รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ หลังก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทแล้ว เฉพาะธุรกิจโรงแรมใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” หากแรงงานมีรายได้ที่สูงขึ้น รัฐบาลเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นตาม รวมถึงยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ขั้นตอนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในครั้งนี้ ต้องได้รับมติจากการเจรจาต่อรองร่วมกัน 3 ฝ่าย หรือ คณะกรรมการไตรภาคี ได้แก่ แรงงาน นายจ้าง และรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ ยืนยันว่าคณะกรรมการไตรภาคีจะประชุมร่วมกันวันที่ 14 พ.ค. 2567 ก่อนจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ และทยอยปรับขึ้นจริงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567
ไทยควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่?
นฎา วะสี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) กล่าวกับทีมข่าว Policy Watch ไทยพีบีเอส ว่า นโยบายขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำเหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นคำถามที่ค่อนข้างตอบยาก แต่ต้องถามว่าประเทศไทยมีปัญหาว่าลูกจ้างรายได้ต่ำเกินไปหรือไม่ มีรายได้พอเพียงหรือไม่ ประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติของโอกาส การเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ หรือความเหลื่อมล้ำในมิติของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องพยายามหานโยบายต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหาเหล่านี้
บทเรียนที่ผ่านมา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะช่วยยกระดับรายได้ของลูกจ้างขึ้นมา แต่ดูเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง หรือไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ถ้าคิดว่ารายได้ต่ำจริง ก็คงต่ำเพราะผลิตภาพ
ดังนั้นการแก้ปัญหาทักษะของลูกจ้างไม่ดี ต้องแก้ตั้งแต่ต้นเรื่อง คือ ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาคุณภาพของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพราะหากเด็กมีทักษะไม่ดี เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ไม่ดี โอกาสได้เงินเดือนสูงก็จะไม่มาก และเมื่อมีทักษะแรงงานไม่ดี การดึงดูดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน เพื่อให้มีงานที่มีมูลค่าสูง มีนวัตกรรม และช่วยเพิ่มผลิตภาพในตลาดแรงงานไทย ก็จะค่อนข้างยาก
มันก็เหมือนเป็นปัญหาไก่กับไข่อยู่ระดับหนึ่ง ว่าทำไมเราไม่มีงานที่จ่ายเงินเดือนสูง ก็เพราะคนเราไม่ดี แต่เพราะคนเราไม่ดี ก็เหมือนไม่ดึงดูดให้มีงานที่มีมูลค่าสูง มาจ่ายเงินเดือนสูงได้ คิดว่าตรงนี้อาจจะต้องมีการมองภาพระยะยาว แก้ปัญหาระยะยาวไปด้วย เพราะเหมือนทุนมนุษย์กว่าจะพัฒนาได้ เด็กกว่าจะเข้าตลาดแรงงาน ก็ใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าจะเห็นผล
อาจต้องมีนโยบายอื่นเข้ามาสนับสนุนการแข่งขัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในแง่ต่าง ๆ หรือลดการกีดกันโอกาสในตลาดแรงงาน ลดการใช้เส้นสาย ลดการคอร์รัปชัน และเมื่อดูตัวเลขในตลาดแรงงานไทยอีกมุมหนึ่ง แม้จะมีแรงงานที่มีการศึกษาสูงเข้ามาในระบบมากขึ้น แต่แรงงานไทยตั้งแต่อายุ 35-40 ปี ขึ้นไป ค่อนข้างออกนอกระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ต่างประเทศแรงงานในระบบจะออกกันตอนเกษียณ ซึ่งสิ่งที่ตลาดแรงงานไทยจะช่วยกันได้ คือ ลดเรื่องการกีดกันทางอายุ ทางเพศ และประเมินกันด้วยทักษะให้เป็นสำคัญ ก็จะเป็นโอกาสให้แรงงานไทยทุกคนกลับเข้าตลาดแรงงานมากขึ้น
