไทยไปพบชุมชนนักออกแบบของแต่ละเมืองใหญ่ ๆ อีกด้วย เพราะฉะนั้นนักออกแบบไทยจะเป็นที่รู้จักทั่วโลกแน่นอน ไม่เพียงเท่านั้น ในปีหน้าจะมีการทำโครงการฟร้อนท์ต่อไปอีก แต่จะคัดเลือกเพิ่มเป็น 200 คน เพื่อโปรโมตต่อไปในทุก ๆ ปี
นอกจากนี้ ภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ โครงการที่รองบประมาณปี 68 จะ “มีโครงการฟอนต์” เปิดให้นักออกแบบตัวหนังสือ 10 คน มาออกแบบฟอนต์เอกลักษณ์ของไทย เพราะหลัง ๆ เราเริ่มพูดถึง CI กันมาขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในอนาคต
ต่อจากนี้จะเปลี่ยน “การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา” ให้ทำได้ง่าย และลดขั้นตอนให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ พร้อมผลักดัน “ดีไซน์แท็กซ์” ให้สามารถเอาไปหักภาษีได้ อย่างไรก็ตามการทำแบบนี้ไม่ได้ตั้งใจจะกีดกันชาวต่างชาติ แต่จะทำให้คนไทยมีอินเซนทีฟ ซึ่งจะเป็นผลดีกับทุก ๆ ฝ่าย
“การท่องเที่ยว” หวังเป็นยานพาหนะขับเคลื่อน 11 อุตสาหกรรม
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว เปิดเผยถึงแผนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์การท่องเที่ยวต่อจากนี้ว่า โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทำยังไงให้นักท่องเที่ยวมาแล้ว มาช่วยบูรณาการ ช่วยฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวสร้างสรรค์ แล้วกระจายรายได้สู่เมืองรองอื่น ๆ โดยไม่กระจุกตัว เพราะที่ผ่านมาคือนักท่องเที่ยว 80% กระจุกตัวอยู่แค่ 8 จังหวัดเท่านั้น
“เราจึงตั้งใจจะนำเสนอการท่องเที่ยวแบบใหม่ เพื่อให้พวกเขาได้มาสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ดังนั้นคนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวได้ ลบภาพจำที่ว่าต้องเป็นนายทุนใหญ่เท่านั้นที่จะทำได้ เพราะเพียงแค่เราทำโฮมสเตย์ของเราให้ถูกกฎหมาย มีมาตรฐาน ทุกคนก็สามารถหารายได้ได้”
ในบางคนที่อาจไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร หลักสูตร OFOS ของการท่องเที่ยว จะมีหลักสูตรพัฒนาเพื่อให้เราเป็นผู้ประกอบการได้ เป็นเจ้าบ้านที่ดี และบริหารจัดการธุรกิจเป็น นอกจากนี้จะมีการจัดทำระบบแทรคกิ้งนักท่องเที่ยว เพื่อเอาไว้เก็บสถิติว่าเขาไปต่อที่ไหนบ้าง เพื่อวางแผนปรับปรุงการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป และสามารถนำเอาไปเชิญชวนนักลงทุน มาลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ได้อีก
“เราอยากให้เขามองว่า เราเป็นยานพาหนะที่จะพา 11 อุตสาหกรรมไปสู่ตลาดโลก แล้วอยากจะเชิญชวนคนอื่น เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สร้างสรรค์ ซึ่งจะมีโครงการ Be My Guest ให้ทุกอุตสาหกรรมเชิญชวนบุคคลในฝัน เดินมาท่องเที่ยวไทย โฆษณาแหล่งท่องเที่ยวของเรา”
ยกเมืองไทยโชคดีมี “ลิซ่า” หวังสร้าง 10 ศิลปินไทยดังไกลทั่วโลก
วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี เปิดเผยแผนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ดนตรีด้วยว่า เป็นเรื่องที่โชคดีที่เรามีศิลปินไทยที่ดังอย่าง “ลิซ่า” แต่น่าเสียดายเธอไม่ได้มาจากประเทศไทย ยิ่งตอกย้ำว่าเราช้ามาก
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเห็นศิลปินจากเกาหลีนั่งกินข้าวอยู่ในเมืองไทย แต่ในสมัยนั้นแทบไม่มีคนสนใจเลย แต่มาตอนนี้เขาดังมาก นั่นหมายความว่าเราช้ากว่าเขาไปแล้ว แต่ถึงเราจะช้า แต่มาแล้ววันนี้ สิ่งที่เราจะทำต่อจากนี้คือการคัดเพชร ซึ่ง “ลิซ่า” ตอกย้ำให้เห็นว่าคนไทยเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เพียงแต่เราก็ควรมาพัฒนาต่อยอดสร้าง “10 ลิซ่า” ให้ได้
