รัฐบาลไทยเดินหน้านโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายในและช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยลดให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลภาวะ
การดำเนินนโยบายนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งในระยะที่ 1 ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 คือ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ มาตรการ EV3 ที่เป็นการให้เงินอุดหนุน โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิจะต้องจดทะเบียนภายในปี 2566 และต่อมารัฐบาลได้ขยายเวลาออกไป 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2567
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 24 ก.ย. 2567 มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนในมาตรการ EV3 ที่ยังคงค้างจ่าย
ทั้งนี้มาตรการ EV3 จะต้องใช้เงินอุดหนุนรวมทั้งหมด 11,917.34 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้รับงบประมาณแล้ว 6,947.78 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 5,901.19 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามมาตรการ EV3) และต่อมาได้เบิกจ่ายเพิ่มเติมอีก 996.62 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันยังคงเหลือที่ไม่รับได้การจัดสรรรงบประมาณอีก 5,019.53 ล้านบาท
ทางบริษัทรถยนต์ผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 แจ้งต่อกรมสรรพสามิตว่า มีความพร้อมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป และหากสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้แล้วก็จะขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกจำนวน 16,500 คัน วงเงิน 2,475 ล้านบาท จึงทำให้ กระทรวงการคลัง จะต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการ EV3 อีกรวมทั้งสิ้น 7,494.53 ล้านบาท (5,019.53+2,475 ล้านบาท)
สำหรับมาตรการ EV3 เป็นมาตรการที่กำหนดอยู่ในประกาศกรมสรรพสามิต โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิ ดังนี้
รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ หรือ BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับ
- เงินอุดหนุน 70,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง
- เงินอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป
รถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
รถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV
รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค. 2567 รวมได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 จำนวน 90,380 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 11,917.34 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 70,000 บาท จำนวน 1,166 คัน รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท จำนวน 77,499 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท จำนวน 11,715 คัน