ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะทำนายผลของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำต่อการจ้างงานและการปรับตัวของตลาดต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของตลาดแรงงาน ธุรกิจ กระบวนการผลิต และประเภทของสินค้าและบริการ
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายที่รัฐบาลทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเหตุผลที่รัฐนำมาใช้เพื่อแทรกแซงราคาตลาด ได้แก่
- เพิ่มประสิทธิภาพในตลาดแรงงาน เพราะเชื่อว่านายจ้างมีอำนาจตลาดและกดค่าแรงให้ต่ำเกินไป
- เป็นเครื่องมือการกระจายรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
คำทำนายของแบบจำลองในทางเศรษฐศาสตร์นั้นต่างกันไปตามลักษณะต่าง ๆ ได้แก่
- ลักษณะของตลาดแรงงาน เช่น ก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างมีอำนาจตลาดมากน้อยเพียงใด ลูกจ้างมีข้อมูลเรื่องตำแหน่งงานว่างสมบูรณ์แบบหรือไม่
- กระบวนการผลิต เช่น นายจ้างสามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานบางส่วนได้มากน้อยเพียงใด
- ลักษณะของสินค้าและบริการว่าผู้ซื้อต้องอยู่ภายในพื้นที่เท่านั้น หรือสามารถส่งไปขายในระดับประเทศหรือทั่วโลกได้
นอกจากนี้ ในบริบทของประเทศที่กำลังพัฒนา ยังต้องคำนึงถึงบทบาทเศรษฐกิจนอกระบบ และความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย โดยสามารถสรุปออกได้เป็นกรณีหลัก ๆ ดังนี้
กรณีตลาดมีการแข่งขันสูง
หากตลาดมีการแข่งขันสูง ค่าจ้างสะท้อนผลิตภาพอยู่แล้ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะลดการจ้างงาน
แบบจำลองตลาดแรงงานแบบแข่งขันสมบูรณ์ มีข้อสมมติว่า ในตลาดมีนายจ้างและลูกจ้างที่ลักษณะคล้าย ๆ กันจำนวนมาก และตลาดไม่ได้มี friction (อุปสรรค) นั่นคือ ลูกจ้างทราบข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานว่างและสามารถย้ายงานได้อย่างรวดเร็ว นายจ้างเองก็สามารถปลดลูกจ้างออกได้ หากลูกจ้างทำงานไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
ในกรณีนี้ นายจ้างหรือลูกจ้างคนใดคนหนึ่งจึงไม่มีอำนาจมากพอที่จะกำหนดค่าจ้างได้ ค่าจ้างจึงโดนกำหนดด้วยอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน และมีค่าเท่ากับผลิตภาพส่วนเพิ่มของลูกจ้าง (MPL) จำนวนลูกจ้างที่ยินดีจะทำงาน ณ ค่าจ้างนี้ เป็นกลุ่มที่ค่าจ้างดังกล่าวสูงกว่า reservation wage หรือค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงาน ซึ่งมักจะเป็นค่าเสียโอกาสของการทำงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ค่าจ้างคนอื่นมาดูแลลูกหรือผู้สูงอายุ ความสุขจากการได้พักผ่อน
ดังนั้น หากรัฐเข้ามาแทรกแซงตลาด โดยกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่า MPL แม้จะมีลูกจ้างที่อยากทำงานมากขึ้น แต่นายจ้างจะลดการจ้างงาน เพราะได้งานไม่คุ้มค่าแรง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงส่งผลให้ระดับการจ้างงานในตลาดลดลง
กรณีธุรกิจผูกขาด
ธุรกิจที่ผูกขาดการจ้างงานจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าผลิตภาพแรงงาน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลูกจ้างและไม่ลดการจ้างงาน
ธุรกิจบางประเภท ตลาดแรงงานอาจไม่ได้มีการแข่งขันสมบูรณ์นัก นายจ้างจึงมีอำนาจตลาดและเป็นผู้กำหนดค่าจ้าง ซึ่งบางครั้งมีนายจ้างเพียงรายเดียวหรือจำนวนไม่กี่ราย หรือ มีอุปสรรคบางอย่างในตลาดแรงงาน เช่น ลูกจ้างมีต้นทุนในการหางานใหม่และย้ายงาน จึงทำให้นายจ้างมีอำนาจเหนือลูกจ้างในการกำหนดค่าจ้าง ตลาดลักษณะนี้ นายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่า MPL และลูกจ้างส่วนใหญ่ก็ยังไม่ออกจากงาน เพราะไม่ได้มีทางเลือกมากนัก
ในกรณีนี้ หากค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการปรับเพิ่มค่าจ้างให้สูงกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้สูงกว่า MPL นายจ้างยังสามารถจ้างงานต่อไปได้
กรณีลูกจ้างมีข้อมูลไม่สมบูรณ์