ค่าแรงกระทบตลาดแรงงานหลายมุม
ผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยตามหลักการควรจะสะท้อนผลิตภาพของลูกจ้าง (ปรับค่าแรงขั้นต่ำเหมาะสมหรือไม่) ในบางตลาดนายจ้างมีอำนาจผูกขาด มีการกดค่าแรงให้ต่ำเกินกว่าผลิตภาพของลูกจ้าง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม
แต่หากลูกจ้างมีผลิตภาพต่ำ และค่าแรงปัจจุบันได้สะท้อนผลิตภาพที่ต่ำนั้นแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวจึงอาจไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เป็นแก้ที่ปลายเหตุ แม้ช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้ที่เพียงพอมากขึ้น แต่ก็จะส่งผลกระทบไปที่ธุรกิจอื่น ๆ
บทเรียนในหลายประเทศ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพบว่าไม่ได้ทำให้การจ้างงานลดลง แต่ก็มีธุรกิจขนาดเล็กบางแห่งที่ปิดตัวลง และแรงงานก็โยกย้ายจากธุรกิจขนาดเล็กไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ สะท้อนว่าการจ้างงานจะแตกต่างการไปตามภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนผลกระทบในมิติอื่น ๆ นอกจากเรื่องการจ้างงาน ยังมีเรื่องของนายจ้างที่เชื่อว่าเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ขาดทุน และบางธุรกิจที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานได้ ก็จะใช้เทคโนโลยีนั้นมากขึ้น
ในเมืองไทย ช่วงที่ปรับค่าแรงขึ้นเป็น 300 บาท เหมือนกับว่าถึงค่าแรงปรับขึ้น แต่สวัสดิการอื่น ๆ หรือค่าแรงที่ไม่ใช่ค่าแรงหลักดูจะน้อยลง และสภาพแวดล้อมในการทำงานค่อนข้างแย่ลง เห็นตัวเลขว่ามีคนประสบอุบัติเหตุจากการทำงานมากขึ้น คิดว่านายจ้างจะไปปรับตัวในมิติอื่นแทนอยู่ด้วยเหมือนกัน หรืออีกมุมหนึ่งจากข้อมูลประกันสังคม สมมติว่าเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 2% แต่เราบังคับให้เพิ่ม 20% ทีเดียวเลย การปรับตัวของนายจ้าง คือ ฟรีซเงินเดือนนั้น หรือ ค่อยเพิ่มทีละน้อย ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมองเรื่องของผลกระทบของตลาดแรงงาน ไม่ใช่ว่าเห็นผลทันที หรือเห็นแค่ค่าจ้างขึ้น มันก็คือมีมิติรอบ ๆ ด้าน ที่เราต้องมองไปด้วย
นอกจากนี้ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือ ประเทศไทย ยังมีเรื่องการเข้าและออกของลูกจ้าง ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งผลศึกษายังไม่ชัดเจนนัก ในต่างประเทศบางทีค่าจ้างสูงขึ้น ลูกจ้างก็เข้าในทำงานในระบบมากขึ้น ทำให้ขยายตัวมากขึ้น แต่บางครั้งก็พบว่าเมื่อค่าจ้างในระบบมากขึ้น บริษัทจะไปจ้างบุคคลภายนอกแทน หรือว่าเพิ่มลูกจ้างในระบบโดยที่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้สำหรับไทยเหมือนกัน
ลดภาษีซื้อใจเอกชน อาจซ้ำเติมคนจน
ปรับขึ้นค่าแรงจำนวนมากในครั้งเดียว อาจไม่สามารถทำได้ เพราะในคณะกรรมการค่าจ้าง จะมีฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ถ้านายจ้างได้รับผลกระทบมากก็น่าจะมีการพูดคุยถกเถียงกัน
ในช่วงที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วยนายจ้างหลายด้าน เช่น ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดเงินสมทบของกองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง มีการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ และสัญญาว่าจะไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งก็ยังไม่มีใครประเมินว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้อย่างไร
ผลกระทบทางอ้อมเช่น ภาษี ซึ่งเป็นเครื่องมือการกระจายรายได้ตัวหนึ่งที่จะไปช่วยเหลือคนจน แต่ถ้าเกิดเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำ แล้วต้องไปลดภาษี จะทำให้รายได้จากภาษีลดลง ซึ่งก็ยังไม่มีใครศึกษาว่ารายได้จากภาษีที่ลดลงนั้น หากไม่สามารถนำกลับไปให้คนจนได้จะเป็นอย่างไร
