ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ทุกรูปแบบตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนติดลำดับต้น ๆ ของโลกในฐานะที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกรถยนต์นั่งเกินกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งส่วนมากเป็นยานยนต์ประเภทสันดาปภายในเกือบ 100% ทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 400,000 คน ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ปี2546-2566)
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนเริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2558 นับเป็นการส่งสัญญานการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอุตสาหกรรมนี้
ไทยขาดเทคโนโลยีของตัวเอง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า แม้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ในลำดับต้นของโลก แต่ไทยสูญเสียโอกาสที่สำคัญคือ ขาดการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ที่เป็นของคนไทยเอง ยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยล้วนใช้ผลการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแทบทั้งสิ้น
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาด้านการแข่งขันในตลาดยานยนต์ ประกอบกับความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไปสู่การผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอร์รี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งชิ้นส่วนในการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าทั้งคันใช้ชิ้นส่วน เพียง 4,000-5,000 ชิ้นต่อคัน ขณะที่รถยนต์แบบเดิมที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในใช้ชิ้นส่วนมากกว่าถึง 10 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย จึงทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจ้างงานตลอดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์แบบดั้งเดิม
จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปี 2562 จำนวนรถยนต์ในประเทศไทยมีประมาณ 40.47 ล้านคัน และในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 44.76 ล้านคัน แต่การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราถดถอย โดยระหว่างปี 2562 – 2563 มีรถยนต์เพิ่มขึ้น 0.77 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 1.9 ลดลงมาเหลือปีละ 0.58 ล้านคัน หรือเหลือเพียงร้อยละ 1.38
โดยตลอด 5 ปี ระหว่าง ปี 2562-2567 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.12 ในช่วงที่ทำการศึกษา
จากตารางที่ 1 จะเห็นว่าช่วง 2 ปีงบประมาณ 2566 และ 2567 เกิดจำนวนรถยนต์ขยายตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยังเดายากเกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกหลังโควิด-19 ระบาด หรือเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของรถ หรือยานยนต์ในประเทศไทยกันแน่
โดยข้อมูลของกรมขนส่งทางบกเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2562 มีรถจดทะเบียนใหม่ในปี 2562 จำนวน 3.10 ล้านคัน และเมื่อผ่านช่วงระบาดของโควิด-19 ปีงบประมาณ 2566 กลับพบว่าจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ยังไม่ฟื้นตัวเหลือ 3.08 ล้านคัน หรือลดลงเฉลี่ยปีร้อยละ 0.2 โดยจำนวนรถใหม่ที่จดทะเบียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีงบประมาณ 2566 ถึง 2567 ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 13.16 หรือเหลือ 2.67 ล้านคัน
รถ EV เติบโต – สันดาปเริ่มตัน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำไปสู่คำถามที่ว่า ความต้องการที่ลดลงไปเป็นเรื่องของอำนาจซื้อลดลงไปหรือไม่ แล้วจะกระทบต่อ “แรงงาน” ที่ทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จดทะเบียนน้อยลงหรือไม่อย่างไร รวมทั้งผลกระทบจากการที่ยานยนต์ไฟฟ้า เข้ามาทดแทนรถยนต์ประเภทสันดาปภายใน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดรถยนต์ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า รถที่ต้องใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเติบโตไม่ถึงร้อยละ 1 และรถที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซทั้ง LPG และ CNG เติบโตลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์พบว่าการขยายตัวเริ่มถดถอยมาจากการเติบโตถึงร้อยละ 7
ในช่วงปี 2566-2567 การเติบโตของยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 108 ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 99,000คัน ในปี 2566 เป็น 206,000 คัน ในปี 2567
ขณะที่รถยนต์ไฮบริดก็มีการเติบโตที่น่าสนใจเช่นกัน แม้จะมีอัตราการขยายตัวที่น้อยกว่าที่ร้อยละ 34.84 ต่อปี แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 376,000 คันในปี 2566 เป็น 507,000 คันในปี 2567 จากจำนวนรถยนต์รวมทั้งประเทศประมาณ 44 ล้านคัน