ลูกจ้างบางคนอาจจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผลิตภาพส่วนเพิ่ม การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลูกจ้างกลุ่มนี้ได้ โดยบริษัทที่มีผลิตภาพดีและสามารถให้ค่าจ้างสูงขึ้นได้ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีลูกจ้างเพิ่มขึ้น
กรณีที่ตลาดมีนายจ้างและลูกจ้างจำนวนมาก แต่มีอุปสรรค เช่น ลูกจ้างแต่ละคนไม่ได้มีข้อมูลโดยสมบูรณ์ บางคนอาจบังเอิญได้รับข้อเสนอการจ้างงานที่ดีกว่าหรือบ่อยกว่า ขณะที่บางคนได้รับข้อเสนอที่ไม่ดีนัก แม้แต่ลูกจ้างที่มีความสามารถเท่ากัน ก็อาจจะได้รับค่าจ้างไม่เท่ากัน หากลูกจ้างมีงานอยู่แล้ว ลูกจ้างจะรับข้อเสนอเฉพาะงานที่ได้ค่าจ้างมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น และหากว่างงานอยู่ จะรับข้อเสนอที่ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงาน
ซึ่งในแบบจำลองเหล่านี้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงาน นอกจากจะขึ้นกับค่าเสียโอกาสของการทำงานดังที่กล่าวข้างต้น ยังขึ้นกับโอกาสที่จะหางานได้ดีกว่าหากเลือกที่จะรับหรือไม่รับงานดังกล่าว ดังนั้น ภาพการกระจายตัวของค่าจ้างในตลาดและโอกาสที่จะมีข้อเสนองานเข้ามาในช่วงที่ว่างงานและทำงาน จึงมีผลต่อค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงานด้วย
หากไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างในตลาดที่ต่ำที่สุดจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงาน และค่าจ้างสูงสุดจะอยู่ที่ผลิตภาพส่วนเพิ่ม หากมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่ได้สูงกว่าผลิตภาพส่วนเพิ่ม ค่าจ้างที่ต่ำที่สุดในตลาดที่ลูกจ้างยอมรับจะปรับมาอยู่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำแทน บริษัทที่อยากได้ลูกจ้างเพิ่มก็ต้องเสนอค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้บริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการรักษาลูกจ้างต้องขึ้นเงินเดือนตาม ๆ กันไป
ในกรณีนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่ไม่สูงเกินผลิตภาพสามารถยกระดับค่าจ้างให้สูงขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งผลลบต่อระดับการจ้างงานโดยรวม แต่จะช่วยปันกำไรจากนายจ้างมาสู่ลูกจ้างมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ระดับการจ้างงานโดยรวมในระบบเศรษฐกิจจะไม่ลดลง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะทำให้เกิด reallocation effect หรือการเคลื่อนย้ายทรัพยากรและแรงงานไปยังธุรกิจที่มีความสามารถในการผลิตมากกว่า โดยหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าผลิตภาพของบางบริษัท บริษัทที่มีผลิตภาพไม่ดีก็ต้องลดการจ้างงาน หรือหากมีผลิตภาพ (productivity) ที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงาน ของลูกจ้างที่สูงขึ้น บริษัทนี้ก็ต้องออกจากตลาดไป ส่วนบริษัทที่มีผลิตภาพดีและสามารถเสนอค่าจ้างสูงขึ้นได้ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีลูกจ้างเพิ่มขึ้น
กรณีธุรกิจปรับกระบวนการผลิตหรือส่งผ่านต้นทุนได้
ธุรกิจอาจจะปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีมาแทนแรงงาน หรือส่งผ่านต้นทุนในลักษณะอื่น
เมื่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนของแรงงานบางส่วนเพิ่มขึ้น บางธุรกิจอาจมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตร่วมด้วย เช่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานคน หรือนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากเดิมเคยใช้แรงงานคนผลิตเอง หากคำนวณแล้วมีต้นทุนที่คุ้มกับกำไรมากกว่า หรือนายจ้างอาจจะลดสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการในด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น มาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของสภาพการทำงาน
