คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ โดยเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการ คุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2 (ลิงก์ลงทะเบียน) ของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
ใช้กรอบวงเงินงบประมาณตามที่ได้รับการจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67 และได้มีการปรับปรุงกรอบวงเงินงบประมาณของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ทั้ง 6 แห่ง ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) แต่ละแห่งต่อไป
แนวทางโครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2 ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง จากทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง และความท้าทายจากนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังคงเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้ส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อยังมีแนวโน้มปรับด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และรายย่อย
ดังนั้น กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาขยายคุณสมบัติโครงการคุณสู้ เราช่วย ภายใต้ “โครงการคุณสู้เราช่วย ระยะที่ 2” ซึ่งมีหลักการสำคัญเช่นเดียวกับการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ในระยะแรก คือ
- ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้หนี้
- มาตรการเฉพาะกลุ่มที่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้และ
- เป็นมาตรการชั่วคราว ที่มีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (Moral Hazard)
มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์
1. มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย เน้นตัดเงินต้น สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls)
ประเภทสินเชื่อที่เข้าร่วมได้ (วงเงินรวมต่อประเภทสินชื่อต่อ 1 สถาบันการเงิน)
- สินเชื่อบ้าน หรือบ้านแลกเงิน ไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ หรือจำนำทะเบียนรถยนต์ ไม่เกิน 800,000 บาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ หรือจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 50,000 บาท
- สินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งบุคคลและนิติบุคคล ไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไข ตามมาตรการ สามารถพิจารณา เข้ามาตรการรวมหนี้ได้
คุณสมบัติลูกหนี้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) โดยต้องเป็นสินเชื่อสัญญาที่ทำก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67
เดิม
(1) หนี้ที่มีการค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 30 วัน จนถึง 365 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ หรือ
(2) หนี้ที่ไม่มีการค้างชำระ หรือค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
- ที่เคยมีประวัติการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 30 วัน
- ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 รวมถึงภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในปี 67
ขยายเพิ่มใหม่
(1) หนี้ที่มีการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 365 วันเป็นต้นไป นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
(2) หนี้ที่ไม่มีการค้างชำระ หรือค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 30 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ
- ที่เคยมีประวัติการค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65
- ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 รวมถึงภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในปี 67
การช่วยเหลือลูกหนี้ยังคงใช้รูปแบบเดิม คือ ลดภาระผ่อนชำระ (ลูกหนี้สามารถจ่ายได้มากกว่าที่กำหนดไว้ เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็ว)
- ปีที่ 1 จ่าย 50% ของค่างวดเดิม
- ปีที่ 2 จ่าย 70% ของค่างวดเดิม
- ปีที่ 3 จ่าย 90% ของค่างวดเดิม
ดอกเบี้ยของลูกหนี้จะถูกพักไว้ โดยค่างงวดที่จ่ายจะถูกนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขครบ 3 ปี ก็จะยกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ และระหว่างที่เข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคใหม่ได้ในช่วง 12 เดือนแรก ที่เข้าร่วมมาตรการ แต่ไม่รวมถึงการขอสินเชื่อเพื่อนำไปประกอบธุรกิจ และจะมีการรายงานการเข้าร่วมมาตรการในเครดิตบูโร
มาตรการจ่าย ปิด จบ
2. มาตรการจ่าย ปิด จบ เป็นการลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และภาระหนี้ไม่สูง สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls)
คุณสมบัติลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ
เดิม
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 31 ต.ค.67 (เป็นหนี้เสียแล้ว)
(2) ลูกหนี้ต้องมีภาระหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อบัญชี
ขยายเพิ่มใหม่
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 31 ต.ค.67 (เป็นหนี้เสียแล้ว)
(2) ลูกหนี้ต้องมีภาระหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 ไม่เกินเพดานที่กำหนดของแต่ละประเภทสินเชื่อ ดังนี้
- กรณีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) กำหนดภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี
- กรณีสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) กำหนดภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี และมีวงเงินสินเชื่อต่อบัญชีตามที่กำหนดโดยลูกหนี้แต่ละรายสามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี ทั้งนี้ต้องบังคับหลักประกันแล้ว หรือไม่สามารถติดตามทรัพย์ได้
มาตรการจ่าย ตัด ต้น (ใหม่)
3. มาตรการจ่าย ตัด ต้น เป็นมาตรการใหม่ที่เพิ่มเข้าในโครงการคุณสู้เราช่วย เฟส 2 โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมสำหรับหนี้ที่เป็นสถานะหนี้เสีย (NPLs) ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ที่มียอดหนี้ไม่สูงและเป็น NPLs เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น (ลดค่างวดและลดดอกเบี้ย เหมาะกับคนที่ไม่มีกำลังผ่อนในครั้งเดียว)
สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. ธอท. ธสน. และ ธพว.
คุณสมบัติลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ ต้องเป็นหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 90 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ และเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี
ทั้งนี้ ประเภทสินเชื่อต้องไม่รวมถึงประเภทลูกหนี้ตามมาตรการ จ่ายตรง คงทรัพย์ โดยต้องเป็นสัญญาสินเชื่อที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 และสถานะลูกหนี้ข้างต้นใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 (Cut-off Date)
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข มาตรการจ่าย ตัด ต้น
(1) ปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระค่างวดต่อเดือนขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดเงินต้นคงค้างสินเชื่อก่อนเข้าร่วมมาตรการ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่ลูกหนี้ชำระจะนำไปชำระต้นเงินทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 3 ปี
(2) ลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการจะไม่สามารถก่อหนี้อุปโภคบริโภคใหม่ใน 12 เดือนแรก
(3) หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลา 3 ปี สถาบันการเงินจะยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินจะขอชดเชยดอกเบี้ยจากแหล่งเงินทุนภาครัฐร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ยกเว้นให้ลูกหนี้ และสถาบันการเงินจะรับภาระร้อยละ 50
สำหรับเป้าหมายมาตรการ โครงการคุณสู้ เราช่วย เฟส 2 คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมจำนวน 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 310,000 ล้านบาท และเมื่อรวมความช่วยเหลือทั้งในโครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้ว จะสามารถช่วยเหลือ ลูกหนี้ได้ทั้งหมดจำนวน 3.7 ล้านราย หรือ 4.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์และสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด
ลูกหนี้บัตรเครดิตพุ่ง
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า โครงการคุณสู้เราช่วย เฟส 1 ลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ 1.9 ล้านราย มูลค่าหนี้ทั้งหมด 8.9 แสนราย โดยตั้งแต่ 12 ธ.ค. 67 – 30 มิ.ย.68 มีลูกหนี้มาลงทะเบียน 1.4 ล้านราย หรือ 1.9 ล้านบัญชี แต่ลูกหนี้ที่ผ่านเกณฑ์มีเพียง 6.3 แสนราย คิดเป็น 32% ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติ มูลค่าหนี้รวม 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 52% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด
สาเหตุที่ลูกหนี้ลงทะเบียนไม่ผ่านจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ไม่ถึง 30 วัน และกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งหากจะเข้าร่วมก็จะต้องเป็น มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ แต่ลูกหนี้จำนวนมากที่มาลงทะเบียนไม่มีสินเชื่อบ้านและสินเชื้อรถเป็นหลักประกันตามเงื่อนไขของมาตรการ จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำโครงการมาตรการคุณสู้ เราช่วย เฟส 2
ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนไม่ผ่านโครงการฯ เฟส 1 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมใหม่ในโครงการฯ เฟส 2 ได้ ยกเว้นลูกหนี้ที่ลงทะเบียนในเฟส 1 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาในระบบ ธนาคารเจ้าหนี้จะพิจารณาคุณสมบัติของลูกหนี้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะครอบคลุมคุณสมบัติตามที่กำหนดในเฟส 2 ด้วย ดังนั้นลูกหนี้จึงยังไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ในเฟส 2
ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 68 หรือติดต่อสาขาของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ หรือ BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213
อ่านเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม
เผยดัชนีความจนหลายมิติ(MPI) คนไทย”จน-เสี่ยงจน”เกือบครึ่งประเทศ
เช็กเงื่อนไข”คุณสู้ เราช่วย” มหกรรมแก้หนี้รายย่อย เริ่มลงทะเบียน 12 ธ.ค.
ถอดรหัส แก้หนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืนจากโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”