โดยเราจะ “มีโครงการ Talent everywhere” ที่จะให้พื้นฐานของการเล่นดนตรี และดำเนินการแก้ปัญหาที่ทำให้สายพานของดนตรีสะดุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย ภาษี หรือเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา
เพิ่มเวทีแข่งขันอีสปอร์ต-จัดอีเวนต์เกมให้ไทยเป็นเจ้าภาพใหญ่
สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม เปิดเผยแผนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์เกมต่อว่า อุตสาหกรรมเกมที่ผ่านมาเติบโตมาแบบออร์แกนิค มีคนสร้างเกมเก่ง ๆ มีนักกีฬาอีสปอร์ตที่คว้าแชมป์ระดับนานาชาติอยู่มากมาย สะท้อนให้เห็นว่าไทยเรามีศักยภาพพร้อมมาก แต่ขาดการสนับสนุน
แต่ ณ วันนี้เมื่อรัฐสนับสนุนแล้ว เราเชื่อว่าจะมีงบประมาณให้ผู้พัฒนาเกมได้ทำเกมมากขึ้น และเมื่อมีจำนวนเกมมาก รายได้ก็จะตกกลับมาอยู่ในไทย
ขณะที่ ด้านอีสปอร์ต เราอยากจัดให้มีการแข่งขันในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีเวทีไม่เพียงแต่ช่วยลับคมพวกเขา แต่ยังเปิดโอกาสให้มีสปอนเซอร์เขามาสนับสนุนเหมือนกีฬาชนิดอื่น ๆ
นอกจากนี้จะต้องตั้งเป้าให้เมืองไทย “จัดงานอีสปอร์ต Southeast Asia” ให้สำเร็จ และเชื่อว่า “เกม” จะสาสามารถนำมาทำร่วมกันกับอุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น การท่องเที่ยว เฟสติวัล
สื่อสารเรื่องราวเฟสติวัลดึงดูด 40 ล้านคนทั่วโลก
ชฏาทิพย์ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล เปิดเผยแผนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์เฟสติวัลอีกว่า ทุกวันนี้ไทยเรามีเฟสติวัลเป็นหมื่นเทศกาลอยู่แล้ว แต่ยังขาดแผนการทำให้ประเพณีไทยสร้างมูลค่าได้ โจทย์ใหญ่ต่อจากนี้คือจะต้องทำอย่างไรให้ประเพณีไทยของเราเด่นดัง ดึงดูดให้คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมเยือน ทุก ๆ เทศกาล จึงต้องมีเรื่องราวเพื่อสื่อสารไปทั่วโลก ดังเช่นการทำ “สงกรานต์ 21 วัน” ที่ครั้งล่าสุดนี้เราได้ทำการสื่อสารให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกไปเล่นสงกรานต์ได้หลากหลายจังหวัด ยาวนานถึง 3 สัปดาห์ด้วย
อย่างไรก็ตามนอกจากการสื่อสารเรื่องราวแต่ละเฟสติวัล เราจะคัดเลือกงานเทศกาลจากทั้ง 4 ภาค นำเสนอเป็น “ซิกเนเจอร์ไทยแลนด์” และเรากำลังจะจัด “Festival City” เพื่อต่อยอดให้ผู้ทำอุตสาหกรรมเฟสติวัลต้องมีรายได้ทั้ง 365 วัน ควบคู่ไปกับการจัดทำหลักสูตรพัฒนาคนให้เป็นออแกไนซ์ที่ดี เป็น KOL ที่สามารถเล่าเรื่องราวบอกกล่าวไปทั่วโลกได้
“เราหวังว่าคนไทยทั่วทั้ง 77 จังหวัดจะมีศักยภาพ จัดงานออกมาได้ดีที่สุด และสร้างรายได้ให้กับเข้าได้ เป็นความหวังว่าต่อจากนี้ไทยจะติด 1 ใน 10 เฟสติวัลโลก และปีหน้าหวังว่าจะเป็น Festival Year มีนักท่องเที่ยวมาไทย 40 ล้านคนให้ได้”
5 แผนดันซอฟต์พาวเวอร์ศิลปะ ยกระดับอุตสาหกรรมสู่สายตาโลก
เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ กล่าวถึงแผนการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ศิลปะว่า งานศิลปะของไทยเรามีรากฐานที่ยาวนาน แต่ว่าสาขาศิลปะเราถูกลืม ดังนั้นสิ่งที่จะทำต่อจากนี้คือ
1.) โครงการ Thailand Art Move ระบบออนไลน์ที่รวบรวม Stakeholder ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อจะเป็นหน้าต่างบานใหญ่ให้ศิลปะไทยไปต่างประเทศ และพื้นที่รวบรวมอีเวนต์งานศิลปะของไทย ซึ่งจะปรากฏภาพให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเปิดเป็นแผนที่ให้นักท่องเที่ยวเดินไปชมได้ ซึ่งโครงการนี้น่าจะเสร็จไม่เกิน ก.พ. 68