นอกจากนี้ มีการคาดว่าสินค้าที่เป็นผลิตแล้วซื้อขายเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น (non-tradeable) จะสามารถส่งผ่านต้นทุนผ่านการปรับราคาให้สูงขึ้นได้มากกว่า เช่น ร้านอาหาร บริการตัดผม ซ่อมบ้าน เนื่องจากทุกบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนกัน จึงสามารถขึ้นราคาสินค้าพร้อม ๆ กันโดยไม่สูญเสียการแข่งขัน
ในขณะเดียวกัน สำหรับสินค้าที่สามารถส่งออก (tradeable) ไปขายในระดับประเทศหรือระดับโลก เช่น อาหารสำเร็จรูป หรือบริการออนไลน์ หากบริษัทผลักค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไปสู่ราคาสินค้า ก็จะทำให้สูญเสียการแข่งขันกับบริษัทในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ
กรณีของประเทศกำลังพัฒนา
หากค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินผลิตภาพ เศรษฐกิจนอกระบบจะใหญ่ขึ้น แต่หากค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่สูงเกินผลิตภาพ จะดึงแรงงานมาเข้าระบบ
ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคเศรษฐกิจได้ แต่ก็ขึ้นกับว่าก่อนจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ค่าจ้างในระบบสะท้อนผลิตภาพของลูกจ้างหรือไม่ หากเดิมธุรกิจในระบบจ่ายค่าจ้างใกล้เคียงกับผลิตภาพอยู่แล้ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้การจ้างงานในระบบน้อยลง ทำให้ลูกจ้างย้ายไปทำงานนอกระบบมากขึ้น หรือธุรกิจอาจจะเลือกใช้ลูกจ้างภายนอก (outsource) บางส่วน เพื่อลดต้นทุนด้านสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
ในทางกลับกัน หากเดิมนายจ้างมีอำนาจตลาดและจ่ายค่าแรงต่ำกว่าผลิตภาพ และหากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นไม่ได้สูงกว่าผลิตภาพ แต่สูงกว่าค่าจ้างของงานนอกระบบ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ค่าจ้างในระบบสูงขึ้น และดึงดูดให้แรงงานย้ายจากนอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ (big push) ในบางกรณี ส่งให้เกิดการเป็นอุตสาหกรรม (industrialization) เพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และอุปสงค์ท้องถิ่นที่สูงขึ้นตามรายได้ลูกจ้างที่มากขึ้น แบบจำลอง Big Push ของ Murphy et al. (1989) พูดถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เกิดจากปรับการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะยกระดับการผลิต ทำให้มีผลิตภาพต่อลูกจ้างหนึ่งคนสูงขึ้นแต่ก็มีต้นทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้สูง บางภาคธุรกิจ เช่น ภาคการผลิตมีศักยภาพในการปรับเป็นอุตสาหกรรมมากกว่าภาคบริการ
Magruder (2013) ได้ต่อยอดแบบจำลอง โดยมองว่าค่าแรงที่แพงขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจเป็นแรงผลักดัน ให้ธุรกิจยอมลงทุนปรับกระบวนการผลิตเป็นอุตสาหกรรม ส่วนอีกแรงส่งของ Big Push มาจากด้านอุปสงค์ที่ลูกจ้างก็เป็นผู้บริโภคของพื้นที่นั้น ๆ การที่ลูกจ้างในระบบได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ก็จะมีอุปสงค์ของสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจภาค non-tradeable ซึ่งเป็นสินค้าหรือบริการที่ต้องผลิตและขายในพื้นที่ หรือมีค่าขนส่งสูงมาก ที่ได้รับอานิสงค์จากรายได้ของลูกจ้างที่สูงขึ้นโดยตรง แต่ภาค tradeable ซึ่งยังต้องแข่งกับธุรกิจเดียวกันในต่างพื้นที่หรือต่างประเทศยังอาจไม่ค่อยโต
นอกจากผลของการจ้างงาน ยังมีการคาดการณ์ถึง spillover effect คือ ผลที่กระจายไปยังกลุ่มแรงงานที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งกรณี spillover ข้ามบริษัท ว่าเมื่อบริษัทหนึ่งปรับค่าจ้าง อีกบริษัทก็ต้องปรับค่าจ้างให้สูงกว่า หรือกรณีภายในบริษัทเดียวกัน ว่าเมื่อบริษัทปรับค่าจ้างของกลุ่มทักษะต่ำ ซึ่งเดิมอาจจะได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นมาเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อาจจะต้องปรับค่าจ้างของกลุ่มอื่น ๆ ในบริษัทตามด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงผลิตภาพที่ต่างกันของลูกจ้างในบริษัท
ผลการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในไทย
ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเมื่อปี 1973 (พ.ศ. 2516) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และต่อมาได้ขยายความครอบคลุมไปทั่วประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดนั้นมีอัตราต่างกันไป
กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำบังคับใช้กับนายจ้าง ลูกจ้างทุกคน แต่มีข้อยกเว้น คืออไม่มีผลบังคับใช้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรไม่แสวงหากำไร แม่บ้าน ลูกจ้างที่รับจ้างงานไปทำที่บ้าน (เช่น ฟรีแลนซ์) งานบรรทุกขนถ่ายสินค้าเดินเรือทะเล หรืองานเกษตรกรรม
ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในไทยจากงานวิจัยสามารถสรุปได้เป็น 3 ข้อค้นพบ ดังนี้
1. ช่วงที่ค่าจ้างขั้นต่ำค่อย ๆ ปรับขึ้นจนถึงปี 2011 ผลต่อการจ้างงานโดยรวมลดลงเล็กน้อย
Lathapipat & Poggi (2016 ) ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (LFS) ในปี 2002–2010 พบว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลทำให้การจ้างงานโดยรวมลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะแรงงานอายุน้อยทักษะต่ำ Samart & Kilenthong (2024) ใช้ข้อมูล LFS ในส่วนที่สามารถติดตามแรงงานคนเดิมได้สองปีติดกัน พบว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้คนที่มีงานอยู่แล้วมีโอกาสตกงานในปีถัดไปมากขึ้น
สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างในระบบและนอกระบบ Del Carpio et al. (2019) พบว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ทำให้แรงงานนอกระบบใหญ่ขึ้น ขณะที่ Lathapipat & Poggi (2016) พบว่าการจ้างงานภาคเกษตรลดลงเล็กน้อยในจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่า ทั้งนี้ ข้อมูล LFS ไม่ได้มีตัวแปรที่บอกว่าแรงงานเป็นแรงงานนอกระบบ หรือในระบบชัดเจนนักในช่วงก่อนปี 2016 นักวิจัยจึงมักจะต้องนิยามจากลักษณะอาชีพและภาคธุรกิจ เช่น อาชีพอิสระหรือทำงานในภาคเกษตร
2. ในช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ ผลต่อการจ้างงานโดยรวมไม่ชัดเจน แต่การจ้างงานแรงงานทักษะต่ำในระบบลดลง และนายจ้างมีการปรับตัวในด้านอื่น ๆ
หากไม่ได้แยกแรงงานว่าเป็นในระบบหรือนอกระบบ Lathapipat & Poggi (2016) พบว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทำให้การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น Samart & Kilenthong (2024) พบว่าลูกจ้างต่างสัญชาติที่เดิมทำงานในระบบมีโอกาสตกงานมากขึ้น แต่ลูกจ้างสัญชาติไทยมีโอกาสตกงานในปีถัดมาน้อยลง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเมื่อนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น จึงเลือกจ้างลูกจ้างสัญชาติไทยมากกว่า เพราะอาจจะมีทักษะมากกว่า อย่างน้อยในการสื่อสารภาษาไทย
ขณะที่ Samutpradit (2023) วิเคราะห์ผลของค่าจ้างขั้นต่ำต่อกลุ่มลูกจ้างที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา พบว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ส่งให้การจ้างงานในระบบสำหรับลูกจ้างกลุ่มนี้น้อยลง มีการทำงานนอกระบบมากขึ้น โดยมากเป็นการทำงานให้ครอบครัวแบบไม่ได้รับค่าจ้าง หากดูรายภาคธุรกิจ พบว่ามีการทำให้การจ้างงานแรงงานทักษะต่ำในระบบของภาคการผลิตลดลง
นอกจากนี้ ทั้ง Samutpradit (2023) และ Samart & Kilenthong (2024) ยังพบว่า นายจ้างมีการปรับตัวผ่านช่องทางอื่น ๆ เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย เช่น มีลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงานมากขึ้น ได้พักน้อยลง และสภาพที่ทำงานขาดความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงปรับลดค่าชดเชยอื่น ๆ ของลูกจ้างลง เช่น อาหารกลางวัน และรายได้พิเศษต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ค่าแรงหลัก
