รัฐบาลมีการผลักดันให้เกิดระบบตั๋วร่วม เพื่อหวังจะลดต้นทุนการเดินทางของประชาชน และสนับสนุนให้เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่า พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) จะเริ่มบังคับใช้ช่วงกลางปี 2568 และออกกฎหมายลำดับรองภายในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเชื่อมต่อ 8 สายทาง ตามที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ได้จริงภายในวันที่ 30 ก.ย. 68
ล่าสุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) หรือเว็บไซต์ law.go.th เป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. จนถึง 2 พ.ค. 68 ซึ่งในร่างกฎหมายนี้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ รฟม.สามารถให้บริการรถไฟฟ้าที่มีความต่อเนื่องกับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะอื่นได้ และยังให้ผู้ใช้บริการของตนเองสามารถใช้ตั๋วร่วมกับผู้บริการขนส่งสาธารณะอื่นได้อีกด้วย
ในการรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. ระบุสาเหตุของการแก้กฎหมาย ว่า พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานของ รฟม. และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากิจการรถไฟฟ้า ซึ่งจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ปรากฏว่ากฎหมายฉบับนี้สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
รายละเอียดสาระสำคัญของสภาพปัญหา
- คำนิยามตามมาตรา 4 “กิจการรถไฟฟ้า” ยังไม่ครอบคลุมภารกิจตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินงาน
- วัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของ รฟม. ในมาตรา 7 และมาตรา 9 มีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจและการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ รฟม. และลดภาระงบประมาณของรัฐ รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมการให้บริการรถไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องกับขนส่งสาธารณะอื่นหรือการใช้ตั๋วร่วม
- การออกข้อบังคับตามมาตรา 18 เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง การจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา และการจ่ายเงินอื่น ๆ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการ รฟม. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน ทำให้ขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการองค์กร
- รายการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อนนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ตามมาตรา 65 ยังไม่ครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ รฟม. ต้องรับภาระและภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล
- วงเงินของกิจการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการตามมาตรา 75 ไม่สอดคล้องกับมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และกิจการที่ไม่ได้กำหนดขอบวงเงินไว้ทำให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบก่อนทุกกรณี ทำให้ขาดความคล่องตัวและเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเสนอตรา ร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพิ่มขีดความสามารถให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าและภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงสามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินและดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้
ขณะที่สาระสำคัญที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขใน ร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ คือ
1. ปรับปรุงมาตรา 4 นิยาม “กิจการรถไฟฟ้า” ให้ครอบคลุมการดำเนินการตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ รฟม.
2. ปรับปรุงมาตรา 7 วัตถุประสงค์ของ รฟม. ให้สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟม. ส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่น และให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถใช้ตั๋วร่วมกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่น
3. ปรับปรุงมาตรา 9 อำนาจกระทำกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพิ่มเติมข้อความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และให้ รฟม. สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สิน และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยตั๋วร่วม
4. ปรับปรุงมาตรา 18 อำนาจออกข้อบังคับของคณะกรรมการ รฟม. ตาม (8) เกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์เพื่อสวัสดิการของพนักงาน ลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และ (13) เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และประเภทบุคคลที่ได้รับยกเว้นค่าโดยสาร โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
5. ยกเลิกวรรคสามของมาตรา 18 เพื่อให้คณะกรรมการ รฟม. มีอำนาจออกข้อบังคับตามมาตรา 18 (6) และ (7) โดยมิต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
6. ปรับปรุงมาตรา 65 กำหนดเพิ่มรายการที่สามารถหักจากรายได้ของ รฟม. ก่อนนำส่งคลัง ให้รวมถึงค่าภาระต่าง ๆ เงินสำรอง เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เงินลงทุน รวมทั้งเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การให้บริการรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องกับบริการขนส่งสาธารณะอื่นและการใช้ตั๋วร่วม
7. ปรับปรุงมาตรา 75 (3) (4) (5) (6) และ (10) เพิ่มวงเงินการกู้ยืมเงิน และการให้เช่าหรือให้สิทธิใด ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มวัตถุประสงค์ในการออกพันธบัตรหรือตราสาร กำหนดวงเงินการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ และแก้ไขจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟม.
ทั้งนี้กระบวนการยกร่างกฎหมายตามปกติ หลังจากหน่วยงานปิดรับฟังความเห็นแล้ว จะต้องรวบรวมความเห็นนำไปปรับปรุงร่างกฎหมาย และส่งเข้าวาระประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบ จากนั้นส่งสํานักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้ความเห็น และเสนอกลับเข้าวาระประชุม ครม. เพื่ออนุมัติ ก่อนส่งเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ที่มา : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal)
อ่านเนื้อหาอื่น