2.) จัดแสดงศิลปะ ในหอศิลป์ย่านรัชดา รวบรวมผลงานศิลปะที่มากมายชนิดที่เรียกว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่หอศิลป์ไทยเคยมีมา โดยมีมูลค่าราว 5 พันล้าน เป็นพื้นที่ให้ศิลปินไทยได้มาแสดงความเป็นไทยผ่านหอศิลป์แห่งนี้ และหวังว่าที่นี่จะเป็นห้องรับแขก ไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่ปารีส
3.) การฝึกอบรมพัฒนาคน ตรงนี้อาจใช้เวลานาน เพราะศิลปะต้องปูรากฐาน โดยตั้งใจว่าผู้เรียนจะต้องเรียนด้วยกัน 5 หลักสูตรผ่านระบบ OFOS ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโครงการพัฒนาครูสอนศิลปะ เพื่อให้ครูไทยนำไปพัฒนาหลักสูตรสอนศิลปะในชั้นประถม มัธยม
4.) จัดตั้งสภาศิลปะ เป็น 1 ในเรื่องจำเป็นที่หลายประเทศทำกัน เขาจะมีองค์กรอิสระที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ผ่านลอตเตอรี่ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนเอาไว้บริหารจัดการส่งเสริมให้เกิดความงอกงามทางศิลปะ ส่งเสริมปัญญา สุนทรียภาพ และส่งเสริมความเป็นมนุษย์ของคนในทุกๆ ระดับ
ปักหมุดดันไทยเป็นประเทศแฟชั่น
อัจฉรา อัมพุช ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น กล่าวถึงแผนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นว่า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และหัตถกรรมไทย จะวางแผนไม่เหมือนกัน
อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ปัจจุบันศักยภาพของไทยลดลงไปมาก เพราะถูกจีนและเวียดนามตีไปเยอะ ดังนั้นเราทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว จึงต้องคิดถึงการพัฒนาเพื่อให้การผลิตของเรามีคุณภาพมากขึ้น ไม่ต้องผลิตแบบเน้นปริมาณเหมือนกับพวกเขาแล้ว แต่การพัฒนาเครื่องแต่งกายให้มีคุณภาพ นอกจากจะช่วยให้เครื่องแต่งกายของเราขายออก แรงงานไทยที่มีคุณภาพจะเป็นที่ต้องการกับแบรนด์ต่างชาติอีกด้วย รวมถึงเราควรจะสร้างแบรนด์ของเรา ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสร้างแบรนด์ขึ้นมาให้ติดท็อปเทนให้ได้
บิวตี้ ได้รับความนิยมทั่วโลก ดังนั้นไม่ยากเลยถ้าเราจะทำ “T-Beauty” ไปไกล ดังนั้นต่อจากนี้เราควรจะเน้นเอาส่วนผสมของไทยมาชูโรง ทำเป็นเครื่องสำอาง
ขณะที่หัตถกรรมของไทย ต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นนิวส์ลัคชูรีให้ได้ พร้อมกับส่งเสริมช่างฝีมือเรา ให้เขารู้ภาคภูมิใจที่จะสร้างผลงานออกมา
“พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ตอนนี้ เราคิดถึง 3 กระบวนการ คือ Up-Skill Re-Skill ไปเสริมหลักสูตรให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น Communication ไปติดต่อเซเลบริตี้ ผนึกกำลังอุตสาหกรรมอื่นให้เติบโตไปได้ และสุดท้ายคือทำเทรดแฟร์ เพราะตอนนี้ยังไม่มีงานแฟร์อันไหนติดอันดับโลก โดยอาจทำเป็นแฟชั่นแฟร์ในระดับเอเชีย ที่มีการเชิญ Buyer จริง ๆ ประกาศศักดาว่าเราเป็นประเทศแฟชั่น”
ผลักดัน “มวยไทย” ให้ทุกคนเข้าถึง สร้างกระแส “กางเกงมวย” ของต้องมี
ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา กล่าวถึงแผนการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์กีฬาว่า ขอหยิบยก “มวยไทย” ขึ้นมา เพราะกีฬาชนิดนี้เป็นวัฒนธรรมไทย เป็นมรดกของเรา และเป็นกีฬาชนิดเดียวที่มีชื่อประเทศอยู่ในชื่อกีฬา
ดังนั้นจึงอยากผลักดันให้มวยไทยเข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้มีหลักสูตรสอนมวยไทยในระบบ OFOS และมีหลักสูตรเพื่อการ “สร้างบุคลากรมวย” อาทิ กรรมการตัดสินมวย ครูมวย หรือผู้ผลิตสินค้ามวยส่งออก เช่น กางเกงมวย ได้ไปเรียนรู้ต่อยอดกัน เพื่อสร้างให้มวยไทยเป็นกีฬาที่เหมือนฟุตบอลในต่างประเทศ ที่ใครบินไปดูต่างก็ต้องซื้อเสื้อตามนักฟุตบอลของเขาให้ได้
ดังนั้นจึงต้องผลักดันมวยไทยตรงนี้ให้เป็นกีฬาที่สร้างรายได้ เพิ่มการจ้างงาน และอยากให้ทุกคนจับตามองมวยไทยดังขึ้นเรื่อย ๆ