จากข้อมูลประกันสังคมในช่วงปี 2009–2015 โดยดูเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่อายุ 25–50 ปี พบผลที่คล้ายกันว่า การจ้างงานไม่ได้ลดลง แต่แรงงานมีการเคลื่อนย้ายจากบริษัทเล็กไปยังบริษัทใหญ่ และแม้ลูกจ้างบางกลุ่มจะได้รับค่าจ้างเริ่มต้นเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย แต่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตามอายุงานในอัตราที่ช้าลง เช่น เดิมค่าจ้างที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี อาจจะเพิ่มเพียงร้อยละ 1 นั่นคือ นายจ้าง พยายามหาทางปรับตัวเพื่อทดแทนกับค่าจ้างตอนเริ่มงานที่สูงขึ้นตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ
3. ผลต่อค่าจ้าง หลังมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างของลูกจ้างส่วนมากเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการกระจายไปถึงกลุ่มค่าจ้างปานกลาง แต่ยังมีนายจ้างที่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่บ้าง
ลูกจ้างโดยส่วนมากได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม และยังมี spillover effect ที่กว้างไปถึงกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างที่ 60th percentile หรือมากกว่า อย่างไรก็ตามยังมีการประมาณการว่า น่าจะยังมีกลุ่มนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอยู่บ้าง คิดเป็นประมาณ 6–20%
งานศึกษาในประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดศึกษาผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อการปิดตัวของธุรกิจที่ได้ผลกระทบ ซึ่งจำเป็นต้องแยกผลของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำออกจากปัจจัยอื่น ๆ เพราะธุรกิจขนาดเล็กและอายุน้อย ก็มีโอกาสปิดตัวมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ อยู่แล้ว
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่หลายประเทศเลือกใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ และแก้ปัญหากรณีนายจ้างมีการผูกขาดการจ้างงาน ทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่ต่ำเกินควร ผลจากงานวิจัยต่าง ๆ นั้นพอสรุปได้ว่า
- ไม่สามารถพูดลอย ๆ ได้ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะมีผลต่อการจ้างงานหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์โดยละเอียดว่าตลาดแรงงานนั้น ๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร
- ในงานวิจัยที่พบผลลบต่อการจ้างงาน ลูกจ้างที่มักจะตกงานมักจะเป็นกลุ่มทักษะต่ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเป้าหมายของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่อยากเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้
- ในหลาย ๆ ประเทศ พบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบกับระดับการจ้างงานโดยรวม แต่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากบริษัทขนาดเล็กไปยังบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลิตภาพดีกว่า และธุรกิจขนาดเล็กปิดตัวลง
- สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้น ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่ โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะส่งให้การจ้างงานในระบบน้อยลง ธุรกิจขนาดเล็กปรับตัวออกไปเป็นธุรกิจนอกระบบ รวมถึงนายจ้างยังมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนผ่านช่องทางอื่น เช่น สวัสดิการ หรือความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ดังนั้น การประเมินผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะต้องมีการประเมินในหลาย ๆ มิติ และคำนึงถึงลักษณะของตลาดทั้งฝั่งการจ้างงาน และฝั่งผลผลิต รวมถึงมิติต่าง ๆ ที่นายจ้างอาจจะมีการปรับตัวเพื่อพยายามส่งผ่านต้นทุนไปในรูปแบบอื่น
ที่มา : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ผู้เขียน : ธนิสา ทวิชศรี, ศุภนิจ ปิยะพรมดี, นฎา วะสี
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในธุรกิจโรงแรม 10 จังหวัด
ตำแหน่งงานกว่า 88% กระจุกในกทม.-ปริมณฑล
เกษตรกรไทยติดกับดักรายได้ต่ำ ไร้เสน่ห์ดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่