ลูกจ้างในระบบ 4 ล้านคน ค่าแรงต่ำกว่า 400 บาท
จากข้อมูลประกันสังคม พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงชั้นต่ำ 400 บาท เฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป มีผลต่อลูกจ้างไม่เกิน 20,000 คน และหากตั้งสมมติฐานให้การปรับขึ้นค่าแรงครอบคลุมโรงแรมขนาดเล็กด้วย ก็จะมีผลกับลูกจ้าง 40,000 คน แต่ถ้าขยายนโยบายนี้ออกไปครอบคลุมทั้งประเทศไทย จะมีผลกับลูกจ้าง 4 ล้านคน หรือ 35% จากทั้งหมดในระบบ 11.9 ล้านคน
ปัจจุบันลูกจ้าง 4 ล้านคนนี้ แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับเงินเดือน ระหว่าง 300–400 บาทต่อวัน (7,800–10,400 บาทต่อเดือน) มีสัดส่วน 25% และกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน มีประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่ทำงานน้อยกว่า 26 วันต่อเดือน หรือทำงานไม่เต็มเวลา (part-time) ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานน้อยกว่า 26 วัน หรือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของนายจ้าง
ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 400 บาทต่อวัน กระจายอยู่ในทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นกลุ่มอายุ 18–24 ปี ซึ่งมีคนที่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 10,400 บาท สัดส่วนมากที่สุดถึง 54% เนื่องจากส่วนมากอายุน้อย และมีประสบการณ์น้อย จึงมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าลูกจ้างที่อายุมาก และกลุ่มที่เข้าตลาดแรงงานในช่วงอายุ 18–20 ปี มักเป็นกลุ่มที่จบการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกจ้างกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำอยู่มาก
ธุรกิจภาคการผลิตรับผลกระทบมากสุด
ธนิสา ทวิชศรี นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิบายถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ว่า การกระจายตัวของผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะแตกต่างกันไปตามภาคธุรกิจ ปัจจุบันมีบางภาคธุรกิจที่มีลูกจ้างได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 400 บาทต่อวัน จำนวนค่อนข้างมาก เช่น ภาคการผลิต และภาคการบริการบางส่วน
ในแง่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มภาคการผลิต ทั้งอาหาร สิ่งทอ ยาง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนตร์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน ส่วนธุรกิจที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน ผู้ประกอบการเกิน 60% ไม่ได้มีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน (10,400 บาทต่อเดือน)
ด้านต้นทุนและบริการจากการปรับขึ้นค่าแรง โดยรวมพบว่าไม่ได้มีผลกระทบมาก แต่ตามหลักการธุรกิจจะสามารถส่งผ่านต้นทุนไปเป็นค่าสินค้าและบริการที่สูงขึ้นได้มากหรือน้อย จะขึ้นกับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของสินค้าเหล่านั้น หรือ ขึ้นอยู่กับว่าประเภทสินค้านั้นอยู่ในธุรกิจที่แบบไหน มีคู่แข่งเยอะหรือไม่ เช่น ถ้าเป็นสินค้าที่สามารถนำเข้าได้ ผู้ขายก็อาจไม่กล้าขึ้นราคาสินค้า เพราะลูกค้าสามารถเปลี่ยนไปซื้อจากต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่าได้
ขณะเดียวกันหากเป็นสินค้าหรือบริการที่หาได้ยากจากการนำเข้า หรือมีร้านเดียวในหมู่บ้าน เช่น ร้านตัดผม เมื่อค่าจ้างลูกจ้างมากขึ้น ร้านก็อาจจะมีโอกาสขึ้นราคาค่าบริการเยอะขึ้น เพราะคนในหมู่บ้านยังมีแนวโน้ที่จะตัดผมดังกล่าวต่อไป
ปรับค่าแรงขั้นต่ำตามหลักเศรษฐศาตร์ จะเกิดอะไรขึ้น?