การเติบโตอย่างรวดเร็วของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและไฮบริดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ดัดแปลงรถเติมน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า
เมื่อรถยนต์เครื่องสันดาปเริ่มไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดรถยนต์ในปัจจุบันจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ตัวอย่างแนวทางแก้ไข คือ นำรถยนต์สันดาปมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่ใช่รถทุกประเภทที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะสามารถนำมาปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนไม่สูงนักที่จะนำมาใช้ทำรถไฟฟ้าที่ใช้ได้อีก 6-10 ปี โดยไม่ต้องไปซื้อรถไฟฟ้าใหม่ รวมถึงจะต้องมีความปลอดภัย และใช้ประโยชน์ได้อย่างประหยัดรวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งถ้าจะนำรถที่มีอายุน้อยมาปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าก็ดูจะไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นจึงควรหารถที่เหมาะสมปรับเปลี่ยนได้ง่าย และไม่ใช้ต้นทุนสูงจนเกินไปในการปรับเปลี่ยน และยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
แล้วจะหารถประเภทใดมาใช้สำหรับการดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันรถที่เข้าข่ายนำมาใช้ปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเกิน 15 ปี มีประมาณ 14.5 ล้านคันกระจายอยู่ทั่วประเทศ บางส่วนซื้อรถมือสองมาไว้ประดับฐานะของครอบครัวและใช้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่า แต่ถ้าจะนำรถที่มีความหลากหลายเช่นนี้ไปปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าและต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากไม่ใช่รถนั่งบุคคลตามปกติ ก็ควรจะเป็นรถบรรทุกหรือไม่
ในแต่ละปี กรมการขนส่งทางบกประเมินว่าจะมีรถทุกประเภทที่มีอายุเกิน 7 ปี เกือบ 26 ล้านคัน แต่ในปี 2567 มีรถมารับการตรวจสภาพประมาณ 6 ล้านคัน แบ่งเป็นตามกฎหมายยานยนต์ร้อยละ 78 และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกประมาณร้อยละ 22
จึงคาดการณ์ได้ว่ามีรถอายุเกิน 7 ปี ไม่ได้มารับการตรวจสภาพประมาณ 20 ล้านคัน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 44 ของรถยนต์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น และนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตได้ จากการที่สภาพรถมีความบกพร่อง (รถกลุ่มนี้จะไม่สามารถนำไปต่อใบอนุญาตจดทะเบียนออกมาวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย อาจจะรวมไปถึงไม่ได้ต่อประกัน) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น
ข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่ารถยนต์ประมาณ 20 ล้านคันนี้ จะสามารถกลายเป็น “แหล่งจ้างงาน” ให้กับผู้ที่ต้องตกงานจากที่เคยทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป โดยในปี 2566- 2567 มีจำนวนรถยนต์เหล่านี้เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มมากกว่า 2 แสนคันต่อปีจากรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่มากกว่า 1.5 ล้านคัน หรือมากกว่าร้อยละ 13 ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัญหาคือรถยนต์สันดาปภายในมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตยาว ตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 30,000-40,000 ชิ้นต่อรถยนต์ 1 คัน มีคนทำงานอยู่ในการผลิต tier 2 ถึง tier 3 อยู่หลายแสนคน และอยู่ใน tier 1 (หรือการประกอบรถยนต์) อีกหลายหมื่นคน
อีกทั้งยังมีแรงงานนับแสนคนในอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ ให้บริการจำหน่ายและซ่อมบำรุงตลอดอายุใช้งานทั้งที่อยู่ในจุด/ศูนย์จำหน่าย และซ่อมบำรุงไปจนถึงอู่เอกชนรายย่อย (Microenterprises)ที่อยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศอีกนับแสนแห่ง
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้ามีความเสี่ยงทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เริ่มตกงาน เนื่องจากชิ้นส่วน เช่น รถไฟฟ้า เหลือเพียง 3-4 พันชิ้น และส่วนหนึ่งมาจากการผลิตและประกอบด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทำให้ความต้องการจ้างงานในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนลดลงอย่างมหาศาล
เช่นเดียวกับการประกอบตัวรถไฟฟ้าที่ใช้หุ่นยนต์ และสายการผลิตที่สั้นลง นอกจากนี้รถไฟฟ้าจะใช้บริการปลายน้ำในการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนสำคัญ อาทิ แบตเตอรี่ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี ทำให้ทุกอย่างจะถูกทดแทนด้วยรถคันใหม่เกือบทั้งหมด และรถคันเก่าก็จะกลายเป็นขยะ (ซึ่งจะต้องแก้ปัญหากันต่อไป)
สิ่งที่หายไปคือการซ่อมบำรุงหลัง 7 ปี ตามสถิติที่มีรถเก่าอยู่ในการครอบครองของครัวเรือนประมาณ 25 ล้านคันก็จะค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา เพราะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้า อาชีพที่อยู่ในศูนย์บริการและอู่ซ่อมบำรุงรถ (ไฟฟ้า) ไม่จำเป็นต้องมีเพราะแบตเตอรี่หมดอายุกลายเป็นเศษเหล็กและขยะอันตราย แรงงานที่เคยมีอาชีพอิสระอู่เล็กอู่น้อยที่ซ่อมบำรุงยานยนต์สันดาป (ทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์) ก็จะจ้างแรงงานน้อยลงไปอย่างน่าตกใจในอนาคตอันใกล้
ข้อเสนอแนะชะลอคนตกงาน
ข้อเสนอแนะในเบื้องต้น คือชะลอการตกงาน และเพิ่มโอกาสในการจ้างงานแรงงานที่เคยทำงานตามห่วงโซ่อุปทานในสายการผลิตยานยนต์สันดาปได้มากขึ้นดังนี้
1. อาจมีการบังคับใช้กฎหมายให้รถเก่าประมาณ 25 ล้านคัน ที่มีศักยภาพที่จะออกมาวิ่งบนท้องถนนจะต้องได้รับการต่อทะเบียน ซึ่งจะทำให้รถเหล่านี้ต้องถูกบำรุงรักษา ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เนื่องจากรถยนต์สันดาปต้องมีชิ้นส่วนนับหมื่นชิ้นที่มีโอกาสเสีย (ซ่อมศูนย์มีค่าใช้จ่ายที่แพง) ก็จะไปใช้อู่ซ่อมรถยนต์ที่ตอนนี้เริ่มเงียบเหงาให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ร้านค้าอะไหล่เติมของได้อีกนับ 10 ปี และสามารถรองรับช่างซ่อมที่มีประสบการณ์ที่ออกจากงาน (เพราะอายุมาก/หรือถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ก็จะมีโอกาสเป็นเจ้าของอู่ และหรือเป็นลูกจ้างในอู่ซ่อมรถยนต์ได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง)
2. รักษาและชะลอการเปลี่ยนหรือลดการจ้างงานอันเนื่องมาจากการขยายตัวของรถไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ไฮบริดซึ่งยังขยายตัวค่อนข้างดีมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นแหล่งจ้างงานได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
3. การสร้างอาชีพใหม่ เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากโซ่อุปทานของรถไฟฟ้า ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้น โดยมีอายุใช้งานประมาณ 6-7 ปี ดังได้กล่าวมาแล้ว และการจ้างงานรถไฟฟ้าจะใช้แรงงานไม่มาก และมีทักษะสมรรถนะไม่เหมือนเดิม จึงจำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแบบไทย ๆ เข้ามาเสริม เพื่อดูดซับแรงงานที่ตกงานหรือลดการจ้างใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัทนับสิบแห่งที่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบความปลอดภัยมาตรฐานที่สามารถจดทะเบียนเป็นรถที่สามารถขับขี่ได้ในที่สาธารณะ
ต่อไปก็จะสามารถเสนอนโยบายในการยกระดับอู่มาตรฐานให้ยอมรับการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจากรถที่ใช้แล้วอายุเกิน 7 ปี ซึ่งมีจำนวนมากมายให้ปรับเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้าได้ แต่หลายแห่งในโลกนี้จะเน้นไปในลักษณะของการดัดแปลงรถโบราณเพื่อเป็น collection พิเศษ ซึ่งต้นทุนยังแพงมากหลายแสนบาท
ทางออกสำหรับประเทศไทย ควรเริ่มจากรถที่สามารถปรับเปลี่ยน (convert) เป็นรถไฟฟ้าได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และมีประโยชน์ใช้สอยได้มากคือ รถกระบะ รถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีมากกว่า 580,000 คัน หรือเกือบร้อยละ 50 ของรถบรรทุกสะสมทั้งหมด
ถ้าจะดำเนินการกับรถเก่าอายุเกิน 7 ปี คาดว่ามีประมาณร้อยละ 10 ของ 580,000 คัน คือ ใช้แรงงานประมาณ 400,000 คน ถ้าตั้งเป้าหมายไว้เพียง 100,000 คัน ที่จะปรับไปเป็นรถไฟฟ้าในเวลา 3 ปี ก็น่าจะดูดซับแรงงานสายช่างและซ่อมบำรุงได้ถึง 200,000 คน กระจายทำงานอยู่ทั่วประเทศ ช่วยดูดซับแรงงานที่มีทักษะยานยนต์แบบเดิม ๆ ได้มาก
4. กำลังคนที่ต้องการนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการ Up-skill และ Re-skill ของแรงงานที่ต้องออกจากงาน โดยความร่วมมือกับสำนักงานการอาชีวศึกษา ซึ่งมีทั้งวิทยาลัยเทคนิคที่สอนทางด้านกลศาสตร์ (mechanics) และ/หรือ อิเล็กทรอนิกส์ (electronics) มากกว่า 100 แห่งที่เป็นของรัฐ และอีก 40-50 แห่งที่เป็นของเอกชน ยังไม่นับมหาวิทยาลัย อีกหลายสิบแห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศซึ่งมีขีดความสามารถสร้าง “ศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการรถไฟฟ้าดัดแปลง” โดยตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านช่างที่มีความรู้ด้าน อิเล็กทรอนิกส์ และ กลศาสตร์ หรือจะเป็นเมคคาทรอนิกส์ (mechatronics) ก็ได้ให้ครบ 1 ตำบล 1 ช่างรถไฟฟ้าดัดแปลง ก็จะเป็นการกระจายแหล่งจ้างงานไปยังท้องที่ต่างจังหวัดได้อีกมาก
5. ทางรัฐบาลที่กำลังส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ก็จะได้ประโยชน์ในการสนับสนุนให้นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ขยายได้มากขึ้น และจะเร็วขึ้นถ้าได้รับแรงจูงใจทางการเงินจากทางรัฐบาลมาสนับสนุน กิจกรรมดังกล่าวนี้